xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ให้รางวัล"ดาวดิน" การันตีไม่ได้รับเงินแลกชู3นิ้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3 ธ.ค.) มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณา กรณีกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือกลุ่มดาวดิน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการที่ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาค 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) ให้สัมภาษณ์ในลักษณะปรักปรำกล่าวหาว่า การที่กลุ่มดาวดินออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เอารัฐประหาร และกฎอัยการศึก โดยการชู 3 นิ้วในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 พ.ย. เป็นการได้รับว่าจ้างมาจากนักการเมืองในพื้นที่ จำนวน 5 หมื่นบาท ซึ่งก็ได้มีตัวแทนนักศึกษากลุ่มดาวดิน ประกอบด้วย นายพายุ บุญโสภณ นายธีรยุทธ สิมหลวง นายจิรวิชญ์ ฉิมมานุกุล และ นายเจตน์สฤษฎิ์ นามโครต พร้อมด้วย น.ส.ศิริพร ฉายเพ็ชร เจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เข้าชี้แจงข้อมูล
ทั้งนี้ อนุกรรมการได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนนักศึกษากลุ่มดาวดิน ชี้แจงข้อเท็จจริงและสอบถามถึงความต้องการที่จะให้อนุกรรมการสิทธิช่วย ขณะเดียวกันก็ได้สอบถามถึงที่มาของกลุ่มดาวดิน การทำกิจกรรมแต่ละครั้ง งบประมาณที่ใช้ในการทำกิจกรรม และหลังการออกมาเคลื่อนไหวชู 3 นิ้ว การใช้ชีวิตเป็นไปโดยปกติหรือไม่ อย่างไร ซึ่งตัวแทนนักศึกษา กล่าวว่า กลุ่มดาวดิน เป็นการรวมตัวของนักศึกษาด้านนิติศาสตร์เป็นหลัก ที่ผ่านมาทำงานยึดหลักสิทธิมนุษยชน และเชื่อในหลักประชาธิปไตยมาตลอด โดยเน้นการเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน เรื่องสิทธิชุมชน กับกรณีเหมืองโปแตส อุดรธานี และ เหมืองทองวังสะพุง จ.เลย ไม่ได้เน้นการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในทางการเมือง แต่เมื่อมีการรัฐประหาร ออกกฎอัยการศึก ทำให้มีผลกระทบต่อการทำงานของกลุ่ม

**ปัดรับเงิน5หมื่นแลกชู 3 นิ้ว

ในวันที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปที่ จ.ขอนแก่น ทางกลุ่มฯ จึงต้องการไปแสดงออก เพราะการรัฐประหาร มันวนเวียนซ้ำซาก แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ไม่อยากให้วงจรอุบาทว์นี้คงอยู่ต่อไป ถือเป็นการไปแสดงออกจากจิตใจสำนึก ยืนยันว่า ไม่ได้รับเงินจากใคร และการเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิชุมชนที่ผ่านมา ก็ไม่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลนักการเมืองคนไหน งบประมาณที่ใช้ในการทำกิจกรรม จะเป็นงบส่วนตัว บางส่วนก็ได้รับสนับสนุนจากมูลนิธิโกมลคีมทอง ซึ่งเงินสนับสนุนที่เคยได้รับ ก็ไม่เคยได้ถึง 5 หมื่นบาท แต่เมื่อฝ่ายความมั่นคงอ้างว่ามีหลักฐาน ก็อยากให้แม่ทัพภาค 1 เอาหลักฐานออกมาแสดง เพื่อที่ทางกลุ่มจะได้ชี้แจงว่า หลักฐานนั้นจริง ไม่จริงอย่างไร และทางนักศึกษาก็อยากจะพูดคุยโดยตรงกับแม่ทัพภาค 1 แต่ก็ยังรู้สึกหวาดกลัว ไม่มั่นใจ เพราะที่ผ่านมาถูกเจ้าหน้าที่คุกคามต่อเนื่อง
ตัวแทนนักศึกษา ยังชี้แจงด้วยว่า แม้ขณะนี้จะสามารถไปเรียนหนังสือได้ตามปกติ แต่ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง คอยติดตามในลักษณะคุกคามอยู่ โดยมีการไปถ่ายรูปบ้าน ไปพบพ่อแม่ของนักศึกษา โดยไม่มีการแสดงตัวว่าเป็นใคร มาจากไหน และขณะเดียวกันนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว ก็ถูกมองในเชิงลบ เพราะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ด้านน.ส.ศิริพร กล่าวว่า เมื่อครั้งที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก นักศึกษากลุ่มดาวดิน เคยถูกเรียกไปรายงานตัว โดยขณะนั้นเจ้าหน้าที่อ้างว่า ไปเคลื่อนไหวที่หน้าห้างเซ็นทรัล โดยขอร้องไม่ให้เคลื่อนไหวอีก แต่ในการพูดคุยเจ้าหน้าที่ทหารพยายามที่จะสอบถามในลักษณะที่มีความเชื่อว่า กลุ่มดาวดิน มีความเชื่อมโยงกับขอนแก่นโมเดล โดยมีการระบุว่าอดีตสมาชิกกลุ่มที่จบการศึกษาไปแล้ว เข้าไปเคลื่อนไหว กับขอนแก่นโมเดล และยังซักถามอีกว่า กลุ่มดาวดิน รับเงินจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช่หรือไม่ เหมือนกับเจ้าหน้าที่ทหาร พยายามผลักดันนักศึกษาให้เข้าสู่กระบวนการที่จะจัดการ จึงขอยืนยันว่า กลุ่มดาวดินไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือขอนแก่นโมเดลแต่อย่างใด

**มอบรางวัลด้านสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า รู้จักกับกลุ่มดาวดินเป็นอย่างดี เพราะ กสม.ได้ทำบันทึกความร่วมมือกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เนื่องจากมีหลักสูตรกฎหมายสิทธิมนุษยชนกับสังคม มีการเรียนการสอนเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชน กับปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น เรื่องที่ดิน ป่าลุ่มน้ำ เป็นต้น นักศึกษากลุ่มดาวดิน จึงเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านสังคม และสิทธิมนุษยชน ยืนยันได้ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มไม่เกี่ยวข้องกับ การเมือง นักการเมือง โครงสร้างอำนาจ และไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง แต่เมื่อกลุ่มดาวดินเคลื่อนในเรื่องสิทธิชุมชน ก็ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับ สิทธิเสรีภาพ การแสดงออก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจมีความคิดคัดค้านการเมืองเกิดขึ้นกับกลุ่มนี้ จึงมีการแสดงออกทางการเมือง
"พื้นฐานของกลุ่มดาวดิน ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง การแย่งชิงผลประโยชน์ของนักการเมือง และไม่ได้รับเงินจากนักการเมือง หรืออยู่ใต้อาณัติใคร ใช้เงินส่วนตัว เงินพ่อแม่ในการทำกิจกรรม เพราะอย่างที่รู้กัน ในพื้นที่อีสานเวลาไปทำงานพื้นที่ ก็กินอยู่กับชาวบ้าน นี่เป็นคำยืนยันที่ผมได้จากคณบดีคณะนิติศาสตร์ ที่ใกล้ชิดกับนักศึกษากลุ่มนี้ตลอด"
นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า จากที่ได้โทรศัพท์ประสานไปยัง พล.ท.กัมปนาท แม่ทัพภาค 1 ก็ชี้แจงถึงการให้ข่าวดังกล่าวว่า ไม่ได้กล่าวพาดพิงกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง หรือพูดถึงจำนวนเงิน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 ธ.ค. สำนักงานฯ จะจัดงานเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งกลุ่มดาวดิน จะมารับรางวัลชนะเลิศด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ประเภทเด็กและเยาวชนของปี 56 โดยจะมีคณบดีเดินทางมาด้วย ตนก็จะประสานไปยัง พล.ท.กัมปนาท ว่าในวันดังกล่าวจะสะดวกมาพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน ได้หรือไม่

**ขู่งัดไม้เเข็งจัดการพวกป่วน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า มีนักการเมืองท้องถิ่นอยู่เบื้องหลังการออกมาต่อต้านการรัฐประหารของกลุ่มนักศึกษาที่ จ.ขอนแก่น ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงมหาดไทย มีการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปรองดอง ซึ่งหากมีการลงพื้นที่จะเข้าไปชี้แจง ทำความเข้าใจว่า สิ่งใดทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อชาติ สิ่งใดที่ไม่ควรทำ
"ถ้าใครไปทำในสิ่งที่ส่งผลต่อประเทศชาติ ผมขอเรียนว่าจะดำเนินการทุกอย่างที่ดำเนินการได้ เพราะว่าระยะนี้ ประเทศเราอยู่บนความขัดแย้ง ถ้าอาศัยความขัดแย้ง ไปทำให้เกิดเหตุการณ์ ประเทศชาติก็เดินไปไม่ได้" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการป้องกันการต่อต้านรัฐธรรมนูญที่กำลังจะออกมาอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า จุดสำคัญของรัฐธรรมนูญคือ การมีผลในอนาคตทำให้สังคมยอมรับ ทุกภาคส่วนทุกฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้ง หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง นักวิชาการผู้มีประสบการณ์ นักการเมือง ทำให้ได้ข้อยุติ ทะเลาะกันก่อน เถียงกันให้พอ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญออกมา อยากให้ทุกคนยอมรับ
เมื่อถามว่า การเสนอรัฐธรรมนูญมีหลายประเด็น ที่มีผลกระทบกับหลายองค์กร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ก็ให้เขาชั่งน้ำหนักกันเอง เอาชาติเป็นหลัก สังคมต้องไปได้ ประชาชนมีความสุข ส่วนจะกระทบองค์กรใดบ้างนั้น ตนไม่ทราบประเด็นดังกล่าว เพราะส่วนนี้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นผู้หาเรื่องกันคุยกันละเอียดเพียงไหนไม่ทราบ
กำลังโหลดความคิดเห็น