นายกรัฐมนตรี เชิญตัวแทนองค์กรภาคเอกชน 25 ราย ประชุมบ้านพักรับรองเกษะโกมล หารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจ และธุรกิจต่างๆ รวมทั้งรับฟังผลไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีของสหภาพยุโรป คาดเสนอรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และชลอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
วันนี้ (12 ม.ค.) ที่บ้านพักรับรองเกษะโกมล ถนนเศรษฐศิริ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เชิญตัวแทนองค์กรภาคเอกชนประมาณ 25 ราย เช่น ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุน สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เป็นต้น หารือร่วมกัน
โดยคาดว่าจะหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจ และธุรกิจต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะการดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออก และราคาสินค้า เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงรับฟังผลกระทบกรณีกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ตัดสิทธิพิเศษด้านภาษีสินค้าทุกรายการ หรือจีเอสพี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันจะมีการเสนอให้รัฐบาลกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอขณะนี้ ด้วยการให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะงบที่ค้างท่อ งบซ่อมบำรุง และงบก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ และรัฐบาลจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงให้ชลอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากเดิมร้อยละ 7 ที่เพิ่มเป็นร้อยละ 8-10 ขณะที่รัฐบาลจะขอให้ภาคธุรกิจปรับลดราคาสินค้า เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลก และในประเทศปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ทันทีที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง ทหารก็ได้ปิดประตูรั้วทันที โดย พล.อ.ประยุทธ์เพียงแต่ยกมือเพื่อทักทาย ซึ่งบรรยากาศการหารือเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยเป็นการนั่งในลักษณะวงกลม โดยก่อนหารือนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนมอบแจกันดอกไม้เพื่ออวยพรเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่
** เอกชนปลอบรัฐอย่าตกใจ ศก.ทรุด
ภายหลังการหารือที่ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้ตัวแทนภาคเอกชนร่วมกันแถลงต่อสื่อมวลชน โดย นายอิสระ เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจได้ขอรัฐบาลอย่ากังวลกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงนี้ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งภาคธุรกิจจะร่วมขับเคลื่อนกับรัฐบาล สิ่งที่ขอรัฐบาลไปคือเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการของภาครัฐที่ยังค้างอยู่ คิดว่ารัฐบาลก็เริ่มทำมานานแล้ว เช่น เงินช่วยเหลือชาวนาที่รัฐบาลเริ่มจ่ายไปแล้ว แต่ยังมีอีกหลายส่วน อย่างเรื่องงบการบริการจัดการน้ำยังไม่ได้มีการดำเนินการ เช่น การขุดลอกหนองคลองบึงยังช้าอยู่ รวมถึงการช่วยเหลือชาวสวนยางพาราด้วย และการจัดโซนนิ่งเกษตรกรให้มีอาชีพเสริมให้มีรายได้มากขึ้น จริงๆหลายส่วนมีการขับเคลื่อนอยู่แล้ว พร้อมสนับสนุนนโยบายการตั้งคณะทำงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ภาคเอกชนหลายส่วนเห็นว่าสำคัญมาก ที่ประเทศไทยต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น
** “บิ๊กเดอะมอลล์” หนุนอัยการศึกฯ
ขณะที่ นางศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงการคงกฎอัยการศึก ซึ่งมีความกังวลว่าเป็นการทำลายภาคธุรกิจว่า เรื่องนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องใหญ่ อย่างไรก็ตามเมื่อปีที่ผ่านมา เฉพาะในส่วนของห้างสรรพสินค้าพารากอนโตขึ้น 25% หรือการจองตั๋วเครื่องบินไป จ.ภูเก็ต หรือเกาะสมุยก็ทำได้ยาก เพราะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจำนวนมาก จึงสะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัยจากการที่ทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ ผู้ประกอบการก็รู้สึกปลอดภัย แต่สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะรู้สึกไม่ปลอดภัยคือ กังวลว่าจะมีการตีกันอีกหรือไม่มากกว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงเรื่องกฎอัยการศึก แต่นักท่องเที่ยวมาเป็นกรุ๊ปทัวร์เป็นอีกประเภทหนึ่ง ตนได้ไปดูงานที่ต่างประเทศก็มีนักลงทุนต่างระดับโลกอย่างเจ้าของแบรนด์คริสเตียนดิออร์ก็บอกว่า เขาไม่ได้กลัวเรื่องกฎอัยการศึก
“วันนี้เราอยู่ราชประสงค์ไม่ต้องกลัวว่า ใครจะมาเดินปิดถนน เรานอนหลับฝันดี เมื่อก่อนเรากลัวกันว่า ใครจะมาปิด ใครจะมาชุมนุม วันนี้เราไม่กลัว เรารู้สึกหน้าตาสดใสขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว” นางศุภลักษณ์ ระบุ
** นักธุรกิจไม่ต้องห่วงการเมือง
จากนั้น พล.ต.สรรเสริญ แก้วกําเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า สาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มาแถลงด้วยตัวเอง เป็นเพราะต้องการให้สื่อมวลชนเข้าใจการภาคเอกชน ซึ่งหากเป็นภาครัฐให้ข้อมูล ก็อาจจะเกิดข้อสงสัยว่าสิ่งที่พูดมานั้นจริงหรือไม่ หลายเป็นเรื่องมโนไปเอง จึงให้ภาคธุรกิจพูดถึงข้อเสนอและสิ่งที่รับฟังจากนายกฯ ในการพูดคุยวันนี้ภาคธุรกิจได้เสนอหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนแล้ว มีเพียงบางอย่างที่ต้องปรับเพิ่ม เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ แม้เงินจะลงไปทั้งหมดแล้ว แต่อาจติดค้างในระดับจังหวัด หรือหน่วยภาคปฏิบัติ เพราะมีบางส่วนวิตกในเรื่องการทุจริต ทั้งนี้นายกฯได้ขอให้ภาคธุรกิจช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นกับภาคธุรกิจด้วยกันเอง เพราะดีกว่าจะให้รัฐบาลเป็นผู้พูด
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ทุกคนเป็นห่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลก็ทำดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ในขณะนี้ นอกจากนี้นายกฯยังได้ฝากกับภาคธุรกิจด้วยว่าอย่าคิดหรือกังวลในเรื่องของการเมือง อยากให้มองในเรื่องอื่นๆด้วย เพราะเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ แม้การเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่อยากให้มองแต่กรณีการถอดถอน การสร้างความปรองดอง ต้องการให้ไปดูในเนื้อหาสาระว่า แต่ละส่วนมีการเสนอข้อมูลอย่างไร
** โวเอกชนยันท่องเที่ยวดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในระหว่างการหารือภาคธุรกิจมีความเป็นห่วงบรรยากาศทางการเมืองอย่างไรบ้าง พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ภาคธุรกิจมั่นใจว่าหลังจากภาคการดูแลความสงบเรียบร้อย มีทิศทางที่ชัดเจนว่ามีความสงบ ก็ทำให้เกิดความมั่นใจไปได้มากพอสมควร ส่วนการปฏิรูปการเมือง นายกฯได้เน้นย้ำว่าการปฏิรูปในทุกๆเรื่องของแม่น้ำทั้ง 5 สาย ทุกอย่างได้เดินไปตามโรดแมป ซึ่งนายกฯยืนยันว่าไม่ได้ต้องการที่จะเอนเอียงไปด้านหนึ่งด้านใด แต่ต้องการทำความจริงให้เป็นความจริง ขอให้มีความมั่นใจ
เมื่อถามว่าภาคธุรกิจได้ขอให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่ได้พูดถึงเรื่องดังกล่าว แต่กลับมองไปในทิศทางตรงกันข้าม อย่างกลุ่มท่องเที่ยวระบุว่า การขยายตัวของห้างสรรพสินค้าที่มีกลุ่มนักช้อปปิ้งที่มีวงเงินสูง มีการเติบโตค่อนข้างมาก และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทั้ง กทม.และต่างจังหวัดหรือเมืองสำคัญๆรู้สึกสบายใจว่า มีความปลอดภัยเกิดขึ้นไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ความปลอดภัยถือเป็นตัวชี้นำว่าการท่องเที่ยวจะดีขึ้น ไม่ใช่เรื่องของข้อกฎหมายหรือกฎอัยการศึก
“สิ่งที่นายกฯเป็นห่วงมากที่สุดคือการสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยผ่านทางกลุ่มนักธุรกิจว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ตรงกับสิ่งที่รัฐบาลทำหรือไม่ ซึ่งมุมมองในภาพรวมทุกฝ่ายมีความมั่นใจ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ส่วนทิศทางทางการเมืองจากนี้ไปจะดีขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกๆฝ่าย การมีเสถียรภาพต้องร่วมมือกันทั้งรัฐบาล ภาคธุรกิจและประชาชน” พล.ต.สรรเสริญ ระบุ
** สั่งล้างท่อเบิกจ่ายงบรัฐ
ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า นายกฯ รับปากกับภาคธุรกิจว่า จะดูแลในทุกเรื่อง และมีการสั่งการโดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงไป ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ที่จะต้องกำชับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง และได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในส่วนของคณะกรรมการการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ระดับจังหวัด ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ดูแลในเรื่องนี้ นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้รับปากที่จะดูแลในเรื่องของการดูแลพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติอยู่แล้ว