xs
xsm
sm
md
lg

“ธนะศักดิ์” ยันปฏิรูปตามกรอบเวลา เลขาฯ ไอพียูแนะสร้างการมีส่วนร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร (แฟ้มภาพ)
“ธนะศักดิ์” ให้ความมั่นใจจะปฏิรูปตามกรอบเวลาที่กำหนดเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง “พรเพชร” ยึดหลัก 5 ข้อในการออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ เลขาฯ ไอพียู แนะปฏิรูปต้องสร้างการมีส่วนร่วม ยอมรับความเห็นต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (3 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร จัดงานสานเสวนาปฏิรูป “On the Path to Reform” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ประสบการณ์การปฎิรูปของประเทศต่างๆ โดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การเข้ามาบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อต้องการนำประเทศไทยออกจากวิกฤต โดย คสช.มีโรดแม็พการทำงานเพื่อการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นรัฐบาลขอให้ความมั่นใจว่าเราจะดำเนินการปฏิรูปให้เสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งและการมีธรรมาภิบาล

การเสวนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก และเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูป โดยเราจะจัดงานลักษณะนี้อีกเรื่อยๆทั้งในและต่างประเทศแล้วจะมีการรวบรวมความเห็นทั้งหมดเพื่อนำสิ่งที่ดีมาใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อไปจนได้สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อการปฏิรูป ส่วนคนไทยในต่างประเทศที่อยากมีส่วนร่วมในการปฏิรูปนั้น สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่างๆ จะจัดสัมนากลุ่มย่อยเป็นระยะอยู่แล้ว และขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างเปิดเว็บไซต์ www.thailandconnect.com เพื่อเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นจากคนไทยในต่างประเทศ จากนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะรวบรวมความเห็นดังกล่าวและส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อไป

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการปฏิรูปประเทศเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งการดำเนินงานเป็นไปตามโรดแม็พที่ คสช.ตั้งไว้ โดยขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 เป็นการบริหารบ้านเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดย สนช.ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในการออกกฎหมาย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ สนช.มีหลักการสำคัญในการออกกฎหมาย 5 ข้อ คือ 1. มีความเป็นธรรม 2. สอดคล้องกับหลักนิติธรรม 3. เคารพสิทธิ 4. ต้องเป็นประเด็นที่สร้างความปรองดอง แต่ไม่สร้างความขัดแย้ง และ 5. ลดความเหลื่อมล้ำ ตนขอยืนยันว่าสมาชิก สนช. พยายามออกกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว รวมถึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและมาตรฐานระหว่างประเทศ นอกจากนี้ สนช.เปิดโอกาสให้กับประชาชนร่วมเสนอความคิดเห็นเข้ามาประกอบในการออกกฎหมายอยู่ตลอด

ประธาน สนช.กล่าวว่า แม้ สนช.จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เราก็ต้องเคารพและรับฟังเสียงของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นการปฏิรูปจะสำเร็จได้ต้องได้รับความเข้าใจและการยอมรับจากประชาชน ส่วนการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น สนช.ได้เสนอชื่อบุคคลเข้าร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ และเสนอแนะข้อคิดเห็นต่างๆ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายมาร์ติน ชุนกอง เลขาธิการสหภาพรัฐสภา (ไอพียู) กล่าวว่า เหตุการณ์ในประเทศไทยไม่เหมือนกับต่างประเทศ วิธีแก้ปัญหาของไทยจึงต้องมาจากคนไทย และสิ่งสำคัญของการปฏิรูป คือ การเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมา และการดึงทุกฝ่ายให้เข้ามาร่วมกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องและวิธีแก้ไขปัญหา ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นปัญหาขึ้นในอนาคต การปฏิรูปเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ดังนั้นการใช้ความคิดและการหารือกันจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การปฎิรูปมีความก้าวหน้า และการปฏิรูปจะเป็นบวกได้ถ้าอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี นอกจากนี้แนวคิดประชาธิปไตยจะต้องเคารพกฎเกณฑ์ อยู่บนพื้นฐานที่เคารพสิทธิมนุษยชน และไม่มีอคติ อีกทั้งรัฐสภาควรเป็นศูนย์กลางการปฏิรูปของประเทศไทย ดังนั้น รัฐสภาต้องเป็นสถาบันที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับความแตกต่างและส่งเสริมความกลมเกลียวในสังคม

อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์ประชาธิปไตยยังอยู่ที่ระดับของความอดทนของคนในสังคม และสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ส่วนรัฐบาลพรรคการเมืองต้องอดทนต่อการแสดงออกของฝ่ายตรงข้ามได้

ขณะที่นายเสข เสขวรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในวงเสวนามีผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วมแสดงความเห็น อาทิ ผู้แทนจากประเทศโปรตุเกสที่มีประสบการณ์ด้านทหารที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองเป็นระยะ ผู้แทนจากสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมันให้ความเห็นในเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมจากประชาชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเสวนา ทางการะทรวงการต่างประเทศจะมีการรวบรวมความเห็นจากเวทีนี้ เพื่อเป็นส่วนประกอบต่อสนช.และสปช.ต่อไปสำหรับการจัดเสวนาครั้งต่อไปนั้นอาจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2558 และจะพยายามจัดให้ครบทั้ง 11 ด้านตามหัวข้อที่มีการปฏิรูป ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้ครบถ้วนภายในเดือน มิ.ย.2558


กำลังโหลดความคิดเห็น