xs
xsm
sm
md
lg

“วิชา” แถลงปิดคดี 2 อดีต ปธ. ชี้ต้องถอดถอนใช้อำนาจมิชอบ หวังปลูกฝังจริยธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชุม สนช.ถอด “นิคม-สมศักดิ์” ป.ป.ช.ชี้ต้องตัดสิทธิการเมือง เหตุ เป็น ปธ.สามารถห้ามญัตติที่ไม่ถูกได้ ฉะรวบรัดลงคะแนน ใช้อำนาจมิชอบเอื้อเสียงข้างมากผิดซ้ำซาก ยกถอดถอนจุดเริ่มปฏิรูป เผยมาในฐานะคนไทย หวังปลูกฝังจริยธรรม “นิคม” แถลงปิดคดีโต้ อ้างแปรญัตติขัดหลักการจึงตัดสิทธิ ยัน รธน.คุ้มครอง ฉะเลือกปฏิบัติลงโทษฐานะ ปธ. ตีมึนอ้างคิดไปเองแก้ กม.เอื้อใคร ตัดพ้อหันหลังการเมือง ก่อนนัดลงมติ 23 ม.ค.



วันนี้ (21 ม.ค.) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธาน เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตสมาชิกวุฒิสภา ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ. 2542

นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงปิดสำนวนว่านายนิคมมีพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมาย ดังนั้น ไม่อาจที่จะยุติการดำเนินการไต่สวนได้ จนกระทั่งส่งเรื่องให้ สนช.ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี การที่นายนิคมในฐานะประธานในที่ประชุมจงใจใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการปิดอภิปรายในการแก้รัฐธรรมนูญหลายครั้งที่มีคนรออภิปรายหลายคน ทั้งที่การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาต้องมีความรอบคอบและมีหน้าที่ต้องควบคุมให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา หากเห็นว่าญัตติที่เสนอไม่ถูกต้อง ย่อมสามารถที่จะใช้ดุลพินิจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้หลายวิธี ดังนั้น ข้ออ้างที่นายนิคมหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างจึงรับฟังไม่ได้

“การตัดสิทธิการอภิปรายหรือไม่ฟังความเห็นเสียงข้างน้อย จึงเป็นการกระทำที่รวบรัดเพื่อให้ลงคะแนนเสียงที่ใช้อำนาจไม่ชอบเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายข้างมาก โดยไม่เป็นธรรม และเป็นการทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังสุภาษิตของอังกฤษที่ว่า “การกระทำความผิดสองครั้งมิได้ทำให้การกระทำผิดครั้งแรกเป็นสิ่งที่ถูกต้อง” ซึ่งถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรม คือต้องใช้กฎหมายและอำนาจไปโดยสุจริต ปราศจาศอคติ ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนและผู้เกี่ยวข้องเข้ามาแอบแฝง จะใช้โดยทุจริต ฉ้อฉล มีผลประผลประโยชน์ทับซ้อน หรือวาระซ้อนเร้นหาได้ไม่ ซึ่งเป็นหลักยุติธรรมตามธรรมชาติ อันเป็นความเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ จึงเป็นหลักที่เหนือกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานต่างๆของรัฐ จะต้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ”

นายวิชากล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วจึงเห็นว่า การกระทำของนายนิคมมีมูลความผิด ฐานส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 270 และมาตรา 272 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 56 มาตรา 58 มาตรา 61 และมาตรา 62

“กระบวนการถอดถอนย่อมเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปฏิรูปประเทศที่สำคัญ และแสดงให้ประชาชนทั้งหลายได้มองเห็นภาพชัดเจนว่าการดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมที่สูงเด่นกว่าบุคคลอื่น จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง จะทำตัวเหมือนคนทั่วไปหาได้ไม่ ดังนั้น หลักสำคัญของการถอดถอนจะสำเร็จหรือไม่อยู่ในมือของ สนช.ทุกคนแล้ว” นายวิชาระบุ

ต่อมานายนิคมแถลงปิดคดีว่า ข้อกล่าวกรณีตัดสิทธิสมาชิกผู้แปรญัตติและผู้สงวนคำแปรญัตติในการอภิปรายนั้น ป.ป.ช.เห็นว่ามีความผิดฐานใช้อำนาจรัฐขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 50 อาจเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งตนขอชี้แจงว่า สมาชิกที่ถูกตัดสิทธิมีจำนวน 57 คน ซึ่งสมาชิกจำนวนดังกล่าวได้ขอแปรญัตติขัดต่อหลักการและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้รับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว โดยสมาชิกขอให้ตัดชื่อร่างออก ซึ่งแปลว่าร่างดังกล่าวจะไม่มีหัวชื่อเรื่อง ถือว่าขอแปรญัตติขัดต่อหลักการ อย่างไรก็ตาม แม้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะลงมติไม่ให้อภิปราย แต่ก็ได้อนุญาตให้สมาชิกได้มีโอกาสอภิปราย

“การแปรญัตติไม่ให้มีชื่อร่างแก้ไข เท่ากับว่าร่างที่แก้ไขหัวกุด ไม่มีชื่อ นึกดูเวลาเรานำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ไม่มีชื่อ นี่คือการลบลู่ ไม่ถือข้อบังคับการประชุม นี่คือสิ่งที่ทำไมเราใช้เวลานานมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องดำเนินการประชุมตามข้อบังคับการประชุมโดยเคร่งครัด” อดีตประธานวุฒิสภากล่าว

นายนิคมกล่าวอีกว่า ข้อกล่าวหาที่ระบุว่าตนไม่ยึดหลักนิติธรรมนั้นไม่จริง และขอยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตนเป็นไปโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญปี 50 และตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา และได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองโดยเด็ดขาดตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 130 วรรค 1 ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวตนในทางใดมิได้ ทั้งนี้ เป็นไปไม่ได้ที่มาตราดังกล่าวจะให้เอกสิทธิ์แก่สมาชิกรัฐสภา แต่ไม่คุ้มครองการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา หรือการทำหน้าที่ของประธานในที่ประชุม การตีความในลักษณะดังกล่าวถือว่าผิดเพี้ยน มาตราดังกล่าวเป็นการให้เอกสิทธิ์ในทุกเรื่อง เพราะได้ใช้คำครอบคลุมในลักษณะที่ว่า ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวมิได้ ส่วนกรณีความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิทางแพ่งของผู้อื่นนั้นเป็นเพียงข้อยกเว้นที่มาตราดังกล่าวไม่คุ้มครอง ดังนั้นการตอบข้อซักถามของ ป.ป.ช.ต่อที่ประชุม สนช. ในประเด็นนี้ จึงไม่เป็นความจริง

“ท่านเลือกครับ จะลงโทษผมในฐานะประธานวุฒิสภา หรือลงโทษนายสมศักดิ์ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฏร โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 และมาตรา 58 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. เพราะในนั้นจะปรากฏชื่อของผู้ถูกถอดถอน ตั้งแต่นายกฯ ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฎีกา ประธานอะไรต่างๆ แต่ไม่มีตำแหน่งประธานวุฒิสภา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำไมท่านจึงไม่ถอดถอนผมออกจากตำแหน่งนี้ แต่ท่านกลับถอดถอนผมในตำแหน่ง ส.ว. บอกผมทำหน้าที่ประธานรัฐสภา แต่พอเอกสิทธิ์คุ้มครอง ท่านบอกไม่คุ้มครอง เพราะท่านบอกว่าผมเป็นประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา จึงไม่คุ้มครอง ถ้าอย่างนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นการตีความกฎหมายจึงต้องตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด” นายนิคมกล่าว

ส่วนข้อกล่าวหาที่ระบุว่าแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองนั้น เป็นการคาดการและจินตนาการล่วงหน้า รัฐธรรมนูญจะแก้ไขได้หรือไม่ ไม่มีใครทราบ เพราะยังมีขั้นตอนการตรากฎหมายอีกหลายกระบวนการ รวมทั้งเงื่อนไขเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้นข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.เป็นข้อกล่าวหาที่คาดเดา เกินกว่าเหตุ

“ผมพร้อมรับในการตัดสินของ สนช. และไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวการเมืองอีกแล้ว 1-2 ปีกว่าๆที่ผ่านมานั้นถือเป็นความทุกข์ยาก ในชีวิตไม่เคยถูกใครด่าว่าและไม่เคยมีใครชี้หน้าด่าว่าเป็นคนเลวทั้งที่ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริง คนจะเลวหรือไม่เลวอยู่ที่การกระทำ หวังว่าสมาชิกสนช.นั้นเป็นผู้มีเกียรติมาจากหน่วยราชการต่างๆ จะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาและให้ความเป็นธรรมกับผม”

ต่อมานายวิชาได้แถลงปิดคดีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยเป็นการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และนายสมศักดิ์ โดยยืนยันถึงอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการดำเนินคดีร้องขอถอดถอนครั้งนี้ เพราะมีพฤติกรรมส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดกฎหมาย พ.ร.บ.ป.ป.ช. ส่อใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายอื่นใน 5 ประเด็น คือ ประเด็นแรกเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 10 มี.ค. 56 ไม่ใช่ร่างของนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.เพื่อไทย และคณะเสนอแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของวุฒิสภา

ทั้งนี้ ร่างนี้ไม่ใช่ญัตติแก้ไขกฎหมายปกติธรรมดา แต่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เฉพาะผู้เสนอญัตติหลักเป็นเจ้าของ ดังนั้น จำเป็นต้องรับทราบล่วงกันแต่นายอุดมเดชกลับให้มีผู้นำร่างแก้ไขปรับปรุงใหม่มายื่นเสนอใหม่โดยไม่ได้ให้ผู้เสนอญัตติร่วมได้เซ็นชื่อใหม่ อีกทั้งหลายคนที่ร่วมเสนอไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งนายสมศักดิ์มีหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องการแก้ไขหากมีข้อบกพร่องให้แจ้งผู้เสนอให้แก้ไขแต่ไม่ทำแสดงถึงความบกพร่องร้ายแรงของประธานรัฐสภา อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ วันที่ 20 พ.ย. 56 ว่าการพิจารณาของรัฐภาไม่ได้นำเอาร่างแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับนายอุดมเดช และ คณะเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้ที่ราษฎรเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 56 มาใช้พิจารณาวาระหนึ่ง ทั้งที่ร่างที่จัดทำขึ้นใหม่มีหลักการแตกต่างจากฉบับที่นายอุดมเดชและเสนอครั้งแรกหลายประการมีผลเท่ากับการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภา รับหลักการ เป็นไปโดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291

ประเด็นที่ 2 ในการกำหนดเวลาอภิปรายยังมีเวลาเหลือและมีผู้ประสงค์อภิปรายเหลืออยู่ แต่นายสมศักดิ์ กลับเรียกลงมติรับหลักการเวลาหนึ่ง ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุม ประเด็นที่ 3 การเสนอวันแปรญัตติที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับข้อ 96 ประเด็นที่ 4 จงใจปิดการอภิปราย และประการสุดท้าย นายสมศักดิ์ ขอให้ที่ประชุม ลงมติ ทั้งที่ยังมีสมาชิกที่ สงวนคำแปรญัตติ กรรมาธิการสงวนความเห็นยังไม่ได้ใช้สิทธิอภิปราย การใช้ดุลพินิจของนายนิคมจึงถือเป็นการลิดรอนสิทธิ ดังนั้น ในฐานะประธานรัฐสภา ถือได้ว่าเป็นการส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. ป.ป.ช.

“การวางหลักจริยธรรมคุณธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น สิ่งไม่อาจลุล่วงแนวทางการปฏิรูปประเทศได้เพราะระบบไต่สวนการพิสูจน์คุณธรรมจริยธรรมยังไม่อาจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น หรือทำให้กระบวนการไต่สวน ถอดถอน เป็นที่ยอมรับของชาติ เป็นหลักเบื้องต้นที่จะดำเนินการปฏิรูปประเทศหรือไม่ ผมได้มาอยู่เบื้องหน้า สนช.ผู้ทรงเกียรติ ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยเป็นกลางไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย กระผมจึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้สร้างสิ่งดีงามในประเทศโดยพื้นฐานปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรม ซึ่งกระผมเชื่อมั่นว่าจะใช้ดุลพินิจเหมาะสมที่สุด” นายวิชากล่าว

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้ชี้แจงว่า ในส่วนของนายสมศักดิ์ ไม่ประสงค์ที่จะขอใช้สิทธิชี้แจงแถลงปิดคดี ดังนั้นจึงเป็นการสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาและนัดลงมติ ในวันที่ 23 ม.ค.

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้พิจารณากระบวนการถอดถอน ส.ว. 38 คน ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ.2542 เพื่อกำหนดวันแถลงของผู้กล่าวหา และ ผู้ถูกกล่าวหา โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ประธานที่ประชุมแจ้งว่า พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะอดีต ส.ว. ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือคัดค้าน สนช. ที่เป็นอดีตส.ว.สรรหา ในปี 51 และปี 54 ร่วมกระบวนการถอดถอน เพราะถือว่ามีส่วนได้เสีย ซึ่งเรื่องนี้ตนได้เคยวินิจฉัยไปแล้ว เมื่อครั้งมีการร้องคัดค้าน 16 สนช. ที่เป็นอดีต ส.ว. ที่ได้ยื่นร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่าการยื่นคำร้องดังกล่าวถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของสมาชิกที่สามารถกระทำได้

ทั้งนี้ สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขว้าง อาทิ นายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวว่า สิ่งที่ พ.ต.ท.จิตต์ ได้ยื่นหนังสือมานั้น มีวาระแอบแฝง เพราะอาจจะเกรงว่า สนช. กลุ่มนี้จะลงมติถอดถอนตนเอง และที่ระบุอย่างชัดเจนนั้น แสดงว่า พ.ต.ท.จิตต์ มีประโยชน์ทับซ้อนชัดเจนว่า จะสามารถกลับมาลงสมัคร ส.ว. ในสมัยถัดไปได้อีกครั้ง ด้านนายพรเพชร วินิจฉัยว่าในหนังสือคัดค้านไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน และไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายที่ห้ามไว้ ดังนั้นสมาชิกสามารถเข้าร่วมประชุมในกระบวนการถอดถอนได้ และได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกำหนดวันแถลงเปิดคดี เป็นวันที่ 25 ก.พ. นี้ โดยสมาชิกสามารถยื่นญัตติซักถามคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ถึงวันที่ 24 ก.พ. และมีมติ ให้เลื่อนการยื่นญัตติซักถามคู่กรณีออกไปเป็น เวลา 12.00 น. วันที่ 27 ก.พ. เพื่อให้สมาชิกได้ฟังคำแถลงเปิดคดีก่อน ตามข้อเสนอของวิป สนช.

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณากรณีที่ พ.ต.ท.จิตต์ ยื่นคำขอเพิ่มเติมพยานเอกสาร จำนวน 2 รายการ คือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เลขที่ 53-58/ 2557และหนังสือแจ้งจากศาลรัฐธรรมนูญ โดยมี พ.ต.ท.จิตต์ และตัวแทนจาก ป.ป.ช. เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ พ.ต.ท.จิตต์ ได้ชี้แจงว่า เอกสารดังกล่าวเป็นคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการร้องถอดถอนสมาชิกรัฐสภา ที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ประกอบด้วย แก้ไขเรื่องที่มา ส.ว. แก้ไขมาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 และแก้ไขมาตรา 190 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีการจำหน่ายสองคดีหลัง โดยให้เหตุผลว่า เป็นการสิ้นสุดรัฐธรรมนูญปี 50 ขณะที่การแก้ไขที่มา ส.ว. ทาง ป.ป.ช.ได้ไต่สวนและชี้มูลเรียบร้อยแล้ว โดยยังมีความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อยหนึ่งคนคือนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ที่เห็นค้านเรื่องถอดถอนมายังวุฒิสภา เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าถูกยกเลิกไปแล้ว

ทางด้านนายวิชัย ที่มาร่วมเป็นตัวแทนฝ่ายผู้ร้อง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มพยาน เพราะไม่มีประโยชน์ต่อการพิจารณาของสนช.และการพิจารณาของ ป.ป.ช. ไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ด้วย แม้ตนจะเป็นเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยกับการส่งเรื่องให้ถอดถอน แต่เมื่อเป็นมติของ ป.ป.ช. ที่จะส่งให้ถอดถอน ตนก็ยอมรับ และ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอน ในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุญาตให้เพิ่มพยานทั้ง 2 รายการ
















กำลังโหลดความคิดเห็น