ทนาย “ยิ่งลักษณ์” เผยเร่งคัดลอกสำนวนถอดถอน อ้างคืบหน้าน้อย บอกยังหาพยานเพิ่มไม่ได้ สวน “หมอวรงค์” ยันให้คนนอกมาแจงไม่ได้ โวยข้อบังคับไม่ค่อยเป็นธรรม บีบผู้ถูกกล่าวหา ถาม สนช. ใครอ่านสำนวนครบบ้าง หวังไม่ยอมให้กระแสสังคมบีบ
วันนี้ (16 พ.ย.) นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการเตรียมข้อมูลที่ใช้ในการต่อสู้ในชั้นการพิจารณาถอดถอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในคดีที่คณะกรรมาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่งในข้อหาปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว หลังจากมีกระแสข่าวว่าจะมีการถอดถอนวันที่ 25 ธ.ค. ว่า ขณะนี้ทีมทนายได้ระดมกำลังคัดลอกสำนวนอย่างเต็มที่ แต่คืบหน้าไปได้น้อยมาก ซึ่งตามกำหนดจะต้องยื่นขอเพิ่มเติมพยานเอกสาร ในวันที่ 22 พ.ย. นี้ แต่ปรากฏว่าตรงกับวันเสาร์ ทำให้ต้องเลื่อนขึ้นมาเป็นวันที่ 21 พ.ย. แทน รู้สึกบีบหัวใจมากเพราะเวลางวดเข้ามามากขึ้น และยังไม่สามารถระบุพยานเพิ่มเติมได้ เนื่องจากยังไม่ทราบว่า ป.ป.ช. ตัดพยานที่เราเสนอไปในระหว่างไต่สวนเป็นใครบ้าง ทั้งนี้ หลังคัดสำนวนเสร็จสิ้น ทางทีมทนายจะสรุปประเด็นและหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกครั้ง
ส่วนกรณีที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ สนช. ให้เชิญ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาให้ข้อมูลในที่ประชุม สนช. นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ตามข้อบังคับ สนช. ไม่สามารถทำได้เพราะถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับสำนวน เนื่องจากข้อบังคับระบุว่าให้ยึดตามสำนวน ป.ป.ช. เท่านั้น จะขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานที่นอกเหนือจากสำนวนไม่ได้ เว้นแต่พยานของผู้ร้อง ที่เสนอแล้ว ป.ป.ช. ไม่รับเท่านั้น ไม่สามารถหาพยานปากใหม่มาให้การได้ ส่วนของ ป.ป.ช. ถือว่าจบแล้ว เพราะตามข้อบังคับ สนช. ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ถูกกล่าวหา
“เท่าที่ดูข้อบังคับดังกล่าว อยากถามว่าเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาแค่ไหน เพราะเมื่อเรายื่นพยานบุคคลขอให้สอบปากคำ แต่ ป.ป.ช. ตัดทิ้ง แต่ในการพิจารณาของ สนช. ระบุให้เรายื่นพยานหลักฐานเป็นเอกสาร เฉพาะในส่วนที่ป.ป.ช.ไม่รับ ไม่ให้นำพยานบุคคล ฉะนั้นบุคคลที่เราอยากให้พูดจึงไม่อยู่ในสำนวนอยู่แล้ว และไม่สามารถเอาเข้าไปอยู่ในสำนวนของ สนช. ด้วย ในทางคดีถือว่าไม่ค่อยจะเป็นธรรมเมื่อเทียบกับกระบวนการของศาล ซึ่งการระบุแบบนี้ถือเป็นการบีบผู้ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นคุณยิ่งลักษณ์ หรือใครก็ตาม ผมเข้าใจว่าแม้จะมีการลอกข้อบังคับต่อๆ กันมา แต่อันไหนที่ดูแล้วในทางปฏิบัติมันไม่เป็นธรรมก็ควรจะมีการแก้ไข” นายนรวิชญ์ กล่าว
นายนรวิชญ์ กล่าวต่อว่า ตนไม่ได้ตำหนิข้อบังคับว่าไม่ให้ความเป็นธรรม แต่ถ้าใครได้ทำคดีก็จะเห็นว่าเป็นธรรมหรือไม่ที่กำหนดเวลาและขั้นตอนไว้เช่นนี้ เพียงแต่ต้องการบอกว่า ในอนาคตผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น สนช. หรือวุฒิสภา ควรแก้ไขให้มีเวลาพอสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะกำหนดล็อคไว้เลยว่า 30 วัน แล้วส่งให้พิจารณา 15 วัน ขอถามว่า วันนี้มี สนช. คนไหนบ้างที่อ่านสำนวนครบทั้ง 3,870 หน้า พวกท่านอาจจะอ่านหรือไม่อ่านหรืออ่านแค่สรุปก็ได้ แต่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องอ่านทุกหน้า เพื่อทำการต่อสู้
“ยอมรับว่า มีความกดดันจากสังคมอย่างมาก เพราะสังคมชอบพิพากษาไปก่อน เรื่องคดีบางครั้งเอาสะใจไม่ได้ แต่สังคมไทยถ้าเชียร์ฝ่ายไหนก็จะไม่รับฟังความเห็นอีกฝ่าย ถ้าไม่ใช่พวกตัวเองก็ไม่รับฟังเลย แต่เชื่อว่า สนช. ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์คงไม่ยอมให้กระแสสังคมมาบีบได้” นายนรวิชญ์ กล่าว