ผ่าประเด็นร้อน
นำคณะชุดใหญ่ไปเยือนจีนกันอีกรอบแล้ว สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คราวนี้มีกำหนดเยือนตั้งแต่วันที่ 22 - 23 ธันวาคม ตามกำหนดการที่เผยแพร่ออกมาเป็นการลงนามในบันทึกความเข้าใจประมาณ 4 ฉบับ แทบทั้งหมดเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจการค้า
อย่างไรก็ดี เนื้อหาสำคัญที่พยายามสื่อให้เห็นก็คือเป็นการเยือนเพื่อกระชับความสำคัญเกี่ยวกับ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ความสัมพันธ์ในภูมิภาค และที่น่าจับตาก็คือการเดินทางไปเยือนจีนคราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดการพบกับระดับผู้นำสูงสุดทั้งสิ้น นั่นคือ ได้พบกับ ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ประธานสภาประชาชนจีน จางเต๋อเจียง และนายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง แน่นอนว่าในทางเศรษฐกิจและการเมืองถูกมองว่าไม่ธรรมดาแน่นอน โดยเฉพาะการพบปะหารือกับระดับผู้นำสูงสุดของประเทศมหาอำนาจยุคใหม่อย่างจีนแบบนี้
ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันในแง่ยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ต้องบอกว่าเป็นการเชื่อมถึงกันระหว่างสองฝ่ายได้อย่างเหมาะเจาะ และถูกจังหวะเวลาเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญทั้งสองฝ่ายต่างได้ประโยชน์
หากทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในเวลานี้จีนกำลังมีปัญหาพิพาทในเรื่องดินแดนในหมู่เกาะทะเลจีนใต้ กับหลายประเทศในอาเซียน ทั้ง บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมทั้งไต้หวัน และ ญี่ปุ่น ขณะที่ไทยไม่มีปัญหาเรื่องนี้กับจีน ตรงกันข้ามมีความสัมพันธ์ที่ดีมากมานาน ขณะเดียวกัน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ถือว่าไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางเป็นยุทธศาสตร์เชื่อมต่อสำคัญ สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อจากจีนตอนใต้ออกทะเล อีกทั้งไทยยังเป็นจุดยุทธ์ศาสตร์ในการป้องกันการปิดล้อมจากฝ่ายตรงข้ามอย่าง เช่น สหรัฐอเมริกา ในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย
ขณะที่ไทยยังต้องการพึ่งพาจีนในด้านเศรษฐกิจ ตลาดสินค้าการส่งออก เทคโนโลยี เงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟขนาดรางมาตรฐานที่กำลังเดินหน้าเป็นรูปเป็นร่างอย่างรวดเร็ว
ที่น่าสังเกตก็คือ การพบหารือกับผู้นำจีนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือว่าเกิดขึ้นบ่อยมาก เพียงชั่วระยะไม่กี่สัปดาห์เท่านั้นเอง หากจำกันได้ เขาได้ พบเจรจาแบบทวิภาคีกับประธานาธิบ สีจิ้นผิง ที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างเข้าร่วมสุดยอดผู้นำเอเปกที่จีนเป็นเจ้าภาพ จากนั้นก็พบกับนายกรัฐมนตรีจีน หลี่เค่อเฉียง ระหว่างมาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เมียนมาร์ และล่าสุดเพิ่งมีการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าพบกับผู้นำจีนบ่อยมาก แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ประจวบเหมาะในวาระการประชุมสำคัญ แต่ทุกครั้งก็ย่อมมีการทำทางนำร่องไปก่อนทั้งสิ้น อย่างเช่นก่อนหน้านี้ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปเยือนจีนเมื่อราวสองเดือนก่อน ก็มีคณะใหญ่ของ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พร้อมทีมที่ปรึกษาชุดใหญ่เดินทางไปเจรจานอกรอบกันมาแล้ว หัวข้อสำคัญกลับกลายเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เจรจาขายข้าว ยางพารา รวมทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดรางมาตรฐาน
ดังนั้น การเดินทางไปเยือนจีนอีกรอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการพบปะกับผู้นำจีนชนิดที่เรียกว่าถี่ยิบแบบไม่ธรรมดา ในด้านยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ได้จังหวะเหมาะเจาะกันทั้งสองฝ่าย เป็นการถ่วงดุลกับสหรัฐฯที่ยังเรื่องมากกับสถานการณ์ในประเทศไทย ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งยังเหมือนกับว่าเป็นการบีบให้ญี่ปุ่นต้องรีบตัดสินใจเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนการลงทุนโดยเฉพาะในโครงการลงทุนในทวาย และเส้นทางรถไฟสายตะวันตกเชื่อมตะวันออกก่อนที่จะตกขบวนจีน
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากภาพรวมและผลที่ได้จากการเยือนจีน และการพบปะกับผู้นำจีนครั้งนี้ย่อมไม่ใช่เป็นเพียงแค่แนะนำตัว หรือแค่สร้างความคุ้นเคยกันในระดับผู้นำธรรมดา แต่นี่เป็นการพบกันระหว่างผู้นำที่จะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่ 5 - 6 เดือน แต่ให้จับตาแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือไปถึงปี 62-65 ซึ่งลักษณะแบบนี้ย่อมไม่ใช่รูปแบบของผู้นำเฉพาะกาล แต่ความหมายก็คือ “อยู่ยาว” เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังมองเห็นไม่ชัดต้องรอหลังจากการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งทางเดียว ถึงตอนนั้นจะเห็นภาพกว่านี้
แต่ถึงอย่างไรทุกอย่างขึ้นอยู่กับผลงานการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านมีความสุข ถ้าทำได้ดีเชื่อว่าคงไม่มีอะไรมาปิดกั้นได้ เพียงแต่ว่าทำได้หรือเปล่า เพราะเริ่มเจองานหินขึ้นเรื่อยๆ !!