xs
xsm
sm
md
lg

“อุดม-วีรวิทย์” นั่ง ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิ - “ครูหยุย” ติงมีชื่อ สนช.ว่าที่ ป.ป.ง. หวั่นสังคมกังขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
สนช. เลือก “อุดม - วีรวิทย์” นั่ง ก.ศป. ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมตั้ง กมธ. สอบประวัติ 9 ว่าที่ ป.ป.ง. ผู้ทรงคุณวุฒิ “วัลลภ” ติงสังคมอาจตั้งคำถามเหตุมีชื่อ สนช. ร่วมด้วย

วันนี้ (21 ม.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีการคัดเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ แทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2557 โดย พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง ในฐานะประธานกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ ได้รายงานว่า เนื่องจาก พล.ท.ดิเรกพล วัฒนะโชติ และ นายจำนง เฉลิมฉัตร กรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) พ้นจากตำแหน่งตามวาระ ซึ่งต้องดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้พิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) จำนวน 4 คน คือ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ สมาชิก สปช. นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ สมาชิก สปช. โดยมีการพิจารณาประชุมลับ ตามคำขอของคณะกรรมาธิการก่อนให้สมาชิกทำการลงคะแนนเลือก ด้วยวิธีการลับ ผลปรากฏว่า ผู้ได้รับการคัดเลือก คือ นายอุดม รัฐอมฤต 140 คะแนน และนายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช 129 คะแนน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เนื่องจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ป.ป.ง. จำนวน 9 คน ครบวาระการดำรงตำแหน่ง จึงจำเป็นต้องแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ป.ป.ง. ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

ทั้งนี้ บุคคลทั้ง 9 ที่ได้รับการเสนอชื่อมาประกอบด้วย 1. นายสมพล เกียรติไพบูลย์ สมาชิก สนช. อดีตประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2. นายอติ ไทยานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 3. พ.ต.อ.ทิวลิป เครือมา อาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ 4. นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม 5. พล.ต.ต.สุเทพ รมยานนท์ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร 6. นายพิทยา จินาวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 7. นายปริญญา หอมเอนก ที่ปรึกษาคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 8. พล.ท.สมร ศรีทันดร อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพบก และ 9. นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด

ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. มีความเห็นว่าหนึ่งในผู้เสนอชื่อ คือ นายสมพล นั้นเป็นสมาชิก สนช. ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะไม่ห้าม แต่จะตอบคำถามของสังคมถึงความเหมาะสมได้อย่างไร ซึ่งนายสุรชัยเห็นว่าควรนำเรื่องนี้ไปหารือในคณะกรรมาธิการ จากนั้น นายสมชาย แสวงการ เลขานุการ วิป สนช. ได้มีการเสนอรายชื่อคณะกรรมาธิการ จำนวน 17 คน และกำหนดเวลาการทำงานภายใน 20 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น