กมธ.ซักถามคดีถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์” ตั้ง “พล.อ.มารุต” เป็นประธาน ส่วน “พล.อ.สิงห์ศึก” นั่งประธานคดี “ยิ่งลักษณ์” เจอยิงคำถามมากสุด 60 ข้อ แจง จัดกลุ่มคำถาม 3 กลุ่ม ข้อเท็จจริง-กฎหมาย-ความเห็น นอกประเด็นตัดทิ้ง ยันซักถามให้สังคมเข้าใจ ชี้คำถามเป็นความลับ เผยแพร่มีความผิด
วันนี้ (13 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการซักถามคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภาออกจากตำแหน่ง แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ตั้ง พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ สนช.เป็นประธานกรรมาธิการซักถาม จากการเปิดให้ สนช.ได้ยื่นญัตติคำถามในคดีดังกล่าว ปรากฏว่าคดีของนายนิคมได้มีคำถามต่อ ป.ป.ช. 16 คำถาม ถามนายนิคม 17 คำถาม ส่วนคดีนายสมศักดิ์มีคำถามถามต่อ ป.ป.ช. 19 คำถาม และถามนายสมศักดิ์ 9 คำถาม ซึ่งจะมีการจัดกลุ่มคำถามแยกเป็น 3 กลุ่ม 1. ข้อเท็จจริง 2. ข้อกฎหมาย และ 3. ความเห็น โดยการถามจะเรียงลำดับเหตุการณ์ให้สมาชิกเข้าใจในประเด็นคำถามให้กระจ่างชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อสามารถตัดสินใจในการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนได้ นอกจากนี้การซักถามจะต้องทำให้สังคมเกิดความเข้าใจและกระจ่างชัด เนื่องจากสำนวนคดีเป็นเอกสารลับทั้งหมดผู้ที่ไม่ได้อ่านหรือติดตามอาจจะไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตาม หากคู่กรณีไม่มาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง เช่นการแถลงเปิดคดีนายสมศักดิ์ไม่ได้เดินทางมา กรรมาธิการก็จะสรุปว่ามีคำถามประเด็นใดบ้างแต่จะไม่อ่านเนื้อหารายละเอียด ซึ่งผู้ที่ไม่มายังมีโอกาสที่จะรวบรวมคำถามในประเด็นดังกล่าวเพื่อมาแถลงปิดคดีก่อนที่จะลงมติถอดถอนได้
ด้านนายสมชาย แสวงการ โฆษกกรรมาธิการซักถามคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกจากตำแหน่ง แถลงถายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติตั้ง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เป็นประธาน โดยขณะนี้ สนช.ได้ยื่นญัตติซักถาม 13 ราย ซึ่งเป็นคำถามต่อ ป.ป.ช.จำนวน 23 คำถาม และถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ 60 คำถาม ทั้งนี้จะพิจารณาแยกคำถามโดยแบ่งเป็นประเด็นให้ชัดเจนเรียงลำดับเหตุการณ์และจัดกลุ่มคำถาม ส่วนที่อยู่นอกเหนือประเด็น หรือซ้ำก็จะตัดออกไป โดยจะเชิญสมาชิกสนช.ที่ยื่นญัตติมารับฟังว่าเห็นด้วยกับคำถามที่ กมธ.จัดกลุ่มด้วย ซึ่งก็คงจะเหลือไม่มาก ทั้งนี้คำถามทั้งหมดจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมวิป สนช.ให้รับทราบ อย่างไรก็ตามคำถามที่ สนช.ได้ยื่นถือเป็นความลับ ห้ามสมาชิก ข้าราชการ หรือสื่อนำไปเปิดเผย หรือเผยแพร่ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นความผิด
นายสมชายกล่าวว่า ขั้นตอนในการซักถามจะเชิญคู่กรณีเข้ามาในห้องประชุมพร้อมกันจากนั้นก็จะเริ่มซักถามโดยกรรมาธิการจะมอบหมายให้แต่ละท่านรับผิดชอบการซักถามคำถาม โดยจะตั้งคำถามและตอบเรียงข้อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนหมดคำถาม แล้วจะเริ่มต้นกระบวนการซักถามและตอบอีกฝ่ายหนึ่งจนจบคำถามเช่นเดียวกัน ไม่สลับข้ามกันไปมา