เลขาฯ สมช.เผย ที่ประชุมเห็นชอบนโยบายความมั่นคงปี 58 - 64 ระบุ "บิ๊กตู่" เน้นงานเชื่อมโยงพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่การบริหารราชการแผ่นดิน ชี้ปรองดอง,ชายแดนใต้ และ สถาบัน สำคัญมาก พร้อม 12 กรอบนโยบาย ส่วนปีใหม่ "ประวิตร" สั่งตามข่าวใช้ กห.เป็นศูนย์บริหารความมั่นคงแบบบูรณาการ ดูแลความปลอดภัย รับตอนนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร ยันไม่ประมาทก่อการร้าย
วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น.นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2558 – 2564 โดยนายกฯได้เน้นย้ำว่าจะทำอย่างไรให้งานด้านความมั่นคงเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อนำไปสู่การบริหารราชการแผ่นดิน เพราะขณะนี้บ้านเมืองวิกฤติและมีความเชื่อมโยงของโลกเป็นตัวขับเคลื่อน จำเป็นต้องเดินควบคู่กันต่อไป ทั้งนี้ มี 3 เรื่องที่เป็นแกนหลักคือ เรื่องความปรองดองในชาติ เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรื่องสถาบันหลักของชาติซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการ เฝ้าดูแลและเฝ้าระวัง เพราะนายกฯได้ให้ความสำคัญมาก
นอกจากนี้ ในกรอบนโยบายความมั่นคงแห่งชาติยังมีนโยบายอีก 12 เรื่องด้วย อาทิ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.2558 -2562 ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว ซึ่งผลประโยชน์ของชาติในทะเลแต่ละปีมีมูลค่าสูงถึงกว่า 20 ล้านล้านบาท ในส่วนการเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจที่พยายามเข้ามาขยายอำนาจในภูมิภาคต่างๆ ในโลก ทำให้เราต้องเปลี่ยนบทบาทในเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงที่จะต้องวางกรอบการทำงานร่วมกับประเทศมหาอำนาจได้อย่างสมดุล
เลขาธิการสมช. กล่าวว่า สำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีการสั่งการอย่างต่อเนื่องให้ติดตามหาข่าว จัดระเบียบบริหารงานด้านความมั่นคง และมีศูนย์บริหารความมั่นคงแบบบูรณาการ ตั้งอยู่ที่กระทรวงกลาโหม โดยจะทำหน้าที่ประสานงานกับทุกกระทรวงและคสช.ในเรื่องการดูแลความปลอดภัย ซึ่งเป็นการดูแลปกติ ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ ทางการข่าวเองยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร ส่วนเหตุการณ์จับตัวประกันที่ประเทศออสเตรเลียไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประเทศไทย กรณีนี้มีสาเหตุมาจากวิธีคิดของคนๆ หนึ่งที่นิยมความรุนแรง เพราะผู้ก่อเหตุมีประวัติอยู่ แต่เราเองไม่ได้ละเลยในการเฝ้าระวัง มีความร่วมมือของการเฝ้าระวังกับนานาชาติอยู่