รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เตรียมจัดสรรที่ดินทำกิน 5.3 หมื่นไร่ แก่ประชาชนหมื่นรายใน 4 จังหวัด นำร่อง “เชียงใหม่ - มุกดาหาร - ชุมพร - นครพนม” คุณสมบัติรายได้ต่อปีไม่เกิน 3 หมื่น ลั่นเป็นของขวัญประชาชนยกแรก ด้านนายกฯ ลั่นไม่ปล่อยให้บุกรุกป่าต้นน้ำเด็ดขาด
วันนี้ (2 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการในระยะเวลา 1 เดือน ที่ผ่านมา และได้มีการอนุมัติโครงสร้างการทำงาน เกี่ยวกับการปฏิบัติการในพื้นที่เพิ่มเติม โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ เป็นประธานอนุกรรมการผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ ทางคณะอนุกรรมการจัดสรรที่ดินได้มีการเสนอลักษณะที่ดินที่จะจัดสรรให้กับประชาชนว่ามี 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ 1. พื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่มีคนอยู่อาศัยพร้อมจัดสรรให้ทันที่ จำนวน 5 พันไร่ 2. พื้นที่ที่มีราษฎรเข้าไปทำกินโดยไม่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 4.5 ล้านไร่ 3. พื้นที่ที่ยังต้องพิสูจน์สิทธิ์ จำนวน 14 ล้านไร่
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้สอบถามผู้ดำเนินการว่า ในระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ธ.ค. 57- ก.พ.58 จะสามารถดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนได้จำนวนเท่าใด และขอให้เร่งจัดการดำเนินการดังกล่าว และทางอนุกรรมการที่รับผิดชอบได้รายงานว่า ใน 3 เดือน จะจัดสรรพื้นที่ให้ประชาชนได้จำนวน 5.3 หมื่นไร่ ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ มุกดาหาร ชุมพร และ นครพนม โดยจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 1 หมื่นราย โดยการพิจารณาให้ที่ทำกินนั้น กระทรวงมหาดไทยจะพิจารณาในหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งภูมิลำเนา รายได้ต่อปี ไม่เกิน 3 หมื่นบาท เป็นต้น ซึ่งถือเป็นของขวัญให้กับประชาชนยกแรก และขั้นตอนการดำเนินการจะต้องส่งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวจะทำได้จริงหรือไม่ หากสามารถทำได้ ก็จะส่งต่อให้กระทรวงมหาดไทยจัดคนลงในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้กำชับว่า จะไม่ปล่อยให้มีการบุกรุกป่าต้นน้ำอย่างเด็ดขาด ซึ่งต้องเตรียมพื้นที่รองรับให้กับประชาชนที่บุกรุกป่าต้นน้ำ ก่อนที่จะให้เขาออกจากพื้นที่
เมื่อถามว่า ตลอดโครงการจะสามารถจัดสรรที่ดินได้จำนวนเท่าใด และมีผู้ได้รับประโยชน์จำนวนเท่าใด พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ประเทศไทยมีผู้มีรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี จำนวน 1.6 ล้านคน ส่วนจะจัดสรรพื้นที่เท่าใดนั้นคิดว่าจากจำนวนผู้มีรายได้น้อย จัดสรรอย่างไรคงไม่เพียงพอ จึงมีแนวคิดว่าจะต้องจัดเป็นรูปแบบสหกรณ์ หากประชาชนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ก็คิดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ซึ่งระยะเวลาต่อไปใน 6 เดือน 9 เดือน 1 ปี ก็จะทยอยจัดสรรพื้นที่ต่อไป และไม่อยากให้เรียกว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการแจกที่ดิน หรือธนาคารที่ดิน แต่การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นในรูปแบบสหกรณ์ที่จะให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากที่ดินร่วมกัน
เมื่อถามการดำเนินการกับผู้ที่บุกรุกพื้นที่ป่า หรืออุทยาน ในช่วงที่ผ่านมามีตัวเลขเท่าไหร่ พล.อ.ดาว์พงษ์ ตนจำตัวเลขไม่ได้ แต่การดำเนินการกับผู้ที่บุกรุกพื้นที่ป่าหรืออุทยาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ นายทุนที่ได้เอกสารสิทธิมาโดยไม่ชอบ และคนจนที่บุกรุกโดยเจตนา หรือเป็นนอมินิกับนายทุน ซึ่งส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในวันที่ 4 ธ.ค. นี้ จะมีการสรุปแผนที่จะดำเนินการกับพื้นที่ดังกล่าว และชี้แจงให้สื่อมวลชนทราบในภาพรวม และเป็นคนละส่วนกับการจัดสรรที่ดินทำกิน