xs
xsm
sm
md
lg

เสวนาปฏิรูป สตช. สนช.-สปช.จี้กู้ความเชื่อมั่นคุณธรรม ปลอดการเมือง เชื่อปรับแล้วดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
กมธ.กฎหมาย สนช.จัดเสวนาปฏิรูป สตช. “พรเพชร” ชี้การเมืองตัวดีแทรกแซงตั้ง ตร. “วัชรพล” รับมีปัญหาความเชื่อมั่นระบบคุณธรรม “เสรี” แนะปฏิรูปวางธงให้ชัด เผย ตร.ถูกครหาความโปร่งใส ปรับโครงสร้างต้องอิง ปชช.เป็นหลัก “วันชัย” จี้ทำองค์กรให้อิสระ ย้ายเป็นธรรม เชื่อปรับเปลี่ยนดีขึ้น ไม่ทำลาย ผบ.สนง.กม.สตช. บ่น ตร.ตกเป็นจำเลย แต่มองปรารถนาดี รับจุดอ่อนอยู่ที่งานแยะ ย้อนท้ายสุดต้องแก้ กม.


วันนี้ (13 ม.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดเสวนาในหัวข้อ “การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” โดยมีวิทยากรร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ รองประธาน กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะ กมธ.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. พร้อมทั้งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ผู้แทนจากหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมสัมมนา

โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่า การจัดเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนำเสนอข้อเท็จจริง รวมถึงสภาพปัญหาการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกำหนดแนวทางในการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ที่ผ่านมาโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังเป็นแบบดั้งเดิม เน้นสายบังคับบัญชา และอำนาจหน้าที่การควบคุมบังคับบัญชา รวมถึงการกระจายอำนาจการบริหารงาน และปัญหาการแต่งตั้งตำรวจในระดับต่างๆ ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองโดยตลอดทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ หวังว่าการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นส่วนต่างในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปสำนักงานงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปตำรวจเป็นความคาดหวังของประชาชน ตนในฐานะอดีตข้าราชการตำรวจก็คาดหวัง และตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน ประเด็นการปฏิรูปตำรวจถือเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ แม้ว่าที่ผ่านมาตำรวจจะมีประเด็นทางสังคมอยู่บ้าง แต่ตนเชื่อว่าคนที่เข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจก็อยากเป็นตำรวจที่ดี มีจิตวิญญาณมุ่งมั่นรับใช้สังคม และเชื่อมั่นว่าตำรวจเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ปัญหาของตำรวจไทยคือเรื่องความเชื่อมั่นในระบบคุณธรรม ว่าถ้าทำงานอย่างเต็มที่แล้วจะได้รับการตอบแทนที่เหมาะสมอย่างไร ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้ข้าราชการตำรวจจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง รวมถึงความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งรัฐต้องลงทุน

ด้านนายเสรีกล่าวว่า ประเด็นการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่การปฏิรูปตำรวจอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด เป็นความคาดหวังของประชาชนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสนช.ด้วย ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรให้องค์กรตำรวจดีขึ้น ต้องถามก่อนว่าตำรวจอยากปฏิรูปอะไร เราต้องหาคำตอบร่วมกัน ประเด็นสำคัญที่มีการเรียกร้องคือ การกระจายอำนาจที่ต้องมีความชัดเจน รวมถึงการสร้างมาตรฐานเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายว่าจะทำได้อย่างไร นอกจากนี้ องค์กรตำรวจยังถูกครหามาก โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส และการมีส่วนเกี่ยวข้องกับอบายมุข และผลประโยชน์อยากไปอยู่โรงพักเกรดเอที่มีแหล่งอบายมุข และผลประโยชน์ แสดงให้เห็นถึงปัญหาด้านภาพลักษณ์

นายเสรีกล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาทางกฎหมายที่กระทบต่อโครงสร้างตำรวจ คือ พ.ร.บ.ตำรวจ ที่ต้องมีการพิจารณาปัญหาทั้งองค์กร บุคลากร อำนาจหน้าที่ และผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ดังนั้นการจะทำหรือสร้างโครงสร้างองค์กรตำรวจอย่างไรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะตำรวจกับประชาชนนั้นแยกจากกันไม่ได้ รวมถึงการถ่ายโอนภารกิจเพื่อลดภาระของตำรวจ ซึ่งจำเป็นต้องมีการทำโดยเร็วที่สุด เพื่อทำให้ภารกิจในการทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ด้าน พล.ต.ท.ปัญญากล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ตำรวจมักเป็นจำเลยหลักของสังคมที่จะถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วย แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องฟังจากทุกส่วน วันนี้กระแสจากภายนอกตำรวจเหมือนถูกรุมให้มีการปรับเปลี่ยนบ้านทั้งหลัง แต่หากเปิดใจรับฟังจะเห็นว่าเป็นความปรารถนาดี แต่ทั้งหมดต้องไปดูพื้นฐานของปัญหา เพราะคนนอกองค์กรกับคนในองค์กรมองคนละแบบ อย่างแรกที่ทุกฝ่ายต้องทำคือการปรับทัศนคติ ซึ่งต้องเปิดใจกว้าง เท่าที่ฟังมาปัญหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประเด็นที่ตัวบุคคล บทบาทอำนาจหน้าที่ และระบบ ซึ่งสิ่งที่สังคมเรียกร้องคือการกระจายภารกิจของตำรวจ ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2541 เคยมีการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่ โดยจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ กระจายอำนาจบริหารไปยังพื้นที่ต่างๆ และถ่ายโอนภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล เพราะจุดอ่อนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือภารกิจเยอะมาก และซ้ำซ้อนกันเองในหน่วยงาน ที่สำคัญตนเห็นว่าปัญหาของตำรวจไม่ได้องค์กรรวม แต่อยู่ที่ปัจเจก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปรียบเหมือนเชือกเส้นใหญ่ บางเส้นอาจจะลุ่ยออกมา แต่เชือกส่วนใหญ่ยังใช้ได้อยู่ และไม่ว่าสนช.และสปช.จะคิดอย่างไรต่อการปฏิรูปตำรวจ สุดท้ายก็ต้องไปแก้ไขที่กฎหมาย

ขณะที่นายวันชัยกล่าวว่า สิ่งที่ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พูดคุยกันสรุปว่าหลายองค์กรต้องเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ เช่น ศาล อัยการ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีกว่าเดิม ปัญหาต้องได้รับการแก้ไข ตำรวจก็เช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ถูกแทรกแซงทางการเมือง จึงต้องทำให้องค์กรนี้มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ การแต่งตั้งโยกย้ายต้องเป็นธรรม ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง นอกจากนี้ ต้องมีการกระจายอำนาจ ภาคประชาชนจะต้องมีส่วนสำคัญในการเข้ามาดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ การแต่งตั้ง ถอดถอน และคงไม่เหมือนคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงต้องมีการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนสอบสวนคดีไปยังหน่วยงานที่เหมาะสมตามที่กฎหมายบัญญัติ อะไรเป็นงานที่ไม่ตรงภารกิจต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดเป็นกรอบใหญ่ๆที่คุยกันในกรรมาธิการ แต่คงไม่ได้ปรับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งเชื่อว่าปรับแล้วจะต้องดี ทั้งนี้ยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนไม่ได้ต้องการทำร้ายหรือทำลายองค์กร แต่ทำเพื่อองค์กรตำรวจและประชาชน เป็นการทำเพื่อส่วนรวม


กำลังโหลดความคิดเห็น