xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ไม่สน “อภิรัฐมนตรี” เหน็บข้อเสนอดีๆ มีเยอะทำไมไม่ตื่นเต้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เมินแนวคิด “อภิรัฐมนตรี” ย้อนถามข้อเสนอดีๆ มีตั้งเยอะทำไมไม่ตื่นเต้น แนะอย่าห่วงข้อเสนอต่างๆ ที่ออกมาจะสร้างความแตกแยก เพราะอยู่ในช่วงโยนหินถามทาง อยู่ที่ว่า กมธ.ยกร่างฯ จะเอาหรือไม่ เมื่อตกผลึกแล้วก็จะร่าง รธน.ออกมา ส่วนการทำประชามติต้องดูหลังคลอด รธน.แล้วว่าควรจะทำหรือไม่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดนักวิชาการที่เสนอให้มี อภิรัฐมนตรีว่า ตนไม่ทราบแนวคิดนี้ ไม่ได้เอาใจใส่ รู้ว่ามีการเสนอแนวคิดนี้แต่ไม่รู้ว่าเอามาเกี่ยวอะไรเวลานี้ ไม่ได้สนใจที่จะตาม ถือเป็นข้อเสนอหนึ่งในร้อยในพัน ไม่มีอะไรตื่นเต้น และตนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาตื่นเต้นอะไรกัน มีข้อเสนออื่นดีๆ ตั้งเยอะ

“ข้อเสนอของผม 3 แนวทางดีจะตายไม่เห็นมีใครพูด ข้อเสนอของผมไม่ใช่ว่าดีที่สุด เสนอแล้วเขาจะเอาหรือไม่เอาก็ช่าง เชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร แต่วันนี้ใครมีข้อเสนออะไรดีๆ หน่อยก็ช่วยเสนอกันหน่อยก็แล้วกัน และถือเป็นเรื่องที่ดี ข้อเสนอเหล่านี้จะตกผลึกหลังจากวันที่ 19 ธ.ค. เพราะมีกำหนดว่าภายใน 60 วัน ตั้งแต่ตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องมีข้อเสนอไปยังกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งจะครบในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ช่วงนี้จะเป็นช่วงโยนหินถามทาง ใครมีอะไรก็เสนอไป ทางกรรมาธิการฯจะได้รวบรวมยกร่างรัฐธรรมนูญ”

ส่วนจะทำอย่างไรจึงจะไม่ให้การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความขัดแย้งและไม่ให้ถูกฉีกบ่อยๆ นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดเพราะการร่างรัฐธรรมนูญก็เหมือนกับการสร้างบ้าน เวลาสร้างบ้านเราคงไม่ได้คิดว่าทำอย่างไรจะทำให้อยู่ในบ้านนั้นได้ด้วยความสะดวกสบายอย่างเดียว มันต้องคิดให้รอบคอบมากกว่านั้น ต้องคิดแม้กระทั่งว่าจะทำอย่างไรกับภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น หลายคนบอกว่าทำไมต้องไปคิดร่างรัฐธรรมนูญแบบป้องกันรัฐประหาร ซึ่งก็เห็นกันแล้วว่ารัฐธรรมนูญ 19 ฉบับ ก็มีรัฐประหารกันตั้งเยอะ เรารู้ว่ารัฐประหารอาจเป็นภัยหนึ่งซึ่งเราก็ต้องคิดหาทางป้องกัน แต่จะคิดกันอย่างไรก็แล้วแต่ มันอาจจะแก้กันหมดจดไม่ได้ ที่ผ่านมาก็คิดแก้กันไปหลายเรื่องแล้ว ก็คิดกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้ใช่หรือไม่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเขียนห้ามโน่นห้ามนี่ไว้ รองนายกรัรฐมนตรีกล่าวว่า เคยเขียนมาแล้วหลายฉบับ แต่พอถึงเวลาก็มีการเสนอให้ยกเลิกทั้งฉบับหรือยกเลิกเฉพาะมาตรานั้นๆ สิ่งที่ห้ามไว้ก็หายไป ประโยชน์ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการเขียนห้ามไว้จึงไม่มีประโยชน์ มันอยู่ที่ความนึกคิด การยอมรับ อะไรที่เรารู้สึกว่ามันเป็นที่ยอมรับเราก็จะหวงแหน และจะรู้สึกผูกพัน ไม่อยากให้แก้หรือฉีก ส่วนการทำประชามติจะทำให้เป็นเกราะป้องกันการแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งสั้นๆ แต่พออยู่ไปมันก็ห่างเหินไป ความรู้สึกอื่น ความจำเป็นอื่นก็จะเข้ามา

“แรกๆ ก็โอเค มันก็ยังศักดิ์สิทธิ์ มั่นคง การทำประชามติมันเอาผลประชามติไปใช้เรื่องอื่นได้ อย่างครั้งที่แล้วมีการอ้างว่ามีการทำประชามติมาแล้ว ดังนั้นแก้ไม่ได้ ร่างใหม่ไม่ได้ ซึ่งกรณีอย่างนี้เป็นการเอามายันกัน เป็นการบล็อก ไปปิดกันการที่จะไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเราคิดว่าทำมาได้ดีแล้ว และไม่คิดจะแก้ไขอีกแล้วในชาตินี้ก็คุ้มแม้ว่าจะเสียกี่พันล้านก็คุ้ม แต่ถ้าคิดว่าไม่เป็นไร ทำไป แก้ไป ก็อย่าให้ประชามติมาเป็นอุปสรรค ซึ่งก็ต้องมาช่วยกันคิด อย่างตอนนี้ก็มีการเสนอให้ทำประชามติบางหลักการ ซึ่งแต่ละแนวทางก็เป็นไปได้ทั้งนั้นเพราะการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ไม่ได้ปิดกั้นการทำประชามติอยู่แล้ว ถ้าจะทำก็ทำได้ เพราะจงใจใส่ไว้ให้แล้ว เพียงแต่ไม่ได้บังคับตั้งแต่แรกว่าจะทำเท่านั้น”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการกังวลว่าถ้าให้ทำประชามติแล้วหากไม่ผ่านก็จะมีปัญหา นายวิษณุกล่าวว่า แน่นอน การทำประชามติก็เหมือนการเลือกตั้ง มันเป็นการเดิมพันซึ่งมีโอกาสทั้งผ่านและไม่ผ่าน แต่ไม่ได้คิดว่าที่ไม่ทำประชามติเพราะคิดว่ามันจะไม่ผ่าน ไม่ได้คิดอย่างนั้นเพราะถ้าไม่ผ่านมันก็มีกลไกอื่น

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าถ้าไม่ผ่านก็จะทำให้รัฐบาลอยู่บริหารงานได้ยาวนานขึ้น เพราะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของคนที่คิดแบบนี้ ถ้ารัฐบาลเอาแต่ได้ ทำไมไม่คิดบ้างว่ารัฐบาลอาจจะอยากอยู่นาน ดังนั้นรัฐบาลอาจอยากทำประชามติแล้วให้ไม่ผ่านแล้วจะได้อยู่นานซึ่งก็หาเรื่องมองได้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นก็ร่างกันให้เสร็จก่อนว่าที่ร่างมานี้พอใจหรือไม่ ถ้าพอใจโดยไม่ต้องลงประชามติก็ไม่ต้องลง หรือถ้าคิดว่าต้องให้แน่นอน ก็ไปทำประชามติดีกว่า

“วันนี้ทุกคนเรียกร้องการทำประชามติ ก็ต้องระมัดระวังการทำประชามติแบบสุกเอา เผากิน หรือการไม่ให้ข้อมูลล่วงหน้า หรือการอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ขนาดระดับผู้เชี่ยวชาญยังเข้าใจยาก จะให้ประชาชนไปเข้าใจได้ง่ายๆ ได้อย่างไร ดังนั้นแนวคิดที่จะให้ทำประชามติบางหลักการก็อาจจะเป็นแนวคิดที่ดีก็ได้”

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากคนร่างมีอคติกับนักการเมืองมาตลอด แล้วจะร่างรัฐธรรมนูญมาให้ดีได้อย่างไร รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พูดยาก แล้วแต่จะมองกัน อยากให้มองที่ผลงานมากกว่า ความรู้สึกของคนก่อนที่จะมาร่างก็มีจุดยืนของตัวเองทั้งนั้น ไม่มีใครรู้ว่าเกิดมาแล้วจะต้องมาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นหลายคนก็แสดงอภินิหารกันไปพอสมควรแล้ว แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ทุกคนต้องปรับทัศนคติ ท่าทีตัวเองให้เข้ามาอยู่ในร่องรอย ให้สังคมไว้วางใจ ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าที่ไหนในโลกก็ต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ทั้งนั้น และคงเป็นการยากที่จะไปบอกว่าคนนั้น คนนี้เป็นกลางหรือไม่ ความจริงไม่ควรคิดว่าใครเป็นคนเสนออะไร แต่อยากให้เอาหลักการของข้อเสนอนั้นมาดีกว่า ถ้าใช้ได้ก็โอเค ใครจะเสนอก็ช่าง

ต่อข้อถามว่าขณะนี้มีการเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้มีความขัดแย้งกันก่อนตั้งแต่เริ่มเลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ขัดแย้ง เสนอไปเถอะ อยู่ที่คนมอง ถ้ามองว่าจะขัดแย้งมันก็ขัดแย้ง เมื่อเราปิดโอกาสให้เขาเสนอ แต่มาบอกว่าเป็นความขัดแย้ง อย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว เป็นธรรมดาพูดอะไรออกมาบางทีก็ไม่เข้าหูคนบางคน ถ้ามองเป็นความขัดแย้งมันก็เป็น แต่เราอย่าไปมองอย่างนั้นเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น