สำหรับคอลัมน์ “คลินิกกองทุนรวม” จะมาพบกับท่านผู้อ่านทุกวันเสาร์ ผู้อ่านท่านใดมีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับกองทุนรวม ประกันภัย หรือการลงทุนในรูปแบบอื่น สามารถส่งคำถามเข้ามาได้ที่ mgrfund@gmail.com ทาง “ทีมงาน ASTVผู้จัดการ” จะขออาสาเป็นผู้หาคำตอบมาให้ท่านผู้อ่านอย่างแน่นอน
เริ่มที่คำถามแรกสำหรับสัปดาห์นี้คือ...
คำถาม- ผมซื้อกองทุน RMF ปี 55 จำนวน 288,000 บาท และปี 56 จำนวน 280,000 บาท ผมได้ขายคืนทั้งหมดในเดือนตุลาคม 2557 คำถามว่า ผมต้องคืนอะไรให้สรรพากรบ้างครับ จำนวนเท่าไรครับ ขอบพระคุณอย่างสูงครับ
ตอบ-คุณจะต้องคืนเงินตามที่ได้ลดหย่อนภาษีจากการซื้อกองทุน RMF ทั้ง 2 ปี และถ้าได้กำไรจากการลงทุน จะถูกหัก ณ ที่จ่ายอีก 3% และกำไรต้องเอาไปคำนวณรวมเป็นรายได้ของปีนั้นด้วย หลังจากที่ขายคืนแล้ว ควรจะรีบไปแจ้งสรรพากรเพื่อคืนเงินที่ได้ลดหย่อนทันที หรือ ไม่เกินเดือนมีนาคม ของปีถัดไป หากเกินจากนี้จะถูกเบี้ยปรับอีก 1.5% ต่อเดือน ของยอดเงินที่ต้องคืนภาษีค่ะ
ส่วนคำถามที่ 2 ทีมงานขอหยิบคำถามและคำตอบจากสมาคม บลจ.ที่หลายคนสงสัยมาให้ได้รู้กัน...
คำถาม-ระหว่างลงทุนด้วยตนเองกับลงทุนในกองทุนรวมแตกต่างอย่างไร
ตอบ-การลงทุนผ่านกองทุนรวมมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบกับการลงทุนด้วยตนเอง
ข้อได้เปรียบ
1. มีผู้จัดการกองทุนรวมซึ่งเป็นมืออาชีพที่มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ เป็นผู้บริหารเงินลงทุนให้
2. สามารถลดความเสี่ยงในการลงทุนด้วยการกระจายการลงทุนไปยังทรัพย์สินในหลายๆ อย่าง
3. ให้โอกาสแก่ผู้ลงทุนที่จะสามารถลงทุนในทรัพย์สินที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากหรือทรัพย์สินที่มีข้อจำกัดซึ่งผู้ลงทุนทั่วไปไม่สามารถลงทุนได้ด้วยตนเอง
4. ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการลงทุนในด้านต่างๆ เช่น ในเรื่องของการติดตามสิทธิและผลประโยชน์จากการลงทุน (เงินปันผลหรือลูกหุ้นตามสิทธิ)
5. โดยส่วนใหญ่แล้วการลงทุนผ่านกองทุนรวมจะทำให้ผู้ลงทุนมีสภาพคล่องที่มากกว่าการลงทุนด้วยตนเอง
6. ผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง เนื่องจากผลประโยชน์ต่างๆ ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุนไม่ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ (ยกเว้นกรณีการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนตามที่กรมสรรพากรกำหนด)
ข้อเสียเปรียบ
1. การติดต่อซื้อขายหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการโดยตรงหรือผ่านตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของบริษัทจัดการ อาจจะมีความยุ่งยากและไม่รวดเร็วเท่ากับการลงทุนด้วยตนเอง
2. ไม่สามารถบริหารความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากกองทุนรวมมีกฎเกณฑ์บังคับตามกฎหมายในเรื่องการถือครองทรัพย์สินใกล้เคียงเงินสด ที่ทำให้กองทุนรวมไม่สามารถลดความเสี่ยงในการลงทุน ด้วยการขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินเสี่ยงที่ลงทุนไว้ทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นเงินสดหรือทรัพย์สินใกล้เคียงเงินสดได้ ดังเช่นการลงทุนด้วยตนเอง
3. การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวมจะดำเนินการไปตามกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจทำให้การรับรู้ข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวมของผู้ลงทุนมีความล่าช้า ดังนั้น การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินผ่านกองทุนรวมให้มีความเหมาะสมกับผู้ลงทุนจึงอาจไม่คล่องตัวและไม่รวดเร็วเท่ากับการลงทุนด้วยตนเอง