รายงานการเมือง
ช่วงนี้วงการ “ดิจิตอลทีวี” ดูจะครึกครื้นเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะกองเชียร์ - กองแช่ง ที่ลุ้นอยู่กับอนาคตของ “ช่อง 3 อนาล็อก” ที่ยังลูกผีลูกคนจะ “จอดำ” เมื่อไรก็ไม่รู้ ขณะที่ดู “กสทช.” ซัดไปมากับ “ช่อง 3” เพลินๆ ก็มีเหตุการณ์ขโมยซีนเกิดขึ้น เมื่อโครงข่ายดิจิตอลทีวีของ อสมท ที่เป็นหนึ่งในแม่ข่าย (Mux) ที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ดันมาชิง “จอดำ” ไปก่อนหน้า “ช่อง 3 อนาล็อก” เสียอีก
ตามข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา โครงข่ายดิจิตอลทีวีของ อสมท ในพื้นที่ กทม.- เชียงใหม่ ที่ประกอบไปด้วย “MCOT HD - MCOT Family - สปริงนิวส์ - ไทยรัฐทีวี - วอยซ์ทีวี” ไม่สามารถรับชมได้ราว 8 ชั่วโมง ก่อนที่จะกลับมาให้บริการได้อีกครั้งในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ทำให้บรรดาบิ๊กของ อสมท กรูออกมาแก้ต่างว่า เหตุการณ์ “จอดำ” เกิดจากการขัดข้องทางเทคนิค ท่ามกลางความงุนงงของคนฟังว่าเหตุใดโครงข่ายของทั้ง 2 พื้นที่นี้ จึงได้สามัคคีพร้อมเพรียงกันขัดข้องได้
ขุดคุ้ยไปก็ปรากฏว่า เครื่องส่งสัญญาณที่สถานีใบหยก 2 และเชียงใหม่ เป็นของ “เทคทีวี” ซึ่งเป็นบริษัทที่ชนะการประกวดราคาจัดซื้ออุปกรณ์ส่งสัญญาณดิจิตอลทีวีของ อสมท ไปก่อนหน้านี้
ฟันธงได้เลยว่าเหตุการณ์ “จอดำ” ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรืออุบัติเหตุอย่างแน่นอน
เรื่องราวดูเหมือนจะคลี่คลายไปได้ด้วยดี แต่ต่อมากลับเกิดเหตุการณ์ “จอดำ” ขึ้นอีกครั้ง เมื่อช่วงเที่ยงๆ ของวันที่ 14 ก.ย. ให้หลังเหตุการณ์ครั้งแรกเพียง 3 วัน แต่ปรากฏว่าครั้งล่าสุดนี้ทาง อสมท ยังไม่ได้ออกมาชี้แจงใดๆ เลย
ไถ่ถามไปยังผู้บริหาร “เทคทีวี” เจ้าของเครื่องส่งสัญญาณที่ให้บริการอยู่ทั้ง 2 สถานี ก็ชี้แจงว่า สาเหตุที่ “จอดำ” เมื่อวันที่ 11 ก.ย. เกิดมาจาก “เทคทีวี” ต้องการที่จะยุติการให้บริการเครื่องส่งและอุปกรณ์ส่วนควบที่ติดตั้งบนทั้ง 2 สถานีที่ว่า เพราะสิ้นสุดระยะทดลองออกอากาศมานานหลายเดือน หากยังให้ทาง อสมท เชื่อมต่อสัญญาณก็เกรงว่าจะติดหางเลขทำผิดกฎหมายไปด้วย เพราะใบอนุญาตทดลองออกอากาศของ อสมท ที่ได้จากรับจาก กสทช.ก็ได้หมดอายุลงแล้วเช่นกัน
ขณะเดียวกัน การออกอากาศของ อสมท ทุกวันนี้ ทาง “เทคทีวี” บริการให้แก่ อสมท โดยไม่คิดสะตุ้งสะตังค์ ตามเอ็มโอยูในโครงการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องส่งสัญญาณ จนแล้วจนรอดโครงการจัดซื้อที่ “เทคทีวี” เป็นผู้ชนะประกวดราคากลับถูกประวิงเวลา ไม่มีทีท่าจะเดินหน้าต่อ แถมยังมีหนังสือขอยกเลิกโครงการโดยไร้ซึ่งเหตุผลออกมาอีก ทั้งที่ได้ลงทุนล่วงหน้าไปหลายร้อยล้านกับโครงการนี้ สร้างความเสียหายให้กับบริษัทเป็นอย่างมาก
ตรงนี้คือความจำเป็นที่ “บิ๊กเทคทีวี” ระบายความในใจออกมา
แต่แล้วก็มี “สายตรง” จากทางฝั่ง อสมท ขอร้องให้ “เทคทีวี” เชื่อมต่อสัญญาณคืนให้ก่อน เพราะเหตุการณ์ “จอดำ” มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว “เทคทีวี” ก็ยินยอมที่จะเปิดเครื่องส่งสัญญาณให้ แถมใจดีอัปเกรดเฟิร์มแวร์ให้อีกต่างหาก
รุ่งขึ้น 12 ก.ย. “ดวงใจ มหารักขกะ” รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ก็เรียกผู้เช่าโครงข่ายทั้ง 3 ราย “สปริงนิวส์ - ไทยรัฐทีวี - วอยซ์ทีวี” เข้ามาชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า ได้จัดเตรียมเครื่องเพื่อนำไปติดตั้งแทนเครื่องของ “เทคทีวี” โดยจะแล้วเสร็จภายใน 2 วัน ซึ่งตรงกับวันที่ 14 ก.ย.
จุดนี้เองเป็นสาเหตุทำให้ “จอดำ” ซ้ำอีกครั้ง เมื่อ “เทคทีวี” ได้ตัดสินใจยุติการออกอากาศ เพราะเกรงว่าการส่งสัญญาณจะซ้ำซ้อนกัน จึงต้องนำสัญญาณลงทั้ง 2 สถานี
ดูจากปฏิบัติการของ “เทคทีวี” สะท้อนว่างานนี้ “แตกหัก” อย่างแน่นอน แต่ทาง “เทคทีวี” ก็ให้เหตุผลว่า ไม่ได้มีเจตนาที่ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยก่อนหน้านี้ บริษัทได้มีหนังสือแจ้งไปยัง อสมท แล้วไม่ต่ำกว่า 3 ฉบับ แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ แถม อสมท ยังคงใช้เครื่องส่งที่ 2 สถานีนี้ให้บริการและคิดค่าบริการแก่ผู้เช่าโครงข่ายแบบเต็มอัตราอีกต่างหาก
ทั้งยังมีปมปัญหาที่ทาง อสมท สร้างขึ้นเองอีก โดย อสมท มีหนังสือได้แจ้งไปยัง กสทช ว่า ได้ทำการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณครบทั้ง 7 สถานีตามที่ กสทช กำหนด โดยระบุว่าเป็นเครื่องเช่าจาก “เทคทีวี” ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะมีเพียงเครื่องส่งที่ “ใบหยก 2” กับ “เชียงใหม่” เท่านั้นที่เป็นของ “เทคทีวี” และเป็นลักษณะให้ยืมทดลองออกอากาศฟรี ไม่ใช่การเช่าอย่างที่ อสมท แจ้งให้ กสทช. ทราบ
ตีความง่ายๆ ก็เท่ากับ อสมท ให้ข้อมูลเท็จต่อ กสทช.
เรื่องราวที่ยุงชุลมุนระหว่าง “อสมท - เทคทีวี” ก็มาจากโครงการจัดซื้อที่ใกล้แล้วเสร็จ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์แล้วให้ “เทคทีวี” เป็นผู้ดำเนินโครงการ แต่ถูก “มือมืด” หาทางสกัดไว้อย่างต่อเนื่อง ลากยาวมานานนับหลายเดือน แถมยังมีการตั้งโครงการขัดเช่าเครื่องส่งสัญญาณขึ้นมาซ้ำซ้อนอีก โดยมีข่าวว่า บอร์ด อสมท บางคนหวังผลประโยชน์เบี้ยใบ้รายทางจากค่าเช่าที่ อสมท ต้องจ่าย
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากภายใน อสมท เองที่ท้วงติงว่า งบประมาณโดยรวมของการจัดเช่านั้นสูงกว่าการจัดซื้อ และที่สำคัญ อสมท ในฐานะเจ้าของใบอนุญาต กลับไม่มีกรรมสิทธิ์ในการควบคุมเครื่องส่งที่เช่ามาเหล่านี้ แต่เสียงคัดค้านเหล่านี้กลับไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในชั้นการพิจารณาของบอร์ด
ในความขมุกขมัวของ อสมท ดินแดนสนธยาแห่งนี้ ก็ยังมีแสงสว่างให้เห็นอยู่บ้าง เมื่อหน่วยงานรับผิดชอบและผู้บริหารภายใน อสมท บางราย ได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการนำเรื่องโครงการจัดซื้อกลับเข้าสู่ที่ประชุม บอร์ด อสมท เพื่อพิจารณาดำเนินการต่ออีกหลายครั้ง แต่ก็ถูกขัดขวางโดย “บอร์ดรายหนึ่ง” มาโดยตลอด เมื่อไม่สามารถผลักดันให้โครงการจัดซื้อเข้าที่เข้าทางที่ควรจะเป็นได้ ก็เท่ากับเป็นการเปิดทางโดยตรงให้โครงการจัดเช่าดำเนินการต่อไปได้
ด้วยข้อกำหนดของ กสทช ที่ให้ “แม่ข่าย” อย่าง อสมท ต้องมีเครื่องส่งสัญญาณเป็นของตัวเอง สุดท้ายก็ต้องมีโครงการจัดซื้อเกิดขึ้นไม่เร็วก็ช้า โดยขณะนี้ภายใน อสมท มีกระแสข่าวกระหึ่มว่า ฝ่ายบริหารและบอร์ดบางคนได้เตรียมชงโครงการจัดซื้ออุปกรณ์รอบใหม่ขึ้นมาอีก โดยครั้งนี้ใช้งบประมาณเกือบ 2,000 ล้านบาท
ขณะที่ “เทคทีวี” ชนะการประกวดราคาที่ 440 ล้านบาท เรียกได้ว่าแพงกว่ากันถึงเกือบ 5 เท่าตัว
เมื่อเรื่องราวลุกลามบานปลายถึงขนาดนี้แล้ว ก็เสมือนทางสองแพร่งที่ อสมท ต้องเลือกเดิน ทางหนึ่งคือดื้อดึงจัดเช่าอุปกรณ์ต่อไป ประวิงเวลาโครงการจัดซื้อ ก็เป็นไปได้สูงที่ในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์ “จอดำ” ซ้ำรอยขึ้นอีก เพราะ อสมท ไม่สามารถควบคุมการกระจายสัญญาณในส่วนของเครื่องเช่าได้เลย เนื่องจากไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเครื่องส่ง
อีกทางหนึ่งคือเดินหน้าโครงการจัดซื้อให้แล้วเสร็จ แต่หากหาเรื่องตั้งโครงการขึ้นมาใหม่ ด้วยงบประมาณที่สูงลิบลิ่ว ก็คงไม่ต่างกับการฆ่าตัวตาย ทั้งในแง่ความโปร่งใสของการใช้งบประมาณ และอีกด้านที่ “เทคทีวี” ในฐานะผู้เสียหายฟ้องร้องไว้ที่ศาลอีก
ไม่ว่าจะเลือกทางไหนคนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง ก็คือ บรรดาผู้เช่าโครงข่ายของ อสมท ทั้ง “สปริงนิวส์ - ไทยรัฐทีวี - วอยซ์ทีวี” รวมไปถึงประชาชนที่รับชมรายการ ที่ไม่มีความมั่นคงในโครงข่ายส่งสัญญาณของ อสมท เลย
สุดท้ายผู้ชม - ผู้บริโภค ก็เป็นตัวประกันในเกมแห่งผลประโยชน์นี้