xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ถกผู้พิพากษา ทำคู่มือสืบสวนทุจริตเลือกตั้ง หลังพบโกงแต่ฟันยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญส่ง น้อยโสภณ (แฟ้มภาพ)
กกต.จัดถกการดำเนินคดีเลือกตั้ง ดึงผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ จัดทำคู่มือสืบสวนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ หลังพบปัญหาเพียบ เอาผิดพวกทุจริตเลือกตั้งยาก

นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย เปิดเผยว่า สำนักงาน กกต.ได้จัดให้มีการประชุมเชิงวิชาการเรื่องการดำเนินคดีเลือกตั้งระหว่างวันที่ 17-19 ธ.ค. 2557 ที่โรงแรมโนโวเทล ภูเก็ต ปาร์ค รีสอร์ท อ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต โดยมีประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ผู้พิพากษาและผู้ช่วยผู้พิพากษาแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ประธานแผนกคดีเลือกตั้งศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 ผู้พิพากษาและผู้ช่วยผู้พิพากษาในแผนกคดีเลือกตั้งของศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 และเลขานุการศาลฎีกา เลขานุการศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 รวมทั้งผู้บริหารด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย และสำนักวินิจฉัยและคดีของสำนักงาน กกต. เพื่อจัดทำคู่มือแนวทางการสืบสวนสอบสวนในคดีแต่ละประเภทให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

นายบุญส่งกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เนื่องจากการปฏิบัติงานที่ผ่านมา เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีในศาลมีข้อขัดข้องทำให้การดำเนินการไม่คล่องตัวหลายประการ โดยเฉพาะสำนวนที่ กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 เช่น การยื่นคำร้องต่อศาลจะต้องส่งสำเนาการสืบสวนสอบสวนทั้งหมด รวมทั้งมติของอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต.จังหวัด อนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้งและมติของ กกต. ที่ต้องแนบท้ายคำร้องไปด้วย ซึ่งศาลจะต้องส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้เกี่ยวข้องทราบ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบรายละเอียดของสำนวนโดยเฉพาะรายชื่อและคำให้การของพยานในคดีทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการนำพยานมาเบิกความต่อศาล เนื่องจากพยานถูกข่มขู่คุกคาม หรือเมื่อศาลมีคำสั่งให้ผู้รับมอบอำนาจจากกกต.ไปบันทึกคำพยานตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่ปรากฏว่าพยานบางรายไม่ยอมรับหมายเรียกไม่ยินยอมให้บันทึกคำพยาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ามีหลายกรณี เช่น การซื้อสิทธิขายเสียง การย้ายบุคคลเข้ามาในทะเบียนบ้าน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ หรือการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้ง แต่มาปรากฏหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ทำให้ต้องเพิกถอนผลการเลือกตั้ง ซึ่งกรณีเหล่านี้แม้ข้อเท็จจริงที่ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลจะมีลักษณะทำนองเดียวกันแต่ก็มีบ่อยครั้งที่ศาลอุทธรณ์ภาคมีคำวินิจฉัยแตกต่างกัน ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน ทางสำนักงาน กกต.จะได้นำข้อเสนอแนะและข้อแนะนำจากทางศาลมาปรับปรุงการทำงาน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น