ASTVผู้จัดการ - สังคมออนไลน์รณรงค์ยกเลิกบริจาคเงินแก่ “ยูเอ็นเอชซีอาร์” ประเทศไทย หลังยูเอ็นเอชซีอาร์กัมพูชาให้สถานะ “ตั้ง อาชีวะ” ผู้ต้องหาหลบหนีคดีหมิ่นเบื้องสูงเป็นผู้ลี้ภัย ก่อนรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้วีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวรตามโควตา ด้านอีกฝ่ายชี้แจงเงินบริจาคทั้งหมดช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเท่านั้น หลังแต่ละปีได้รับเงินจากรัฐบาลไทย 6.5 แสน พร้อมเปิดบูทรับบริจาคผ่านบัตรเครดิต 2.4 หมื่นคน
วันนี้ (10 ม.ค.) จากกรณีที่นายเอกภพ เหลือรา หรือ “ตั้ง อาชีวะ” ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการขึ้นเวทีปราศรัยจาบจ้วง กล่าวอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันเบื้องสูง บนเวทีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในนามแกนนำกลุ่มนักศึกษาอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อปี 2556 ได้โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการมีชีวิตที่สุขสบาย พร้อมแสดงหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ของประเทศนิวซีแลนด์ ยืนยันว่าตนและแฟนสาวได้เป็นพลเมืองของนิวซีแลนด์โดยสมบูรณ์แล้ว กระทั่งมีการตั้งคำถามไปยังรัฐบาลนิวซีแลนด์ถึงการได้มาซึ่งหนังสือเดินทางของนายเอกภพและแฟนสาว
รายงานข่าวแจ้งว่า นายเอกภพได้เดินทางเข้ามาพำนักอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ในฐานะผู้ลี้ภัย (Refugee) ตั้งแต่ปีก่อน เนื่องจากทางสำนักงานใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ (UNHCR) สำนักงานกัมพูชา ในกรุงพนมเปญ ได้เป็นหน่วยงานที่ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่นายเอกภพ เมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากที่เขาได้ลักลอบหลบหนีคดีอาญาออกจากประเทศไทย เข้าไปในประเทศกัมพูชา ซึ่งบุคคลที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากยูเอ็นเอชซีอาร์นั้น สามารถเข้ามาพำนักในนิวซีแลนด์ได้ภายใต้ระบบโควตาผู้ลี้ภัย ซึ่งข้อตกลงระหว่างสหประชาชาติกับรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่สหประชาชาติมีโควตาไปอาศัยในประเทศนิวซีแลนด์ได้ปีละ 750 คน
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นอีกด้านหนึ่งว่า หนังสือเดินทางที่นายเอกภพได้รับ เป็นเพียงแค่วีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวรในนิวซีแลนด์ (Permanent Resident Visa) ไม่ใช่เป็นพลเมือง (Citizenship) นิวซีแลนด์โดยตรง ซึ่งตามกฏจะต้องมีเงื่อนไขว่าต้องถือวีซ่านี้และอาศัยในประเทศนิวซีแลนด์อย่างต่ำ 5 ปี ถึงจะยื่นขอเป็นพลเมืองและขอหนังสือเดินทางของประเทศนิวซีแลนด์ได้ ซึ่งหมายความว่าช่วงเวลานี้ หากถูกส่งตัวกลับหรือยกเลิกก็ถือว่าวีซ่าดังกล่าวเป็นโมฆะ
เฟซบุ๊กเพจชื่อ “ล้านชื่อต้านล้างผิด” ที่เคยเคลื่อนไหวในการชุมนุมต่อต้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ และการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้โพสต์ข้อความของผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า “Jhumpot Soleil” ระบุว่า เพื่อนของตนที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า Saijai เขียนไปถามถึงสาเหตุที่อนุญาตให้นายเอกภพได้สถานะผู้ลี้ภัย หลังจากนั้นทางยูเอ็นเอชซีอาร์ก็ตอบกลับมา เพื่อนจึงขอยกเลิกการบริจาคอีกครั้ง ชั่วโมงถัดมา เจ้าหน้าที่ไทยของยูเอ็นเอชซีอาร์โทรศัพท์กลับมา สอบถามสาเหตุที่ขอยกเลิกการบริจาค
คำชี้แจงของยูเอ็นเอชซีอาร์ประเทศไทยระบุว่า การรับรองสถานะผู้ลี้ภัยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการขอลี้ภัยและพิจารณารับรองสถานะผู้ลี้ภัยของบุคคลนั้นๆ ขอยืนยันอีกครั้งว่าเงินบริจาคทั้งหมด ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ ผู้หญิงที่ถูกกระทำจากสงคราม ผู้พิการจากความรุนแรง และผู้สูงอายุที่พลัดพรากจากครอบครัวในประเทศไทยเท่านั้น และขออนุญาตพิจารณาการบริจาคอีกครั้ง งบประมาณทั้งหมดในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทยดำเนินการได้ด้วยเงินบริจาคพวกเขาไม่มีแม้แต่ประเทศตนเอง และต้องอยู่ในค่ายมานานกว่า 30 ปี
“การบริจาคช่วยให้พวกเขาได้รับการช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นโครงการขาเทียมแขนเทียม โครงการห้องเรียนพิเศษของเด็กพิการ โครงการช่วยเหลือหญิงที่ถูกกระทำ หรือโครงการคืนครอบครัวให้ผู้สูงอายุที่พลัดพรากจากกันเพราะสงคราม หากขาดการบริจาค โครงการที่สำคัญต่อชีวิตเหล่านี้อาจต้องปิดตัวลง ซึ่งจะทำให้พวกเขาเปราะบางมากขึ้นไปอีก ได้โปรดพิจารณาด้วย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อเราได้ทันที” คำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่จากยูเอ็นเอชซีอาร์ประเทศไทย ระบุ
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กเพจ UNHCRThailand ยังได้มีสมาชิกเฟซบุ๊กจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้บริจาคให้กับยูเอ็นเอชซีอาร์ประเทศไทย ออกมาแสดงความรู้สึกผิดหวัง และไม่พอใจถึงการให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่นายเอกภพ พร้อมทั้งมองว่ายูเอ็นเอชซีอาร์สนับสนุนคนที่กระทำความผิด และมีจุดประสงค์ในการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย เฉกเช่นนายเอกภพ ไม่ให้รับโทษตามกฎหมาย และพร้อมกันนี้ยังแสดงความจำนงขอยกเลิกการบริจาคพร้อมกันด้วย อย่างไรก็ตาม การยกเลิกการบริจาคให้กับยูเอ็นเอชซีอาร์จะต้องดำเนินการทางโทรศัพท์กับฝ่ายผู้บริจาคสัมพันธ์ในเวลาทำการ และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ จากยูเอ็นเอชซีอาร์ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
อนึ่ง ข้อมูลจากเว็บไซต์ยูเอ็นเอชซีอาร์ประจำประเทศไทย ได้ระบุว่า ทุกปีรัฐบาลไทยได้บริจาคเงินจำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 657,000 บาท) เพื่อช่วยเหลือการทำงานของยูเอ็นเอชซีอาร์ ส่วนภาคธุรกิจได้มอบพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานกว่า 125 แห่ง สำหรับบูธระดมทุนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ และในระยะเวลากว่า 4 ปี ยูเอ็นเอชซีอาร์มีผู้บริจาคมากกว่า 24,000 คนในประเทศไทย โดยยูเอ็นเอชซีอาร์ประเทศไทยมอบหมายให้บริษัท แอพพโก้ ดำเนินการระดมทุนสำหรับบุคคลทั่วไปผ่านบูธระดมทุน ที่จะเดินสายไปตามห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงานต่างๆ โดยชำระผ่านบัตรเครดิตแบบต่อเนื่อง ขั้นต่ำ 300 บาทต่อเดือน และสูงสุด 700 บาทต่อเดือน