กรรมการ ป.ป.ช.ชี้แจงเปิดคดีถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” ปมจำนำข้าว ชี้ใช้อำนาจส่อขัดรัฐรัฐธรรมนูญ และระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่แค่ให้สินบนและฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ยังผิดจริยธรรมและคุณธรรม ยันการไต่สวนเป็นธรรม ให้ทนายความเช็กครั้งแรก ถูกข่มขู่และระเบิดแต่ยังมอบความยุติธรรม ย้ำนั่ง กก.นโยบายข้าว ถือว่ารับผิดและรับชอบด้วย เทียบ “ประยุทธ์” โครงการไหนเสียหายสั่งให้หยุด ถือว่าสมเป็นผู้บริหารบ้านเมือง
วันนี้ (9 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ในข้อหาปล่อยให้มีความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว โดยฝ่ายผู้ร้องนำโดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และพวกรวม 3 คน และผู้ถูกร้องนำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง, นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ และทีมทนายความนำโดยนายพิชิต ชื่นบาน อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย, นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง รวมทั้งสิ้น 8 คน
ทั้งนี้ นายวิชาได้แถลงเปิดคดีโดยลำดับที่มาของข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวว่า ตั้งแต่โครงการเริ่มนี้ มีการทุจริตและมีการระบายข้าวขายในราคาถูกให้ผู้มีอำนาจและนำมาขายในราคาแพง ขณะที่ราคาตลาดโลกต่ำกว่าโครงการรับจำข้าวของรัฐบาล จึงทำให้เกิดผลขาดทุน และผู้ส่งออกก็เห็นว่าโครงการดังกล่าวควรยุติ เพราะเป็นภัยต่ออุสาหกรรมข้าวไทยและชาวนา รวมทั้งยังทำให้ไทยเสียแชมป์การส่งออกจากลำดับหนึ่งเป็นลำดับที่ 3 ให้แก่ประเทศอินเดีย และเวียดนามตามลำดับ ที่สำคัญยังทำให้เงินของรัฐบาลใช้จำนำข้าวเริ่มหมดและไม่มีเงินให้ชาวนา ส่งผลให้มีหนี้สินจำนวนมาก และมีชาวนาต้องฆ่าตัวตายนับสิบรายด้วย
กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า พฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา 270 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 58
“ความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ส่อไปในทางทุจริตตามอนุสัญญาว่าด้วยการทุจริต ที่ไม่ได้เพียงแต่การให้สินบน หรือฉ้อราชบังหลวงเท่านั้น แต่ยังหมายไปถึงความผิดต่อจริยธรรมและคุณธรรมด้วย จึงถือว่าส่อกระทำผิดทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่เห็นว่าท่านควรยับยั้งโครงการที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่สุด แต่ไม่ทำ และการไต่สวน ป.ป.ช. ก็อยู่บนความเป็นธรรมภายใต้กฎหมายเดียวกัน และเห็นว่ามีมูลในการถอดถอนและในคดีอาญาด้วย เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ก็ยังอนุญาตให้ทีมทีมทนายความมาตรวจสอบหลักฐานการไต่สวน และชี้แจงเป็นหนังสือและวาจาได้ โดยถือเป็นครั้งแรกที่ ป.ป.ช. ยอมให้ทีมทนายความเข้ามาตรวจสอบ เพราะปกติต้องเป็นตัวผู้ถูกร้องก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากช่วงนั้น มวลชนปิดล้อมปักหลักค้างคืนหน้าสำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมการข่มขู่ และเหตุระเบิด แต่เราก็ยังมอบความยุติธรรมให้ฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้จะถูกวิจารณ์ยอมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์มอบอำนาจได้อย่างไร” นายวิชากล่าว
นายวิชากล่าวว่า ขอยืนยันว่าการถอดถอนนี้ เป็นการแสดงถึงหลักธรรมาภิบาล หรือหลักของโปร่งใส สุจริต รวมทั้งตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในปรากฏต่อสาธารณชนและเป็นหลักต่อแผ่นดิน ว่ากระบวนการบริหารแผ่นดินนั้น บุคคลที่บริหารแผ่นดินต้องมีจริยธรรมสูงสุดเหนือกว่าบุคคลอื่นทั้งหมด และต้องเป็นผู้ที่ไว้วางใจของประชาชน กระบวนการถอดถอนนี้จึงถือว่าเป็นการตรวจสอบว่า ท่านยังอยู่ในความไว้วางใจหรือไว้เนื้อเชื่อใจประชาชนหรือไม่ หรืออยู่ในความศรัทธาของประชาชนตามภารกิจหน้าที่หรือไม่ ด้วยเหตุที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุดจึงต้องนึกถึงประโยชน์สุดของประชาชนส่วนใหญ่ และต้องไม่ทำลายความสุขส่วนน้อยด้วย
“นายกรัฐมนตรีได้ลงไปเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ฉะนั้นการปฏิเสธที่ไม่รับผิดชอบใดๆ และเห็นว่าเป็นเรื่อง ครม.ทั้งชุดนั้น ท่านอาจจะอ้างได้ แต่ตัวท่านเองก็ต้องมีความรับผิดและรับชอบด้วย เมื่อมีโอกาสที่แก้ไขปัญหาให้แก่ประเทศชาติที่จะหยุดยั้งความเสียหายก็ควรจะหยุดเพื่อไม่ให้ลุกลามต่อไปในแผ่นดิน อย่างเช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนโยบายสำคัญคือป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเห็นว่าโครงการใดที่เสียหายหรือกระทบต่อการทุจริตอย่างเป็นกระบวนการ หรือใช่จ่ายงบประมาณมโหฬาร ท่านก็สั่งให้หยุด อย่างนั้นจึงเรียกได้ว่า สมว่าเป็นผู้ที่จะบริหารราชการแผ่นดินสูงสุด” นายวิชาระบุ