xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้เด็กโอดเรียนหนักสุดในโลก แต่ใช้จริงไม่ได้ แถมต้องเรียนพิเศษ จี้ปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลโพลชี้เด็กไทยเกินครึ่งขอปฏิรูปการศึกษา ระบุโอกาสและมาตรฐานไม่เท่าเทียม เรียนหนักมากที่สุดในโลกแต่เอาไปใช้ประยุกต์ในชีวิตประจำวันไม่ได้ ต้องเรียนพิเศษเพื่อใช้ในการสอบ อึ้ง! ความสุขในการเรียนได้แค่ 5.78 คะแนนจากเต็ม 10

วันนี้ (23 เม.ย.) ที่อาคารไอบีเอ็ม สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิพัฒนาไท แถลงข่าว “เด็กและเยาวชนอยากเปลี่ยนแปลงอะไรจากระบบการศึกษาไทย” โดย ดร.ปรีชา เมธาวัสภาคย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า จากการสำรวจเด็กและเยาวชนไทยอยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงจากการศึกษาไทย โดยสำรวจเด็กและเยาวชนอายุ 14-18 ปี ในพื้นที่ 17 จังหวัด จำนวน 4,255 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-15 เม.ย. พบว่า ร้อยละ 58.9 เห็นว่า โอกาสและมาตรฐานทางการศึกษาของไทยไม่เท่าเทียม ร้อยละ 58.7 เห็นว่า เด็กไทยเรียนหนักมากที่สุดในโลก แต่ไม่สามารถนำเอาความรู้ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

ดร.ปรีชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ร้อยละ 56.7 ยังเห็นว่า การแนะแนวการศึกษาไทยยังไม่ทั่วถึง ร้อยละ 54.8 ระบุเด็กไทยไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน และร้อยละ 53.1 ระบุการเรียนการสอนเป็นแบบที่เริ่มต้นจากความรู้ในหนังสือและจบลงที่ข้อสอบตามลำดับ คำถามลำดับแรกที่เด็กอยากจะถามครูมากที่สุด ร้อยละ 25 เป็นคำถามเกี่ยวกับวิธีการสอนของครู เช่น “ทำไมครูไม่หาวิธีการสอนที่สนุกและไม่น่าเบื่อ? ทำไมเวลาสอนต้องอ่านตามหนังสือ? ครูมาสอนหนังสือหรือมาอ่านหนังสือให้นักเรียนฟัง? และทำไมสอนในห้องเรียนไม่รู้เรื่องแต่สอนพิเศษรู้เรื่อง? นอกจากนี้ ร้อยละ 21.2 เป็นคำถามเกี่ยวกับการสั่งการบ้าน/สั่งงาน ร้อยละ 14.7 คำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของครู

ดร.ปรีชา กล่าวด้วยว่า เด็กเยาวชนมากกว่า 2 ใน 3 อยากให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนของระบบการศึกษาในปัจจุบัน เพราะหลักสูตรการสอนเน้นเนื้อหาทฤษฎีมากกว่าการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งพบว่าเด็กต้องเรียนหนักวันละ 7-8 คาบ ในขณะที่ความรู้ที่ใช้สอบกลับได้มาจากการเรียนพิเศษ โดยร้อยละ 65.1 ให้ความเห็นว่าการเรียนพิเศษเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตการเรียนทุกวันนี้ เนื่องจากทำให้เข้าใจเนื้อหายิ่งขึ้น ได้ความรู้เพิ่มเติมจากที่โรงเรียนไม่ได้สอน ส่งผลให้เมื่อพิจารณาความสุขต่อรูปแบบการเรียนการสอนตามระบบการศึกษาในปัจจุบันพบว่า มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 5.78 จากคะแนนเต็ม 10

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลสำรวจที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงข้อเท็จจริงทางการศึกษาไทยที่เด็กถูกกระทำจากระบบการศึกษา โดย 70-80% สะท้อนความคิดว่าทนไม่ได้และเป็นความทุกข์จากระบบการศึกษาที่ไม่ยุติธรรม ไม่เหมาะกับชีวิตจริงของเขา เป็นความรู้สึกที่แสดงตัวตนของระบบการศึกษาที่เด็กไม่มีทางเลือก และต้องต่อสู้กันเองบนระบบการศึกษาแบบลู่เดียว ดังนั้น สิ่งที่เด็กระเบิดความรู้สึกออกมาครั้งนี้น่าจะทำให้ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษากลับมามีสติ คิดทบทวนปฏิรูปการศึกษาใหม่ โดยคืนโอกาสให้กับเด็ก เปลี่ยนจากระบบผู้ใหญ่เป็นศูนย์กลางเป็นเด็กเป็นศูนย์กลาง โดยให้เด็กได้เรียนรู้ เข้าใจตนเอง ประกอบอาชีพได้ มีความสุขในสิ่งที่เขาเรียนรู้ มีคนเข้าใจในสิ่งที่เขาใฝ่ฝัน จึงไม่ควรปิดกั้นความหลากหลาย

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการ สสค. คนที่ 2 กล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็กและเยาวชนยุคปัจจุบันคือ เด็กเยาวชนจะมีสมาธิสนใจในเนื้อหาไม่เกิน 25 นาที หลังจากนั้นสมาธิจะหมดลง การสอนของครูยุคใหม่จึงต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอน ถึงอวสานแล้วกับการสอนแบบบรรยายและบอกจด ครูจึงต้องเรียนรู้ว่าลูกศิษย์เปลี่ยนไปโดยเอาความน่าเบื่อหน่ายออกไป เช่น การนำเทคโนโลยีในการสื่อสาร อย่าง ไลน์ เฟซบุ๊ก เป็นเครื่องมือช่วยสอน ส่วนการเรียนพิเศษมองว่ายังเป็นค่านิยมในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ หรือแม้แต่อินเดียที่เด็กนิยมกวดวิชา นั่นเป็นเพราะตราบใดที่เรายังไม่เปลี่ยนระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยและการเรียนเพื่อสอบก็ไม่สามารถแก้ระบบกวดวิชาได้ ซึ่งการศึกษาแถบตะวันตกจะมีแนวคิดให้เยาวชนออกไปทำงานก่อนแล้วกลับเข้ามาเรียน แต่ในระบบการศึกษาไทยหากออกจากระบบไปแล้วโอกาสกลับเข้ามาอีกครั้งถือเป็นเรื่องยาก

“ถึงเวลาที่ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาต้องไปให้ถึงห้องเรียนเพื่อส่งผลต่อเด็กและเยาวชนโดยตรง ทั้งรูปแบบการสอนของครูยุคใหม่ ระบบการวัดผล การแนะแนวที่เปลี่ยนจากแนะแนวการศึกษาเป็นแนะแนวอาชีพ การผลิตบุคลากรที่สอดรับกับความต้องการของตลาดงาน ซึ่งในวันที่ 6-8 พ.ค. สสค. ร่วมกับองค์กรเครือข่ายจะจัดเวทีวิชาการอภิวัฒน์การเรียนรู้ ... สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย ที่อิมแพคเมืองทองธานี ซึ่งจะมีการนำเสนอคานงัดสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งได้จากการสังเคราะห์มาตรการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ประสบผลสำเร็จในต่างประเทศ ภายใน 6-10 ปี และปรับให้เข้ากับบริบทในสังคมไทย และยังเป็นเวทีของคนทำงานมารวมพลังกันที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบการศึกษา โดยมีความเชื่อมั่นว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการลงมือทำร่วมกัน ไม่ผลักภาระให้ใครคนใดคนหนึ่ง” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น