xs
xsm
sm
md
lg

ทุจริต ปตท.ปลูกปาล์มอินโดฯ เจอโกงมโหฬารแต่ช่วยกันปิด!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

การประกาศปฏิทินสอบโกงของ “วิชา มหาคุณ” หนึ่งในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ออกมาระบุถึงการทุจริตปลูกปาล์มในอินโดนีเซียของบริษัท ปตท. ที่ไปตั้งบริษัทลูกที่สิงคโปร์ ภายใต้ชื่อ ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) เมื่อเดือนกันยายน 2550 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 10,860 ล้านบาท มีเป้าหมายปลูกปาล์มในอินโดนีเซียมากถึง 3.1 ล้านไร่ โดยพบว่าเป็นกิจการที่นอกจากจะขาดทุนอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีเงื่อนงำทั้งการทุจริต และการกระทำที่ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย

หน้าที่ของ ป.ป.ช. คือ การตรวจสอบและเอาผิดต่อผู้บริหาร ปตท.ที่ทำให้เกิดความเสียหาย มีการตั้ง พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีนี้ไปแล้ว และน่าจะมีข้อสรุปในการชี้มูลความผิดภายในปี 2558

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ นอกจากเรื่องนี้จะอยู่ในระหว่างการสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.แล้ว ความจริงมีข้อสรุปถึงการกระทำความผิดจากการตรวจสอบภายในของ ปตท.เองด้วย แต่กลับไม่มีการเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะทั้งเรื่องความเสียหาย คนทุจริต และการลงโทษคนผิด ทั้งๆ ที่มีการอนุมัติให้ฝ่ายตรวจสอบภายใน ปตท.สอบเรื่องนี้ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2555 และตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2555 ก่อนจะมีข้อสรุปส่งให้ผู้บริหาร ปตท.ในวันที่ 17 ธ.ค. 2555 โดยมีการสอบใน 3 ประเด็น มีผลสรุป ดังนี้

1) การลงทุนในโครงการ PT.Az Zhara และ PT.FBP เป็นไปตามขอบเขตและเป้าหมายที่ได้รับอนุมัติจากบอร์ด ปตท.หรือไม่ กรณีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ได้เกิดความเสียหายต่อ PTTGE อย่างไร พบว่าการดำเนินการทั้งหมดไม่เป็นไปตามที่บอร์ด ปตท.เห็นชอบทั้งเงื่อนไขจำนวนพื้นที่ วงเงินลงทุน เงื่อนไขราคา สัดส่วนการซื้อและการชำระหุ้น ถือเป็นการกระทำนอกอำนาจและก่อให้เกิดความเสียหายต่อ ปตท.

2) การบริหารสัญญาลงทุนโครงการ PT.MAR (Pontianak) กรณีก่อสร้างโรงสกัดน้ำมันปาล์มโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ ในประเด็นนี้ผลสอบสวนระบุว่า บอร์ด ปตท.อนุมัติเฉพาะเงินลงทุนเพื่อให้ได้สิทธิในที่ดินและค่าใช้จ่ายในการพัฒนา ซึ่งไม่ครอบคลุมการลงทุนสร้างโรงสกัดน้ำมันปาล์ม แต่ PTTGEได้ลงนามสัญญา Share Purchase Agreement โดยเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ถือหุ้นฝั่งอินโดนีเซีย คือ Darmadi ต้องดำเนินการเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มตามเวลาที่กำหนด โดยมีความผิดปกติที่มีการแก้ไขสัญญาขยายเวลาให้เมื่อบริษัทดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ ที่สำคัญคือในปี 2552 มีการลงทุนก่อสร้างทั้งที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างจึงถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา

3) การใช้จ่ายและการบริหารงบประมาณเป็นไปตามระเบียบของ PTTGE หรือไม่ กรณีนี้พบว่า มีการใช้งบประมาณเกินจากกรอบที่อนุมัติถึง 10% โดยที่ไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ PTTGE ถือว่า “ฝ่าฝืน” ระเบียบการเงินของบริษัท

นอกจากนี้ คณะกรรมการสอบสวนฯ ยังได้สรุปการเชื่อมโยงของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เส้นทางการใช้เงินในแต่ละช่วงด้วย

จะเห็นได้ว่าผลสอบสวนดังกล่าวพบทั้งปัญหาและคนที่ต้องรับผิดชอบ แต่ผู้บริหาร ปตท.กลับอมพะนำปิดเงียบไม่รายงานต่อสาธารณชน ทั้งๆ ที่นอกจาก ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องบริหารอย่างโปร่งใสแล้วยังเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ในขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พยายามยืนยันมาโดยตลอดว่าเอาจริงเอาจังกับการลงโทษคนโกง แต่ก็ไม่เห็นแสดงถึงความสนใจในเรื่องนี้

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ปตท.ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็จงใจที่จะปกปิดข้อมูลการตรวจสอบโดยการบ่ายเบี่ยงโยนไปให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการ และตัดปัญหาง่ายๆ ด้วยการประกาศยกเลิกการประกอบธุรกิจปลูกปาล์มที่อินโดนีเซียด้วยเหตุผลว่าขาดทุนต่อเนื่อง แต่ไม่มีการระบุถึงความเสียหายจากการทุจริตและการลงโทษคนผิดในโครงการนี้

แตกต่างจากการประโคมข่าวตีปี๊บว่า ปตท.ประสบภาวะขาดทุนจากการอุดหนุนแอลพีจีและเอ็นจีวีราวสามหมื่นล้านบาทต่อปี ส่งผลให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปรับราคาก๊าซให้ประชาชนจ่ายแพงเพื่อเพิ่มกำไรให้กับ ปตท. แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริหาร ปตท.มีปัญหาในเรื่องการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ โดยหยิบยกเฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์สร้างผลกำไรให้กับ ปตท.มายัดเยียดให้คนไทยยอมรับ แต่ปกปิดข้อมูลการทุจริตที่ประชาชนควรรู้ในฐานะที่เป็นเจ้าของ ปตท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ

หาก พล.อ.ประยุทธ์จริงใจในการจัดการปัญหาการทุจริตดังที่พูดไว้ ต้องให้ ปตท.เปิดเผยข้อมูลการสอบสวนทั้งหมดและให้มีการลงโทษคนที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างเพราะการสอบสวนภายในของ ปตท.เป็นคนละส่วนกับการตรวจสอบของ ป.ป.ช.จึงต้องมีข้อสรุปเบื้องต้นในการจัดการปัญหาภายในองค์กรของตัวเองก่อน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า ปตท.มีการบริหารที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ไม่ใช่การปิดตาประชาชนเพื่ออุ้มพวกพ้องตัวเอง

เรื่องนี้คนที่รู้ดีที่สุดคนหนึ่ง คือ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ รมช.คมนาคมของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเป็นคณะกรรมการพิจารณาการขายที่ดินโครงการดังกล่าวซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการซื้อที่ดินในราคาที่สูงเกินจริงถึง 35% แถมบางพื้นที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นพื้นที่น้ำท่วมอีกด้วย

ทำไมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่สร้างความกระจ่างต่อสังคมด้วยการเปิดเผยผลสรุปจากการตรวจสอบให้สาธารณชนรับทราบว่ามีปัญหาจริงตามที่มีการตั้งข้อสังเกตไว้หรือไม่ อย่าอ้างว่าส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้วถือว่าหมดหน้าที่ เพราะเป็นคนละส่วนกัน

การเอาผิดต่อคนโกงต้องเริ่มต้นจากผู้บริหาร ปตท.และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องดำเนินการให้เห็นเป็นอันดับแรก ถ้ายังเพิกเฉยทำเป็นทองไม่รู้ร้อนก็จะเป็นว่า วาทกรรมคำโตเกี่ยวกับการปราบโกงของท่านผู้นำเป็นแค่ลมปาก เพราะจากที่คิดว่าจะ “เปลี่ยน” กลายเป็นเรื่องที่คนไทยต้อง “ปลง” แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น