xs
xsm
sm
md
lg

ฉาวไม่เลิกเครื่องส่งทีวีดิจิตอล อสมท “สามารถ” โวย “ล็อกซเล่ย์” ผิดสเปกสำคัญ-ส่อประมูลล่มซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

DTU-70D Series : Liquid-Cooled Digital UHF TV Transmitter
ประมูลเครื่องส่งดิจิตอลทีวี อสมท ส่อล่มซ้ำ พบราคาต่ำกว่าหนก่อนที่ยกเลิกไปถึงเท่าตัว ขณะที่ “สามารถ” ลุยร้อง “ล็อกซเล่ย์” คนชนะรอบนี้ผิดสเปกสำคัญ พบไร้ข้อมูลเครื่องที่ยื่นประมุลในเว็บไซต์ผู้ผลิต แถมพิรุธลบข้อความสำคัญหายจากแคตตาล็อตหมาดๆ เล็งชง สตง.เข้าตรวจสอบด้วย

วันนี้ (7 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งความคืบหน้าของโครงการจัดซื้อและติดตั้งระบบและอุปกรณ์สำหรับบริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หรือโครงการจัดหาเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 1 ใน 4 ของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล (MUX) แจ้งว่า หลังจากที่การประมูลเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 57 ซึ่งได้ผู้ชนะการประกวดราคาไปแล้ว แต่ภายหลังมีการปัญหาร้องเรียนทั้งจากผู้เข้าร่วมเสนอราคา และบุคลากรภายในของ อสมท รวมทั้งมีหนังสือท้วงติงความไม่โปร่งใสของการดำเนินการจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งผลให้คณะกรรมการ (บอร์ด) อสมท ได้มีมติให้ยกเลิกการประกวดราคาครั้งนั้น และดำเนินโครงการจัดซื้อใหม่เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 57 และได้ประกาศผู้ชนะการประกวดราคาครั้งใหม่คือ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.ล็อกซเล่ย์ฯ) ไปเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 57 ที่ผ่านมา

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับการประกวดราคาครั้งใหม่นี้ ทาง อสมท ได้ประกาศโครงการจัดซื้อเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 57 โดยให้ผู้ที่สนใจเข้าประกวดราคาเข้าซื้อซองประกวดราคาระหว่างวันที่ 14 - 28 พ.ย. 57 และได้กำหนดให้ยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 11 ธ.ค. 57 ก่อนเปิดซองด้านเทคนิคในวันที่ 15 ธ.ค. 57 โดยจะมีการประกาศผลผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิคในวันที่ 26 ธ.ค. 57 และเปิดซองราคาและประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกในวันที่ 29 ธ.ค. 57 ตามลำดับ ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิค จึงจะได้รับการพิจารณาเข้าร่วมการเปิดซองราคาตามหลักเกณฑ์ผู้เสนอราคาต่ำสุด

ปรากฏว่ามีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติด้านเทคนิคจำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ฯ บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด (บจ.สามารถฯ) และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บมจ.ไออาร์พีซีฯ) ท้ายที่สุด บมจ.ล็อกซเล่ย์ได้รับการคัดเลือก เนื่องจากเสนอราคาต่ำสุดที่ 191 ล้านบาท ส่วน บมจ.ไออาร์พีซีฯเสนอที่ 209 ล้านบาท และ บจ.สามารถฯเสนอที่ 235 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นราคาเฉพาะตัวเครื่องส่งสัญญาณ เนื่องจากมีการแยกประกวดราคาในส่วนของอุปกรณ์ประกอบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆอีก 1 รายการ มูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท โดยขณะนี้มีการเรียก บมจ.ล็อกซเล่ย์ฯเข้าต่อรองราคาและตกลงรายละเอียดตามกระบวนการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและลงนามในสัญญากันได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้หรือไม่เกินสิ้นเดือน ม.ค. 58

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในการประกาศโครงการจัดหาเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลของ อสมท ครั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าได้ตั้งวงเงินงบประมาณไว้ที่ 396 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่ได้กำหนดราคากลาง ณ วันที่ประกาศ (14 พ.ย. 57) ไว้ที่ 293 ล้านบาท ต่ำกว่าผลการประกวดราคาครั้งแรกที่ผู้ชนะเสนอราคาในโครงการเดียวกันนี้ที่ 440 ล้านบาท ซึ่งหากคำนวณจากราคาต่ำสุดที่ทาง บมจ.ล็อกซเล่ย์เสนอที่ 191 ล้านบาท เมื่อรวมกับอุปกรณ์ประกอบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกราว 30 ล้านบาท รวมประมาณ 220 ล้านบาท แตกต่างกันถึง 1 เท่าตัว ตรงกับข้อท้วงติงของ สตง.ที่ระบุว่า โครงการจัดซื้อของ อสมท แพงกว่าความเป็นจริงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเครื่องและราคาที่ทาง ททบ.5 และไทยพีบีเอส จัดซื้อเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว ทั้งนี้การจัดซื้อครั้งนี้ของ อสมท เป็นเพียงโครงการในระยะที่ 1 ที่กำหนดจัดซื้อเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลจำนวน 14 เครื่อง ยังมีส่วนโครงการในระยะที่ 2 ที่ต้องจัดหาเพิ่มเติมอีก 25 เครื่อง เพื่อให้ได้ครบจำนวน 39 เครื่องตามข้อกำหนดของทาง กสทช.

หากพิจารณาในแง่ของงบประมาณที่ลดราคามากกว่าเท่าตัวแล้ว ก็ต้องถือว่าการประกวดราคาครั้งนี้ของ อสมท เป็นการดำเนินตามข้อท้วงติงของ สตง.ในเรื่องการรักษาผลประโยชน์องค์กรและภาษีของประชาชน แต่กระบวนการจัดซื้อของ อสมท ก็มีปัญหาเกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งการยื่นเรื่องร้องเรียนของ 2 บริษัทที่ไม่ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติด้านเทคนิค แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่และอาจส่งผลให้ต้องยกเลิกโครงการจัดซื้ออีกครั้ง เมื่อ บจ.สามารถ ที่เสนอราคาเป็นลำดับที่ 3 ได้มีหนังสือร้องเรียนถึง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ในวันที่ 29 ธ.ค. 57 ภายหลังการประกาศผลการคัดเลือกโดยมีสาระสำคัญระบุว่า ข้อมูลเครื่องส่งสัญญาณยี่ห้อ NEC ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักที่ทาง บมจ.ล็อกซเล่ย์ฯใช้ในการประกวดราคาครั้งนี้ขัดกับคุณสมบัติด้านเทคนิค หรือสเปคเครื่องส่งสัญญาณหลักที่ อสมท กำหนด

โดยทาง บจ.สามารถฯระบุในหนังสือที่ SCT(SG4) 179-14 ลงวันที่ 29 ธ.ค. 57 เรื่องการพิจารณาประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติทางเทคนิคช่วงหนึ่งว่า “ทางคณะกรรมการได้เปิดซองเอกสารทางเทคนิค โดยทางคณะกรรมการได้แจ้งข้อมูล ยี่ห้อและรุ่นของอุปกรณ์หลักในโครงการดังกล่าวให้กับทางบรัทที่เข้าร่วมเปิดซองทางเทคนิคได้รับทราบ โดยทาง บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนออุปกรณ์เครื่องส่งโทรทัศน์ยี่ห้อ NEC รุ่น DTU-70D-M (ซึ่งไม่ปรากฏในเว็บไซต์ของผู้ผลิต) โดยตามข้อกำหนดทางเทคนิคข้อ 3.1.14 ข้อกำหนดรองข้อ 4. Modulation error rate (MER) ≥ 33 dB แต่จากการตรวจสอบ Website ของบริษัทผู้ผลิต (www.nec.com/en/global/prod/nw/broadcast/products/dtu-70d_series/) และ Catalog เครื่องส่งโทรทัศน์ยี่ห้อ NEC รุ่น DTU-70D หน้า 4 ได้แสดงค่า Modulation error rate (MER) >32 ซึ่งไม่ผ่านข้อกำหนดด้านเทคนิคในโครงการดังกล่าว ทางบริษัทฯ จึงขอเรียนถามหลักการพิจารณาของคณะกรรมการว่า ทางคณะกรรมการจะพิจารณาจากข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานของผู้ผลิตที่ได้จัดจำหน่ายไปทั่วโลกหรือจากเอกสารของผู้เสนอราคา”

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบรายละเอียดของ Modulation error rate (MER) พบว่าเป็น “ค่าอัตราส่วนความผิดพลาดของการส่งสัญญาณ” ที่มีหน่วยเป็นเดซิเบล (dB) ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในเครื่องส่งสัญญาณชนิดต่างๆ โดยหากมีค่าตัวเลขมากจะยิ่งมีคุณภาพสูงขึ้น หรือมีราคาของเครื่องที่สูงขึ้นตามไปด้วย สำหรับค่า Modulation error rate (MER) ในเครื่องส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลนั้นจะสามารถบ่งชี้ถึงคุณภาพสัญญาณที่จะคมชัดหรือสัญญาณกระตุก และอัตราความเสี่ยงต่อการล่มของสัญญาณหรืออาจส่งผลให้เกิดปัญหาจอดำ ตามที่ปรากฏให้เห็นหลังมีการทดลองส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลในประเทศไทยมาแล้ว ทั้งนี้ค่า MER ที่ทาง อสมท กำหนดไว้มากกว่าหรือเท่ากับ 33 เดซิเบล (≥ 33 dB) นั้นถือว่าสูงกว่าที่ทางไทยพีบีเอสได้เคยกำหนดในการประกวดราคาไว้ที่มากกว่า 32 เดซิเบล (>32 dB) โดยโครงการของทางไทยพีบีเอสนั้น บมจ.ล็อกซเล่ย์ฯซึ่งเป็นผู้ได้รับคัดเลือกการประกวดราคา โดยในครั้งนั้นได้ใช้เครื่องส่งโทรทัศน์ยี่ห้อ NEC รุ่น DTU-70D ที่มีค่า MER >32 เป็นอุปกรณ์หลักในการเสนอราคา แต่ในโครงการของ อสมท ทาง บมจ.ล็อกซเล่ย์ ได้ใช้เครื่องส่งโทรทัศน์ยี่ห้อ NEC รุ่น DTU-70D-M พร้อมระบุค่า MER มีแบบฟอร์มประกวดราคาว่า มากกว่าหรือเท่ากับ 33 เดซิเบล (≥ 33 dB)

เป็นที่สังเกตว่า เครื่องส่งสัญญาณที่ทาง บมจ.ล็อกซเล่ย์ ใช้ในการประกวดราคากับทางไทยพีบีเอส และ อสมท นั้น แตกต่างกันเพียงตัวอักษร “-M” ที่ต่อท้ายมาเท่านั้น เมื่อตรวจสอบในเว็บไซต์ www.nec.com/en/global/prod/nw/broadcast/products/dtu-70d_series/ ก็ไม่พบว่ามีเครื่องส่งรุ่น DTU-70D-M ตามข้อสังเกตของทาง บจ.สามารถฯ และเมื่อดาวน์โหลด Catalog ของเครื่องรุ่น DTU-70D มาตรวจสอบกลับไม่พบว่ามีการระบุค่า MER ในช่อง DVB-T2 ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในประเทศไทย มีเพียงการระบุค่า >32 ในช่อง DVB-T และ ISDB-T/Tb โดยเมื่อสอบถามผู้ที่อยู่ในวงการทีวีดิจิตอลก็ยืนยันตรงกันว่าก่อนหน้านี้ใน Catalog ฉบับเดียวกันนี้มีการระบุค่า MER ในช่อง DVB-T2 แต่เพิ่งถูกลบข้อความไปเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งที่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของเครื่อง ทั้งนี้ บจ.ไออาร์ซีพี และ บจ.สามารถฯที่เข้าร่วมประกวดราคาได้ใช้เครื่องส่งสัญญาณหลักที่มีค่า MER มากกว่าหรือเท่ากับ 33 เดซิเบล (≥ 33 dB) เข้าร่วมประกวดตามคุณสมบัติที่ อสมท กำหนด

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นอกเหนือจากการยื่นร้องเรียนต่อทาง อสมท แล้วนั้น ทาง บจ.สามารถ กำลังพิจารณาหาช่องทางในการร้องเรียนไปทาง สตง.อีกทางหนึ่งด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น