ผ่าประเด็นร้อน
จะเรียกได้ว่าเป็นการพูดเน้นย้ำตลอดเวลา ไม่ว่ามีโอกาสไปพูด ไปบรรยายที่ไหนก็ตาม สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ว่ารัฐบาลของเขาจะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่เรียกรับผลประโยชน์แม้แต่บาทเดียว สำหรับตัวเขาแม้แต่สลึงเดียวก็ไม่เอา คนอื่นก็ไม่ให้เอา ถ้าพบว่าใครทุจริต ให้หาหลักฐานมาจะดำเนินคดี ไม่เว้นแม้แต่รัฐมนตรี หากมีหลักฐานทุจริตก็จะต้องถูกปรับออก และยืนยันว่ารัฐบาล และ คสช. จะทำงานอย่างโปร่งใส
ล่าสุด ระหว่างเป็นประธานมอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมและอุตสาหกรรมดีเด่นประจำปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เน้นย้ำเรื่องดังกล่าว หรือแม้แต่ก่อนออกเดินทางไปลาว ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก็พูดเรื่องทำนองนี้อีก เพียงแต่ว่าได้เพิ่มเอาเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนเข้ามาด้วย นั่นคือแนวคิดที่จะ “จดทะเบียนคนมีรายได้น้อย (คนจน)” ทั่วประเทศ
คำพูดของนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งใจจะทำเรื่องดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ยักษ์ เกาะกินบ้านเมืองมาช้านานและนับวันจะยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น เป็นเรื่องที่ดีและสมควรให้กำลังใจให้ทำให้สำเร็จให้ได้โดยเร็ว อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงมัน “สวนทางกับคำพูด” ยังไปไม่ถึงไหน
เพราะในทางตรงกันข้ามข่าวคราว “ข่าวลือ” เรื่องการทุจรตคอร์รัปชันกลับมีหนาหูเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเป็นข้อมูลที่ออกมาจากปากของ อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ที่ยืนยันว่ามีข้อมูลมีข่าวเข้ามาว่า “มีการตกลงกันนอกรอบ” จนทำให้ไม่แน่ใจว่าจะมีการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันได้จริงหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องปรองดองที่อดีตนายกฯผู้นี้กล่าวเตือนว่าแม้จะทำพร้อมกันได้ แต่ต้องแยกจากกัน เพราะการปรองดองไม่ใช่การประสานผลประโยชน์
คำพูดและคำเตือนของ อานันท์ ปันยารชุน น่าสนใจ และน่ารับฟังตรงที่ว่าเขาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารในอดีตที่เป็นคนพูดเรื่อง “ความโปร่งใส” เป็นคนแรกจนได้รับการยอมรับ ขณะเดียวกัน เมื่อพ้นจากเก้าอี้ดังกล่าวไปแล้วก็ยังอยู่ในแวดวงภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งนั่นอาจเป็นที่มาของการได้รับ “ข่าวลือ” ที่ว่านั้นก็ได้
แน่นอนว่าหากพูดถึงเรื่องการทุจริตก็ย่อมเพ่งมองไปยังรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยเฉพาะจากโครงการที่เห็นกันอยู่ตำตาที่สร้างความเสียหายกับบ้านเมืองเหลือคณานับ นั่นคือโครงการรับจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท แต่จนบัดนี้ภายใต้ “อำนาจพิเศษ” การตรวจสอบกลับดำเนินการไปอย่างเชื่องช้า หรือเวลานี้ดูเหมือนจะหยุดนิ่งไม่ค่อยพูดถึงกันแล้ว และสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามส่งสัญญาณออกมาก็คือให้ดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ภายใต้เงื่อนไข “ให้อยู่นิ่งๆ” อย่าเคลื่อนไหว “ล้ำเส้น” เป็นใช้ได้
ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับ อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีกรณีอื้อฉาวจากโครงการรับจำนำข้าว ออกมาประกาศในทำนองว่า “จะกลับมาหลังเลือกตั้ง ปี 59” และได้ทีกระแทกเข้าใส่ไปดอกใหญ่ว่า "เหมือนถูกปล้นชิงรถกลางทาง” ซึ่งก็ได้ผล ได้รับการตอบโต้กลับมาอย่างทันควันทำนองว่า “ให้หยุดพูดทันที” ไม่เช่นนั้นจะถูก “กักบริเวณ” และห้ามทำธุรกรรมการเงิน ความหมายก็คือ “อาจถูกอายัดทรัพย์” ตามมาก็เป็นได้ ทำเอาเงียบเสียงไปสนิท
อย่างไรก็ดี ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงท่าทีให้เห็นอย่างชัดเจน โดยกล่าวตอนหนึ่งระหว่างการเป็นประธานมอบรางวัลแก่อุตสาหกรรมยอดเยี่ยมและดีเด่นประจำปี 2557 เป็นการเคลียร์ให้เข้าใจทั่วกันจากคำพูดต่อไปนี้ว่า "ก่อนหน้านี้ ต่างประเทศเข้าใจว่า เข้ามาเพื่อยึดทรัพย์ ยึดอำนาจ ยึดกิจการ ไม่มี เราไม่ทำอย่างนั้น แต่มาอำนวยความสะดวก ไม่ใช่เข้ามาทำให้ยากขึ้นกว่าเดิม ต้องมองหลายระดับ”
ความหมายก็คือภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และภายใต้รัฐบาล ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่มีการอายัดหรือยึดทรัพย์บุคคลในรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่ทุจริตและก่อความเสียหายกับเงินงบประมาณของรัฐจำนวนมหาศาลเพียงใดก็ตาม เพราะต้องการให้ดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ อย่างไรก็ดีในความเป็นจริง เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 6 เดือนแล้วกลับไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลและคสช.ได้จัดการกับการทุจริตอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมสักรายเดียว
จนกระทั่งมีข่าวลือออกมาหนาหูเรื่อยๆ จนแม้กระทั่ง อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน ยังทนไม่ไหวต้องออกมากระทุ้งเข้าอย่างจัง แต่ปฏิกิริยาที่โต้ตอบกลับมาก็คือ “ให้ไปหาหลักฐานมาว่าใครโกง” กลายเป็นแบบนั้นไปเสียอีก
ดังนั้น การเน้นย้ำเรื่องการปราบปรามทุจริต และยืนยันไม่เรียกรับผลประโยชน์แม้แต่สลึงเดียว แต่กลับไม่เคยมีการดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมสักราย ทำราวกับว่าประเทศไทยเป็นชาติที่ไม่มีปัญหาเรื่องการรับสินบน ไม่มีเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ จนองค์กรจัดลำดับด้านความโปร่งใสระหว่างประเทศยกนิ้วให้หรือจัดอันดับอยู่ระดับเกรดเออะไรประมาณนั้น แต่เมื่อความจริงอันเจ็บปวดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ผู้นำหรือผู้มีอำนาจกลับเน้นย้ำเรื่องการกวาดล้างทุจริตรายวัน มองอีกด้านหนึ่งมันก็ย่อมถูกเย้ยหยันว่า “ดีแต่พูด” นั่นแหละ !!