xs
xsm
sm
md
lg

สารพัดสีร่วมเล่นละครเวทีสถาบันพระปกเกล้า ชูแนวทางแตกต่างแต่ไม่แตกแยก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 6 สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดงาน "สันติสุขเกิดได้ ภายใต้ความแตกต่าง" เพื่อนำเสนอผลงานวิชาการประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองและสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และเสนอผลงานละครเวทีเรื่อง "The Last Station สถานีปลายทาง" ซึ่งเป็นการแสดงร่วมกันของนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตร โดยมีผู้มีชื่อเสียงทางการเมืองจากฝ่ายต่างๆ ร่วมแสดง

สำหรับนักแสดงทั้งหมดเป็นนักศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติ หรือ สสสส. รุ่นที่ 6 ของสถาบันพระปกเกล้า และที่สำคัญคือ นักแสดงเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง ต่างความคิด ต่างมุมมอง แต่กลับมาร่วมกันแสดงละครเวทีสะท้อนสังคมได้ ได้แก่ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง, นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน และอดีตแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), นางพะเยาว์ อัคฮาด อดีตกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายศิริชัย ไม้งาม สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตแกนนำ พธม.รุ่น 2

ทั้งนี้มีบุคคลสำคัญร่วมชมการแสดงครั้งนี้ เช่น บิ๊กจิ๋ว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามก่อนจะมาถึงการแสดงละครเวทีสะท้อนสังคมความเห็นต่างพลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายตลอดหลักสูตรระยะเวลา 9 เดือน ด้วยการปรับทัศนคติความเห็นต่างของทุกฝ่ายให้รวมเป็นหนึ่ง และการแสดงละครเวทีก็เป็นความต้องการของนักศึกษา สสสส.รุ่นที่ 6

สำหรับหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม ท่ามกลางความขัดแย้งและความเห็นต่าง พลเอกเอกชัย ระบุว่า คือพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและการรับฟัง เพื่อนำมาร่วมกันหาทางออกของปัญหา

“หลักสูตรนี้ให้คำตอบได้ว่าคนที่ต่างฝ่ายเคยทะเลาะกันกลับมามีทัศนคติที่ดีต่อกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างไร โดยไม่ต้องเปลี่ยนอุดมการณ์และความจริงที่ตนเองเชื่อ แต่ทำให้เห็นว่าสามารถอยู่ร่วมกันและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ การสร้างพื้นที่ที่คนเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้ และมองถึงอนาคตข้างหน้าได้ ปลายทางคือสังคมสันติสุข” พล.อ.เอกชัยกล่าว

นอกจากบรรดาแกนนำผู้เห็นต่างทางการเมือง ยังมีเพื่อนร่วมรุ่นกว่า 90 คนมาจากหลากหลายวงการ ทั้งข้าราชการ นักธุรกิจ ผู้พิพากษา ทนายความ เอ็นจีโอ แพทย์ พยาบาล สื่อมวลชน และอีกมากมาย เรียกว่าครอบคลุมแทบทุกอาชีพในสังคมไทย ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมในการสะท้อนให้เห็นว่า สังคมที่มีความคิดเห็นต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้

ด้านนพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการที่ปรึกษาบริหารหลักสูตรสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดงานว่า สังคมสันติสุขเป็นสิ่งปรารถนาของมนุษยชาติ มีปัจจัยสำคัญที่สุดคือความเป็นธรรม ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่งจะสร้างได้ อยู่ที่สังคมทั้งหมดร่วมกัน และผู้นำที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ หลักสูตรนี้ทำเพื่อเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจริง จะเผชิญความจริงที่ยากซับซ้อน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการฝ่าความยากร่วมกันไปสู่ความสำเร็จ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน 8 ประการ คือ 1.เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคน 2.ออกจากมายาคติมาสู่ความรู้ในตัวคน 3.มีความเอื้ออาทรต่อกัน 4.เปิดเผยและจริงใจต่อกัน 5.เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน 6.การรวมตัวให้เกิดปัญญาร่วมและนวัตกรรม 7.ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จได้ และ 8.เกิดความสุขอันลึกซึ้ง

จากนั้นได้มีการนำเสนอผลงานวิชาการ โดยมีข้อเสนอแนวทางเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างความปรองดอง คือ 1.ต้องขจัดเงื่อนไขหรือสภาวะที่ไม่เอื้อหรือเป็นอุปสรรคในการเปิดพื้นที่พูดคุย 2.เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยและรับฟังกันอย่างจริงใจ และ 3.เปิดโอกาสให้มีกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 โดยเฉพาะประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิสาธารณะ รวมทั้งมีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น