23 พรรคการเมืองตอบกลับความเห็นร่าง รธน. ส่วนใหญ่หนุนให้เลือกนายกฯผ่านระบบสภา เลือกตั้งแบบวันแมนวันโหวต คง ส.ส. ปาร์ตีลิสต์ 125 คน ค้านจำกัดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ส. และต้องสังกัดพรรคการเมือง ขณะที่ ส.ว. ควรมีแค่ 1 วาระ พร้อมดันเปลี่ยนแปลงกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ประสานเพื่อรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และองค์กรอื่นๆ ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้มีพรรคการเมืองได้ส่งความเห็นตามชุดคำถามที่ อนุ กมธ. ประสานเพื่อรับความคิดเห็นฯ เสนอไปจำนวน 23 พรรคการเมือง อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคมาตุภูมิ, พรรคชาติพัฒนา, พรรคภูมิใจไทย ซึ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ตอบกลับจดหมายดังกล่าว
สำหรับการประเมินความเห็นดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านระบบสภาผู้แทนราษฎรต้องการให้ใช้รูปแบบของ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา สำหรับที่มาของ ส.ส. 11 พรรคการเมือง เห็นด้วยกับระบบเขตเดียวเบอร์เดียว รองลงมา 7 พรรค เห็นว่าเขตละไม่เกิน 3 คน ส่วนระบบเลือกตั้งต้องการให้คง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ในจำนวน 125 คนเช่นเดิม ขณะที่การจำกัดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ส. มี 11 พรรคไม่เห็นด้วย ขณะที่ 10 พรรคเห็นด้วยกับการจำกัดวาระดำรงตำแหน่งให้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน
ส่วนประเด็นคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้สิทธิผู้สมัครที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ต้องการสร้างพรรคการเมือง ให้มีความมั่นคง และเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือซึ่งเป็นหลักของระบอบประชาธิปไตย
การกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของ ส.ว 11 พรรคการเมือง เห็นว่าต้องกำหนดไม่เกิน 1 วาระ รองลงมา 7 พรรค เห็นว่าไม่ควรกำหนด การกำหนดให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งและสรรหาเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งพรรคการเมือง 10 พรรค เห็นด้วย โดยมีเหตุผล คือ ควรปรับกระบวนการเลือกตั้งและสรรหาใหม่ โดยยึดในส่วนของสายวิชาชีพ รองลงมา 9 พรรคการเมือง ไม่เห็นด้วย
ส่วนกระบวนการสรรหา และวาระดำรงตำแหน่งของกรรมการในองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการสรรหาโดยมีข้อเสนอให้เปิดกว้างและคณะกรรมการสรรหาต้องมีความหลากหลายขณะที่วาระดำรงตำแหน่งเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรลดวาระดำรงตำแหน่งลง เช่น กรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าควรปรับลดจากวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี เป็น 5 ปี
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ อนุกรรมาธิการได้ส่งคำถามความเห็นไปถึง 74 พรรคการเมืองและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ผ่านทางจดหมาย ยังคงต้องรอรับผลความเห็นจากอีกหลายพรรคการเมือง รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วย