xs
xsm
sm
md
lg

นศ.สองกลุ่มโผล่ป่วนงานมอบรางวัล กสม. “อมรา” แนะสร้างสมดุลสิทธิบุคคล-สาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสม.จัดวันสิทธิมนุษยชนสากล มอบรางวัลผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิ ปี 56-57 และรางวัลที่เกี่ยวข้อง ปธ.กสม.ย้ำต้องพัฒนาสิทธิให้เกิดขึ้น แนะสร้างสมดุลสิทธิส่วนบุคคล-สาธารณะ คาดกม.ห้ามชุมนุมถกกันยาว ก่อนมีวุ่น ศนปท.-ดาวดิน ชู 3 นิ้วป่วน โวย กสม.ไม่ทำหน้าที่ตามหลักการ ตั้งแต่แดงชุมนุม พร้อมชูป้ายเลิกจ้าง ลั่นไม่ร่วมเวทีรัฐ อ้างอัยการศึกละเมิดสิทธิ ก่อน ตร.ระงับเหตุ ไร้การจับกุม

วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล โดยมีการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2556 และ 2557 โดยรางวัลที่น่าสนใจคือรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ปี 56 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดโปงเรื่องเครื่องจรวจระเบิดลวงโลกจีที 200 และนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่มุ่งทำงานเพื่อชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ปี 57 ได้แก่นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.เชียงราย ที่ทุ่มเทพัฒนาชนบทและคนชายขอบ นางจุรี วิจิตรวาทการ ผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวเรื่องสถานภาพสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างชายหญิง

นอกจากนั้นยังมีรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนปี 56 ได้แก่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและปกป้องสิทธิชุมชน และรางวัลเด็กและเยาวชน ได้แก่ กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ที่ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สังคม และเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการของภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน

โดยมีนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม.ปาฐกถาเรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทยต้องเข้าใจสิทธิมนุษยชน” มีใจควมตอนหนึ่งว่า ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันสิทธิมนุษยชนเป็นวาทกรรมที่พูดกันมากในสังคมไทย ในความรู้สึกของหลายคน สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องประสบการณ์ความรู้สึก ขณะที่หลายคนสัมผัสได้ว่าไม่สามารถขาดเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ จึงเห็นว่าสิทธิมนุษยชนไม่ใช่มโนทัศน์แต่เป็นประสบการณ์ชีวิตและการสัมผัสในเรื่องนี้ของแต่ละคนแตกต่างกัน ทำให้มีคำกล่าวที่ว่าเรามีความจริงคนละชุด อย่างไรก็ตามแม้เราจะมีประสบการณ์แตกต่างกันไป แต่เป็นเรื่องที่สังคมไทยและสังคมโลกเห็นว่าจำเป็นต้องพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้น เพื่อนำสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีสิทธิเสรีภาพและมีความเป็นธรรมที่เท่าเทียมกัน

นางอมรากล่าวอีกว่า ปัจจุบันเรามีการถกเถียงกันมากระหว่างสิทธิส่วนบุคคลกับสิทธิสาธารณะ ต้องพยายามสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพกับการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพว่าจุดสมดุลอยู่ตรงไหน เราถกเถียงกันว่ากฎหมายห้ามการชุมนุมสามารถมีได้หรือไม่ เพราะเป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลในการชุมนุม แต่ขณะเดียวกันการชุมนุมก็ไปกระทบสิทธิของสาธารณะ ซึ่งก็ต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน ประเด็นนี้คงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ สภาปฏิรูปแห่งชาติคงนำไปพิจารณา เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มองว่าเราต้องยอมเสียสละสิทธิส่วนบุคคลส่วนหนึ่งเพื่อคุ้มครองสิทธิพลเมือง ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านการปฏิวัติก็มองว่าสิทธิส่วนบุคคล สิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิทางการเมืองจะถูกละเมิดไม่ได้เด็ดขาด ข้อถกเถียงคงจะมีอยู่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เราคงต้องใช้วิจารณญาณว่าบางกรณีเราก็ต้องคำนึงถึงเรื่องสิทธิบุคคลเป็นหลัก แต่บางเรื่องก็ต้องคุ้มครองสิทธิสาธารณะ โดยยอมเสียสิทธิส่วนบุคคลบ้าง นอกจากนี้ความเสมอภาคเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ การที่เราจะบรรลุถึงสิ่งเหล่านี้และไปสู่สังคมที่เท่าเทียม มีวิธีการดำเนินการได้หลายรูปแบบซึ่งต้องอาศัย รูปแบบ และกระบวนการในการปฏิบัติ เราจะแก้ความเหลื่อมล้ำด้วยการปรับโครงสร้างอำนาจกฎระเบียบ ก็ลำบาก เพราะเรายังไม่สร้างกระบวนการจึงจำเป็นต้องสร้างกระบวนการให้เกิดขึ้นเสียก่อน โดยกระบวนการอาจต้องมีมาตรการชั่วคราว ที่จะนำพาสังคมไปสู่สังคมเท่าเทียมได้ ซึ่งจุดนี้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่จะช่วยกันคิดและปฏิบัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะที่นางอมรากล่าวเปิดงานอยู่นั้น ได้มีเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้น โดยกลุ่มเมล็ดพริก และนักศึกษาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) รวมประมาณ 5 คน ออกมาแสดงเชิญสัญลักษณ์ (ชูสามนิ้ว) บริเวณหน้าเวที พร้อมยังชูป้ายที่มีข้อความว่า “เลิกจ้าง กสม.” และได้มอบภาพการจับตัวนักศึกษาให้นางอมราด้วย โดยตัวแทนกลุ่มเมล็ดพริกให้เหตุผลว่า กสม.มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศ และตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การทำงานของ กสม.ตั้งแต่การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 53 จนถึงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 57 กสม.กลับไม่ได้ทำหน้าที่ตามหลักการอย่างตรงไปตรงมา มีการเลือกปฏิบัติ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งในยามที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้รัฐทหารได้ ดังนั้นการจัดงานวันนี้จึงเป็นการหลอกตัวเอง เพราะสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถึงจุดตกต่ำที่สุด ดังนั้นเราในฐานะผู้เสียภาษีจึงประกาศเลิกจ้าง กสม.

หลังจากนั้นก็ยังมีเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตัวแทนนักศึกษากลุ่มดาวดินที่ขึ้นรับรางวัลบนเวที ได้แสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วและต้องการอ่านคำประกาศของกลุ่ม แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตและเชิญตัวลงมาด้านล่างซึ่งตัวแทนกลุ่มดาวดินก็ได้อ่านประกาศระบุว่า กลุ่มดาวดินจะไม่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีที่รัฐบาลหรือ สปช.จัดขึ้น เพราะเห็นว่า คสช.ได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้อง และทางกลุ่มต้องการที่จะจัดเวทีประชาชนเอง เพื่อสะท้อนความอึดอัดของคนในสังคม และเห็นว่าการประกาศกฎอัยการศึกเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ จากเหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ทุ่งสองห้อง ต้องเข้ามาเจรจากับกลุ่มดังกล่าวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ไม่มีการจับกุมตัวแต่อย่างใด ก่อนที่กลุ่มดังกล่าวจะสลายตัว






















กำลังโหลดความคิดเห็น