xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.ศปป.ชงเปิด 4 พันเวที ให้ ปชช.-นักวิชาการ-นศ.แสดงความเห็น สร้างปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร (แฟ้มภาพ)
ผอ.ศปป.แจงความคืบหน้าสร้างความปรองดอง น้อมนำพระราชดำรัส “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ดำเนินการ หวังให้ประชาชนมีจิตสำนึกความเป็นพลเมืองดี ร่วมขจัดความขัดแย้ง พร้อมรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน เปิด 4,268 เวที ให้ “ประชาชน-นักวิชาการ-นิสิต-นักศึกษา” ร่วมแสดงความเห็น ย้ำ คสช.จริงใจสร้างความปรองดอง

พล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสนามฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) แถลงความคืบหน้าในการดำเนินการสร้างความปรองดองว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อนประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่โรดแมป ระยะที่ 2 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เป็นช่วงเวลาของการปฏิรูปกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรไปพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นความรักความสามัคคี และสมานฉันท์ ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย เพื่อให้เป็นสังคมที่มีความมั่นคง และมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ดังนั้น การดำเนินงานของ ศปป.ตามโรดแมประยะที่ 2 ได้น้อมนำพระราชดำรัชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ และเป็นหลักคิด โดยมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ คือ 1. ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองที่ดีมีความรัก ห่วงแหน รักษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย รวมทั้งจงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

2. ดำเนินการรับทราบความคิดเห็นของประชาชน นิสิต และนักศึกษา นักวิชาการ ในสถาบันอุดมศึกษา และผู้ประกอบวิชาชีพต่าง จากทุกสาขาอาชีพ ในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ของ คสช. เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทย โดยปราศจากการใช้ความรุนแรง

พล.ท.พิสิทธิ์กล่าวว่า การจะบรรลุวัตถุประสงค์นั้น ทาง ศปป.ได้กำหนดแผนงาน 6 แผนงาน และ 9 โครงการโดยโครงการที่สำคัญ คือ ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขจัดข้อขัดแย้ง และเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจของประชาชน สำหรับการเปิดเวทีความคิดเห็นจะเปิดพร้อมกันทั้ง 4,268 เวทีทั่วประเทศ โดยมีชื่อโครงการว่า “คนไทยหัวใจเดียวกัน” โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล นิสิต นักศึกษา รวมทั้งบุคลากรในสถาบันการศึกษา และบุคลากรในสาขาอาชีพต่างๆ ได้ร่วมแลกเปิดความคิดเห็นตามกรอบการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน พร้อมทั้งให้เสนอความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยถ้าพื้นที่ใดมีความพร้อมก็สามารถเริ่มได้เลยเป็นต้นไป

ส่วนการเปิดเวทีตามพื้นที่ภาคต่างๆ นั้น ทางท่านแม่ทัพภาคจะมีตำแหน่งเป็น ผอ.ศปป.ภาค ต้องไปคุยกับแม่ทัพภาคนั้น ถ้าหากขอเปิดเวที เพราะบางเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อนจะต้องชี้แจงให้แม่ทัพภาครับทราบด้วย อย่างไรก็ตาม เวลาการทำงานของ ศปป.จะมีระยะเวลาทำงานถึงเดือนกันยายน 2558 ส่วนการสรุปความคิดเห็นเวทีทีต่างๆจะอยู่ในช่วงมิถุนายน ถึงกรกฎาคม 2558 จากนั้น ศปป.จะนำเอาข้อคิดเห็นประชาชนทุกเวทีมาสรุปเพื่อส่งให้ คสช. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเริ่มในเดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีการจัดงานมหกรรมเอกลักษณ์ไทยหัวใจ 4 ภาค เพื่อสร้างค่านิยม และจิตสำนึกของประชาชนทุกภาคส่วน โดยจะดำเนินการทั้งสิ้น 16 จังหวัด และในวันที่ 29 ธันวาคม ถึง 2 มกราคมนี้จะเริ่มกิจกรรม 4 จังหวัด คือ ลพบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช”

ส่วนการเปิดพื้นที่ทั่วประเทศ จะประเมินแรงต้านอย่างไร พล.ท.พิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าถ้ามหาวิทยาลัยใดพร้อมก็ต้องไปคุยกับนักศึกษาแต่ละกลุ่มว่ามีความคิดเห็นแบบใด ถ้ามีข้อเสนอให้ผ่อนปรนกฎอัยการศึก ตนคิดว่าการเปิดเวทีดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด 11 ด้านของการปฏิรูปก็ต้องอยู่ในกรอบดังกล่าวเท่านั้น

เมื่อถามต่อว่า การเปิดพื้นที่พูดคุยดังกล่าวอาจมีบางกลุ่มใช้เป็นการรวมตัวทางการเมือง พล.ท.พิสิทธิ์กล่าวว่า โดยข้อตกลงในการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่อยู่ในกรอบก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกหนักใจกับกลุ่มใดหรือไม่ พล.ท.พิสิทธิ์กล่าวว่า “ไม่หนักใจ เพราะผมคิดว่าทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน ไม่มีสีเสื้อใดๆ ทั้งสิ้น เป็นคนไทยด้วยกันต้องพูดคุยกันได้ และรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหา” เมื่อถามย้ำว่าถ้ามีแสดงสัญลักษณ์ประท้วงในเวที พล.ท.พิสิทธิ์กล่าวว่า “ผมขอร้องว่าอย่าทำให้ส่วนร่วมเสียเลย ถือเป็นสิ่งที่ไม่น่าทำ ก็ของให้มาร่วมกันปรองดองดีกว่า มีอะไรก็มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ้าเราปรองดองกันได้การเลือกตั้งก็เป็นไปตามกรอบเวลาแน่นอน”


กำลังโหลดความคิดเห็น