xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ มอง ปัญหาสีเสื้อต้องฟังเสียงส่วนน้อย ปฏิรูปปีเดียวไม่จบ ล้างผิด รัฐแค่ผู้พิจารณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ประยุทธ์" แจง แก้ปัญหาสีเสื้อ ต้องแยกจากปฏิรูป แก้ด้วยเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ ต้องคำนึงส่วนน้อย แย้ม ปฎิรูปทำปีเดียวไม่จบเหตุไม่ได้มีแค่ 11 เรื่อง เปรียบจีนทำ 30 ปียังไม่จบ รับไม่เคยคิดจะได้นั่งนายกฯ สั่งฝ่ายยุติธรรม แจงคดีการเมืองไหนเข้าข่าย นิรโทษฯ ยันรัฐแค่พิจารณา เผย ต้องปรับเพิ่มเงินขรก.บำนาญ 4 % เหตุไม่ได้ปรับหลายปี บอก รมต.ชุดนี้ทำงานเต็มที่ ตามสถานการณ์ วอนปชช.เชื่อมั่นรัฐ

วันนี้ (30ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงสิ่งที่จะเข้ามาดำเนินการในเรื่องปฏิรูปประเทศคิดว่าในอนาคตจะสามารถแก้ไขปัญหาสีเสื้อได้หรือไม่ว่า เรื่องนี้จะต้องแยกออกจากกัน เพราะการแบ่งสีเสื้อว่าการแบ่งประชาชนจะแบ่งโดยอะไร งานการเมืองและการเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยก็คือเสียงของประชาชน เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของเสียงในการเลือกตั้ง ก็จะมีกลุ่มคนที่ถูกเลือกเข้ามา ซึ่งก็มีหลายพวกหลายฝ่ายบางประเทศมี 2 พรรค บางประเทศมี 3 พรรค แต่เรามีหลายพรรค มากบ้างน้อยบ้าง พรรคไหนใหญ่ก็มีคนสนับสนุนเยอะ ตรงนี้จะแก้ด้วยเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ เพราะเราจะต้องคำนึงเสียงส่วนน้อยด้วย อย่าไปหาวิธีการบีบเสียงส่วนน้อยให้เขาเลือกให้เขาแพ้มันเป็นไปไม่ได้จะมีคนที่ไม่พอใจ เพราะการเมืองมีความผูกพันกับประชาชน ซึ่งจะต้องดูทั้ง 3 อย่าง 1.พื้นฐานของประชาชนทำอย่างไรถึงจะเรียนรู้ 2.กฎระเบียบ กฎหมาย รัฐธรรมนูญจะต้องเขียนให้มีทางออก 3.พรรคการเมืองที่เข้ามาจะเป็นใครก็จะต้องย้อนไปดูว่าใครจะเข้ามา มีคนใหม่เท่าไหร่ คนเก่ามีบ้างหรือไม่จะต้องไปหาดู แต่จะให้ใช้วิธีป้องกันคนนั้นคนนี้มันยากถ้าไม่ใช้กฎหมาย ถ้าไม่มีความผิดก็กั้นยาก เขาจะกลับเข้ามาใหม่แล้วทำหรือเปล่าเราก็ไม่รู้ วันนี้เราจะต้องทำเพื่อไม่ให้เกิดแบบนั้นขึ้นมาอีก

“สื่อจะต้องช่วยผมในการอธิบายว่ากลับมาอย่างนี้ไม่ได้แล้ว ที่ว่าผมเผด็จการ ต้องไปดูทั้ง 2 อย่าง ทั้งเผด็จการรัฐประหาร และ เผด็จการรัฐสภา มันมีหรือไม่ มีคำกล่าวมีตำราเขียนอยู่ ถ้าสภาทั้งสองสภา หรือกี่สภามีความเห็นอย่างเดียวกันหมดจะรับรองได้หรือไม่ว่าใช่หรือไม่ ถูกหรือไม่ถูก อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดก็ได้ ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้มีกลไกลที่ถ่วงดุลกันทั้งระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ก็ต้องไปหามาว่าทำอย่างไรให้เกิดขบวนการปฏิรูปโดยที่ไม่ต้องใช้อำนาจที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยให้เขายอมรับการปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปไม่ใช่ทำปีเดียวแล้วจบ ผมเคยเล่าหลายครั้งแล้วว่าประธานาธิบดีจีนบอกว่าทำมา 30 ปียังไม่จบมีเรื่องที่ต้องทำอีกกว่า 300 เรื่อง วันนี้แค่เริ่มต้นการปฏิรูปเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลหรือ คสช.ทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง มีการถกแถลงหลายฝ่าย มีการตั้งเรื่อง 11 เรื่อง มีใครทำบ้าง ตอนนี้เราทำให้ทุกอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน วางระยะเวลากี่ปี รัฐบาลต่อไปจะต้องทำอะไร ตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเวลานี้ ฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับการยอมรับหรือจะสำเร็จทุกอย่าง แต่อย่างน้อยก็ยังได้เริ่มต้น หรือทำต่อไปอีก 30 ปี ก็ได้เพราะไม่ได้มีแค่ 11 เรื่อง รวมถึงคนที่จะมาร่วมกระบวนการเหล่านี้ได้รับการยอมรับหรือไม่ ซึ่งของเราไม่ค่อยยอมรับ เพราะไม่ค่อยใช้การบังคับกฎหมายทำอะไรก็ได้ อิสระเสรีตามวิสัยคนไทย แต่ต่างประเทศเขาทำไม่ได้ เขาจึงทำได้ เราเป็นอย่างเขาก็ลำบาก อะไรก็ไม่ได้สักอย่าง แต่จะให้เป็นอย่างนี้อย่างนั้นมันก็ไม่ได้ ประเทศเรามีความสุข เวลาผมไปต่างประเทศ คิดถึงประเทศไทยทุกที กลับมาก็สดชื่นสวยงามรื่นเริง แต่ทำไมจะต้องทะเลาะกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนเด็ก ๆ คิดหรือไม่ว่าจะมายืนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่เคยคิด แม้แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกก็ไม่เคย เพราะตอนนั้นที่เรียนจบนายร้อยมาทุกคนหวังว่าได้เป็นนายพลก็ดีแล้ว ก็ต้องทำงานเรื่อย ๆ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการนิรโทษกรรมว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาและการปฏิรูปหรือไม่ว่า มันมีคำว่า ปรองดอง นิรโทษกรรม อภัยโทษ ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ปรองดองคือใจเราปรองดอง คนที่เคยทะเลาะก็ไม่ทะเลาะกัน ไม่ต้องเอาปัญหามาบอกว่าใครถูกใครผิด ถ้าเรื่องอภัยโทษคือการเข้าไปติดคุกรับโทษระยะหนึ่งแล้วว่ากันไป ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมส่วนใหญ่เป็นคดีการเมืองไม่ใช่คดีอาญาก็ต้องไปดูซิว่าใครอยู่กลุ่มไหนตนไม่รู้

เมื่อถามว่า จะมีการผลักดันการนิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะทหารก็โดนด้วยจากเหตุการณ์กระชับพื้นที่ของทหารกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ออกมาหมดแล้ว เหลือเฉพาะคดีอาญาที่กระทำผิดเผาศาลากลาง ใช้อาวุธ ถ้าเป็นคดีการเมืองและไปยืนประท้วงตอนนี้ออกมาหมดแล้ว หรือใครที่ยังไม่ได้ออก ก็จะให้ฝ่ายยุติธรรมออกมาชี้แจงอีกครั้งว่าใครอยู่ในข่ายที่ได้รับการนิรโทษ แต่ตนไม่ได้เป็นคนเริ่มต้น เพราะไม่ใช่เรื่องของตน เรื่องนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายมีส่วนได้ส่วนเสียที่จะต้องเป็นผู้เสนอเข้ามา รัฐบาลเป็นเพียงผู้พิจารณาเฉย ๆ อย่างครั้งที่แล้วมีคนเสนอเข้ามายังรัฐบาลก็เป็นเรื่องขึ้นมา มันเป็นคนละประเด็นอย่าเอามาพันกัน ตนไม่ได้ไปทำโทษใครแล้วจะไปนิรโทษกรรมใคร เรื่องการปฏิรูปต้องไปว่ากันมา

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการขึ้นค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ว่า ต้องให้เขาหน่อย เห็นใจ เพราะไม่ได้ปรับมาหลายปี ซึ่งตนก็บอกไปแล้วว่าจะให้ชั้นผู้น้อยก่อนได้หรือไม่ โดยเพิ่มร้อยละ 4 ของเงินเดือน ให้ทั้งหมด 533,328 รายพวกเขาน่าเห็นใจ และเป็นเงินไม่มาก ให้คนที่เดือดร้อนมีประโยชน์ทั้งนั้นไม่ว่าจะมากน้อย สำหรับพวกเราอาจจะไม่มีความหมายแค่ 400-500 บาท ส่วนจะมีการปรับค่าครองชีพของรัฐวิสาหกิจด้วยหรือไม่นั้น ต้องไปดูว่าที่ผ่านมาได้อย่างไร ได้แค่ไหน ผลประกอบการเป็นอย่างไร ตรงนี้จะต้องเป็นตัวชี้วัดด้วย ถ้าจะให้ขึ้นหมดแล้วรายได้ไม่มีจะไปเอาที่ไหน รัฐบาลก็จะต้องเข้าไปช่วยอุดหนุน ปีหนึ่งรัฐบาลต้องไปช่วยอุดหนุนเท่าไหร่ไม่รู้ ค่อย ๆ ปรับทีละอัน ต้องสร้างรายได้ประเทศก่อน สร้างความเข้มแข็ง มีการสร้างโรงงาน ถ้าทำอย่างนี้แล้วดี รายได้ประเทศก็จะดี ถ้าทุกอย่างอยู่ขั้นเริ่มต้นแล้วรีบใช้จ่าย เอาเงินอนาคตมาใช้ ถ้าทำไม่ได้ขึ้นมาก็จะเกิดปัญหา วันนี้เราพยายามไม่สร้างแบบนั้น ไม่ใช่เอามาใช้เยอะแยะแล้วมาจม มันน่าเสียดาย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานในกระทรวงต่าง ๆ หลังปีใหม่ ว่า ต้องทำทุกกระทรวง แต่ที่เคี่ยวเข็ญเพราะเขาเหนื่อยที่ต้องเผชิญอะไรต่าง ๆ เยอะแยะ พวกเราไม่รู้หรอกว่าการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่ทำมาหลายปียากมากแค่ไหน จะไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมข้าราชการ นักธุรกิจ พ่อค้า มันเป็นเรื่องยาก พูดกับพวกเรามันง่ายแต่มันไม่ใช่ เพราะมันเป็นกระแสสังคม เป็นการยอมรับ มันยาวนานมากี่รัฐบาลแล้ว รัฐบาลนี้มาก็เพื่อที่จะแก้ไขมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน ไม่ได้บอกว่าจะแก้ให้ถูกเป็นผิด หรือแก้ผิดเป็นถูก เพียงแก้ว่าคิดแบบนี้ได้หรือไม่ ยังจะต้องใช้ระยะเวลา บางทีเขาก็เหนื่อย เพราะตนสั่งทุกอาทิตย์ และแต่ละอาทิตย์เยอะมาก บางอย่างตนก็จี้และเร่งไป ปรากฏว่าเขาทำไม่ไหวไม่ทัน ก็ขอเวลามา ตนก็ให้ไป ตนดูคนออกว่าทุกคนพยายามเต็มที่ ตนคิดว่าเราทำกันมากที่สุด อย่าไปเทียบกับใครทำมากที่สุดในเวลานี้ และเหมาะสมกับสถานการณ์ในวันนี้ ที่สุดแล้ว เพราะถ้าทำมากกว่านี้ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น และเราจะเดินหน้าไปสู่จุดมุ่งหมายที่เราต้องการไม่ได้ ก็คือต้องการให้ประเทศชาติมีความสงบอย่างยั่งยืน ฉะนั้นทุกขาจะต้องเดินไปด้วยกัน อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นรัฐบาล ถ้าท่านให้ใจตนก็จะต้องให้ใจรัฐบาลด้วย เพราะท่านมาช่วยตนเหมือนกัน และอย่าไปมองว่ามีผลประโยชน์ ถ้ามีก็บอกว่า แต่ถ้ากล่าวอ้างลอย ๆ จะทำให้เกิดความเสียหาย และจะทำให้ความร่วมมือลดลง

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่านโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ช่างสุขุม ลุ่มลึก และมองการณ์ไกล เป็นการคืนความสุขให้กับคนไทยทั้งชาติโดยแท้จริง ถือเป็นบุญคุณที่ประชาชนต้องตระหนัก และซาบซึ้งในวิสัยทัศน์ และการทำงานหนักของนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ท่านนี้





กำลังโหลดความคิดเห็น