xs
xsm
sm
md
lg

สนช.คาดถอดถอน “ปู-นิคม-ขุนค้อน” ไม่เกิน 3 ชม. ชี้คดีการเมืองส่อโกงก็ผิด-ปชป.ดัก รอดชี้วัดจริยธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิป สนช.แถลงขั้นตอนถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์-ปู” คาดใช้เวลาไม่เกิน 3 ชม. ไม่หนักใจข่าวล็อบบี้ เผย อดีต 38 ส.ว.ยังไม่แจ้งจะแจงแบบกลุ่มหรือบุคคล ไม่อนุมัติคลิปบริวาร “ปู” แจงผ่านยูทิวบ์มาเปิด โยนฝ่ายมั่นคงติดตามการชุมนุม ชี้คดีการเมืองแค่ส่อว่าทุจริตก็เอาผิดได้ ต่างจากอาญาที่ต้องมีหลักฐาน “อรรถวิชช์” ดัก สนช.ไม่ถอดถอน อ้างไร้ รธน.50 จะชนะทาง กม. ขาดจริยธรรม ทำมาตรฐานการเมืองสุดต่ำ


วันนี้ (20 ม.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิป สนช. แถลงถึงขั้นตอนในการพิจารณาถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าในวันที่ 21 ม.ค.นี้ ได้กำหนดเป็นวันแถลงปิดสำนวนของนายนิคมและนายสมศักดิ์ โดยนายนิคมยืนยันว่าจะมาแถลงปิดสำนวนด้วยตัวเอง ขณะที่นายสมศักดิ์แจ้งว่าจะไม่มา ส่วนในวันที่ 22 ม.ค.ได้กำหนดเป็นวันแถลงปิดสำนวนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และในวันที่ 23 ม.ค.จะเป็นการลงมติทั้ง 2 สำนวน โดยจะเป็นวาระการลงมติถอดถอนนายนิคมกับนายสมศักดิ์ก่อน ซึ่งขั้นตอนในการลงคะแนนจะเป็นการกาบัตรในคูหา ซึ่งจะลงคะแนนไปพร้อมๆ กัน โดยสมาชิกจะได้บัตรลงคะแนน 2 ใบ เพื่อให้ลงคะแนนว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอน หรืองดออกเสียง จากนั้นก็จะตั้งกรรมการนับคะแนนจำนวน 10 คน และเมื่อประกาศผลการลงมติแล้วก็เข้าวาระการลงมติของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นลำดับถัดไป ซึ่งการลงมติของทั้ง 3 สำนวนดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง

ส่วนการพิจารณากำหนดการแถลงเปิดสำนวนของ อดีต ส.ว.38 คน ซึ่งถูกชี้มูลจาก ป.ป.ช. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ในวันที่ 21 ม.ค.จะมีการกำหนดวันในขั้นตอนการพิจารณาถอดถอนต่างๆ รวมทั้งจะมีการพิจารณาอนุญาตให้ยื่นเอกสารหรือพยานบุคคลเพิ่มเติมได้หรือไม่ โดยขณะนี้มีการแจ้งขอเพิ่มพยานบุคคลเข้ามาแล้ว 1 คน สำหรับการแถลงเปิดสำนวนของอดีต ส.ว.38 คนนั้น ยังไม่รับแจ้งเข้ามาจะมีการชี้แจงเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล

นพ.เจตน์ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการล็อบบี้และชี้นำให้ลงมติถอดถอนทั้ง 3 สำนวน ว่า ไม่หนักใจ เพราะ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของสมาชิก ส่วนการชี้แจงผ่านยูทูบของอดีตรัฐมนตรี 5 คนนั้น ก็ไม่สามารถอนุมัติให้นำมาเปิดในวันแถลงปิดสำนวนได้ เนื่องจากเป็นการใช้หลักฐานใหม่ ส่วนข้อกังวลว่าจะมีมวลชนมาชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันลงมติก็ยังไม่ได้มีการพูดกัน เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงที่จะติดตามประเมินสถานการณ์และคงแจ้งให้ประธานสนช.ทราบต่อไป

เมื่อถามว่า กรณีอดีตคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ความเห็นว่า หาก สนช.ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว อัยการไม่สั่งฟ้องหรือสั่งฟ้องแล้ว ศาลชี้ว่าไม่ผิดจะมีผลกระทบตามมาหรือไม่ นพ.เจตน์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะคดีอาญากับคดีทางการเมืองแตกต่างกัน ซึ่งคดีอาญาต้องมีหลักฐานมีทุจริตจริงๆ แต่คดีทางการเมืองแค่ส่อว่ามีก็สามารถดำเนินการได้แล้ว ทั้งนี้ หากผู้ถูกถอดถอนนำเหตุดังกล่าวมาฟ้องร้องภายหลังก็เป็นสิทธิ แต่ถ้าจะฟ้องก็ต้องฟ้องทั้งองค์กรและก็ต้องฟ้องประธานด้วย เพราะเป็นการลงคะแนนลับ ไม่ทราบว่าใครลงคะแนนกันอย่างไร

ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนมีความกังวลและแปลกใจอยู่ว่า สนช.หลายคนยังถามหาข้อกฎหมายว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว จะมีฐานความผิดที่จะทำให้สามารถดำเนินการถอดถอนได้หรือไม่ ซึ่งตนมองว่าเรื่องข้อสงสัยในตัวบทกฎหมายเป็นเรื่องของศาล แต่ในเรื่องกระบวนการถอดถอนนี้เป็นเรื่องของการชี้วัดทางจริยธรรม

“หาก สนช.ลงมติให้บุคคลทั้งสามไม่ถูกถอดถอน โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผล จะเป็นการชนะโดยเทคนิคทางกฎหมายเท่านั้น ซึ่ง สนช.จะต้องเผชิญกับคำถามจากสังคม ถึงระดับมาตรฐานจริยธรรม หากบุคคลทั้งสามไม่ถูกถอดถอน ประเทศไทยเราคงมีทั้ง 3 ท่านนี้เป็นมาตรฐานการเมืองใหม่ที่ต่ำลง ผมคิดว่าความประสงค์ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ประเทศไทยมีนักการเมืองที่มีมาตรฐานจริยธรรมสูงกว่าทั่วไปคงเป็นได้แค่ความฝันเท่านั้น” นายอรรถวิชช์กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น