xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.นัดถกพรรค-กลุ่มการเมือง วิษณุเมิน"อภิรัฐมนตรี"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (11 พ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมกาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในการประชุมกมธ.ยกร่างฯ (11พ.ย.) คณะกมธ. สรุปให้มีการรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะจากพรรคการเมือง รวมถึงกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ เพื่อมาให้ความเห็น และแนวคิดต่อกมธ.ยกร่างฯ ในหัวข้อ "จะยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร เพื่อให้สัมคมไทยมีอนาคตที่ดีเพื่อส่งมอบให้ลูกหลาน"
ทั้งนี้ ได้มีการนัดประชุมตั้งแต่วันที่ 17-25 พ.ย. ในเวลา 10.00-12.00 น. โดยปฏิทินสำหรับการกำหนดรับฟังความเห็นของพรรคการเมือง ในวันที่ 17 พ.ย. พรรคเพื่อไทย วันที่ 18 พ.ย. พรรคประชาธิปัตย์ วันที่ 19 พ.ย. พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา วันที่ 20 พ.ย. พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล วันที่ 21 พ.ย. พรรคมาตุภูมิ และพรรครักษ์ประเทศไทย
ส่วนในวันที่ 24 พ.ย. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ วันที่ 25 พ.ย. คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และหวังว่า จะได้รับความมือจากทุกฝ่ายในการส่งตัวแทนเข้าร่วมแสดงความเห็นคณะละ 5 คน โดยอาจเชิญมาให้ความเห็นหลายรอบ อย่างไรก็ตาม หากตัวแทนไม่สะดวกที่จะเดินทางมา ก็สามารถส่งเอกสาร เป็นลายลักษณ์อักษร เสนอความเห็นมาได้
" การเชิญพรรคการเมืองและกลุ่มต่างๆ มาร่วมหารือกับกมธ.ยกร่างฯ ครั้งนี้ จะเป็นการรับฟังความเห็นทั่วไป ยังไม่เจาะจงหรือกำหนดรูปแบบ โดยกมธ.ทุกคน ก็พร้อมรับฟังความเห็นจากกลุ่มทุกพรรค ก่อนนำข้อมูลที่ได้ไปสังเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป" นายคำนูณ กล่าว
นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยังให้คณะกมธ.ได้แสดงความเห็นคนละ 10 นาที ในหัวข้อ "ประเทศเราติดหล่มทุกวันนี้เพราะอะไร" และจะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร โดยวันที่ 12 พ.ย. จะมีการพิจารณาการออกแบบโครงการสร้างรัฐธรรมนูญ และแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งคาดว่า ในวันที่ 14 พ.ย. น่าจะบรรลุผล ในเรื่องดังกล่าวได้

** กลุ่มการเมืองพร้อมแสดงความเห็น

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. เปิดเผยว่า ยินดีให้ความร่วมมือกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เชิญไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 25 พ.ย.นี้ โดยสิ่งที่จะเสนอ จะเน้นไปในเรื่องแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของนายทุน เพราะนายทุนกลายเป็นผู้มีอำนาจในพรรคและคัดเลือกนักกการเมืองเข้ามา ทำให้นักการเมืองเมื่อมีอำนาจก็จะไปตอบแทนนายทุนแทนที่จะเป็นประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขเรื่องนี้ซึ่งสำคัญมาก
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่ม นปช. กล่าวว่า การที่ กมธ.ยกร่างฯ เตรียมเชิญ ไปให้ความเห็นในเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 พ.ย. นั้นซึ่งขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯ ควรหาตัวตนตัวให้เจอเสียก่อน เพราะต่างคนต่างนำเสนอสิ่งที่สวนความรู้สึกของประชาชน และขัดต่อหลักการประชาธิปไตย
"เวลานี้มันเลยเถิด และจะไม่เป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ นปช. พร้อมพูดคุย แม้ไม่ได้คาดหวังว่าข้อเสนอนั้นจะได้รับการตอบสนอง เพราะการร่างรัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้ข้อกำหนดใน มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ทั้งหมด" นายจตุพร กล่าว

**ฟันธงไม่มีเลือกนายกฯโดยตรง

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จะเดินทางไปให้ความเห็นด้วยตนเอง ซึ่งพรรคมีกรอบประเด็นอยู่แล้ว ทั้งการเข้าสู่อำนาจ การถอนทุน องค์กรอิสระ เพราะทุก เรื่องเรามีคำตอบให้หมด และไม่มีใครเข้าใจประเด็นได้ดีเท่า นายอภิสิทธิ์ อีกแล้ว
สำหรับตน อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่จะออกมาใหม่มีการถ่วงดุลกันในระบบรัฐสภาอย่างแท้จริง เพราะอดีตที่ผ่านมา ไม่มีการถ่วงดุลกันจริง แต่เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารมีอำนาจมากกว่าฝ่ายสภา รวมทั้งองค์กรอิสระ ก็ไม่สามารถถ่วงดุลได้จริง ประเทศไทยควรจะปฏิวัติวัฒนธรรมประชาธิปไตย ที่มีการพูดกันเรื่องต่างๆ เช่น รัฐสวัสดิการ หรือ ทุนนิยมสามานย์ มีการพูดกันมาตั้งแต่ปี 2475 แล้ว แต่เกิดขึ้นไม่ได้จริง
"เวลานี้เป็นยุคกระหายคนดี โดย สปช.อยากให้คนดีเข้าสู่การเมือง การจะพิสูจน์ว่าคนดี หรือไม่ดี ด้วยการเอาอำนาจไปใส่ในมือ ก็จะเห็นธาตุแท้ออกมา เพราะถ้ามือว่างเปล่า จะไม่รู้ว่าคนนั้นเป็นอย่างไร แต่นิยามคนดีของสปช. กับนักการเมืองมันสวนทางกัน ตอนนี้สังคมกำลังสับสนกับเรื่องนี้อย่างมาก"
นายนิพิฎฐ์ กล่าวว่า หากต้องการรู้ว่า การร่างรธน.ครั้งนี้จะออกมาเป็นอย่างไร ให้จับตาดูท่าทีของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวจริง ส่วนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ นั้น เป็นแค่ตัวหลอก หรือเป็นเครื่องมือเท่านั้น ซึ่งตนเชื่อว่าจะไม่มีระบบเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะ นายวิษณุ ได้ส่งสัญญาณมาแล้ว เพราะบอกว่า ในระบบรัฐสภา ไม่เคยเห็นว่านายกฯ จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดังนั้นคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ควรจะหยุดได้แล้ว รวมถึงข้อเสนอให้มีอภิรัฐมนตรี ที่เป็นเรื่องเลอะเทอะ ร้อนวิชาของคนในสถาบันพระปกเกล้าฯ และการจะเอาอำนาจอื่นมาคานอำนาจประชาชนนั้น เป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองของกมธ.ยกร่างฯ ถือเป็นการมาถูกทางแล้ว แต่จะเป็นประโยชน์ต่อการ ยกร่างรธน. หรือไม่ ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกฟังใคร ระหว่างตัวแทนของแต่ละพรรค แต่ควรจะฟังคนที่ควรฟังจะได้ประโยชน์ที่สุด

** "วิษณุ"เมินข้อเสนอ"อภิรัฐมนตรี"

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดนักวิชาการ ที่เสนอให้มีอภิรัฐมนตรี ว่า ตนไม่ทราบแนวคิดนี้ ไม่ได้ใส่ใจ รู้ว่ามีการเสนอแนวคิดนี้ แต่ไม่รู้ว่าเอามาเกี่ยวอะไรเวลานี้ ตนไม่ได้สนใจที่จะติดตาม แต่ก็ถือเป็นข้อเสนอหนึ่งในร้อย ในพัน ซึ่งมันก็ไม่มีอะไรตื่นเต้น และตนไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องมาตื่นเต้นอะไรกัน ข้อเสนออื่นดี ๆ ตั้งเยอะ ข้อเสนอของตน 3 แนวทาง ดีจะตาย ไม่เห็นมีใครพูดถึง ซึ่งขอเสนอของตนไม่ใช่ว่าดีที่สุด เสนอแล้วเขาจะเอาหรือไม่เอา ก็ช่าง เชื่อหรือไม่เชื่อ ก็ไม่เป็นไร แต่วันนี้ใครมีข้อเสนออะไรดีๆ ก็ช่วยเสนอหน่อยแล้วกัน และถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะตกผลึกหลังจากวันที่ 19 ธ.ค. เพราะมีกำหนดว่า ภายใน 60 วัน ตั้งแต่ตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องมีข้อเสนอไปยังกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งจะครบในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ช่วงนี้จะเป็นช่วงโยนหินถามทาง ใครมีอะไรก็เสนอไป ทางกรรมาธิการฯ จะได้รวบรวมยกร่างฯ
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีความขัดแย้ง และไม่ให้ถูกฉีกบ่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิด เพราะการร่างรัฐธรรมนูญก็เหมือนกับการสร้างบ้าน เวลาสร้างบ้านเราคงไม่ได้คิดว่า ทำอย่างไรจะทำให้อยู่ในบ้านนั้นได้ด้วยความสะดวกสบายอย่างเดียว มันต้องคิดให้รอบคอบมากกว่านั้น ต้องคิดแม้กระทั่งว่า จะทำอย่างไรกับภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น หลายคนบอกว่า ทำไมต้องไปคิดร่างรัฐธรรมนูญแบบป้องกันรัฐประหาร ซึ่งก็เห็นกันแล้วว่า รัฐธรรมนูญ 19 ฉบับ ก็มีรัฐประหารกันตั้งเยอะ เรารู้ว่ารัฐประหารอาจเป็นภัยหนึ่ง ซึ่ง
เราก็ต้องคิดหาทางป้องกัน แต่จะคิดกันอย่างไรก็แล้วแต่ มันอาจจะแก้กันหมดจดไม่ได้ ที่ผ่านมาก็คิดแก้กันไปหลายเรื่องแล้ว ก็คิดกันต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้ ใช่หรือไม่ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเขียนห้ามโน่น ห้ามนี่ไว้ รองนายกฯกล่าวว่า เคยเขียนมาแล้วหลายฉบับ แต่พอถึงเวลา ก็มีการเสนอให้ยกเลิกทั้งฉบับ หรือยกเลิกเฉพาะมาตรานั้นๆ สิ่งที่ห้ามไว้ก็หายไป ประโยชน์ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการเขียนห้ามไว้ จึงไม่มีประโยชน์ มันอยู่ที่ความนึกคิด การยอมรับ อะไรที่เรารู้สึกว่ามันเป็นที่ยอมรับ เราก็จะหวงแหน และจะรู้สึกผูกพันไม่อยากให้แก้ หรือฉีก

**ระวังประชามติแบบสุกเอาเผากิน

ส่วนการทำประชามติ จะทำให้เป็นเกราะป้องกันการแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่ง สั้นๆ แต่พออยู่ไปมันก็ห่างเหินไป ความรู้สึกอื่น ความจำเป็นอื่นก็จะเข้ามา
"แรกๆ ก็โอเค มันก็ยังศักดิ์สิทธิ์ มั่นคง การทำประชามติมันเอาผลประชามติไปใช้เรื่องอื่นได้ อย่างครั้งที่แล้วมีการอ้างว่า มีการทำประชามติมาแล้ว ดังนั้นแก้ไม่ได้ ร่างใหม่ไม่ได้ ซึ่งกรณีอย่างนี้เป็นการเอามายันกัน เป็นการบล็อก ไปปิดกั้นการที่จะไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเราคิดว่าทำมาได้ดีแล้ว และไม่คิดจะแก้ไขอีกแล้วในชาตินี้ ก็คุ้มแม้ว่าจะเสียกี่พันล้านก็คุ้ม แต่ถ้าคิดว่าไม่เป็นไร ทำไป แก้ไป ก็อย่าให้ประชามติ มาเป็นอุปสรรค ซึ่งก็ต้องมาช่วยกันคิด อย่างตอนนี้ก็มีการเสนอให้ทำประชามติบางหลักการ ซึ่งแต่ละแนวทางก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็ไม่ได้ปิดกั้นการทำประชามติอยู่แล้ว ถ้าจะทำก็ทำได้ เพราะจงใจใส่ไว้ให้แล้ว เพียงแต่ไม่ได้บังคับตั้งแต่แรกว่าจะต้องทำเท่านั้น" รองนายกฯกล่าว
การทำประชามติ ก็เหมือนการเลือกตั้ง มันเป็นการเดิมพัน ซึ่งมีโอกาสทั้งผ่าน และไม่ผ่าน แต่ไม่ได้คิดว่า ที่ไม่ทำประชามติ เพราะคิดว่ามันจะไม่ผ่าน ไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะถ้าไม่ผ่านมันก็มีกลไกอื่น
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าไม่ผ่านก็จะทำให้รัฐบาลอยู่บริหารงานได้ยาวนานขึ้น เพราะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของคนที่คิดแบบนี้ ซึ่งถ้ารัฐบาลเอาแต่ได้ ทำไมไม่คิดบ้างว่ารัฐบาลอาจจะอยากอยู่นาน ดังนั้นรัฐบาลอาจอยากทำประชามติ แล้วให้ไม่ผ่าน แล้วจะได้อยู่นาน ซึ่งก็หาเรื่องมองได้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นก็ร่างกันให้เสร็จก่อน ว่าที่ร่างมานี้พอใจหรือไม่ ถ้าพอใจโดยไม่ต้องลงประชามติ ก็ไม่ต้องลง หรือถ้าคิดว่าต้องให้แน่นอน ก็ไปทำประชามติดีกว่า
" วันนี้ทุกคนเรียกร้องการทำประชามติ ก็ต้องระมัดระวังการทำประชามติแบบสุกเอา เผากิน หรือการไม่ให้ข้อมูลล่วงหน้า หรือการอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ขนาดระดับผู้เชี่ยวชาญยังเข้าใจยาก จะให้ประชาชนไปเข้าใจได้ง่ายๆ ได้อย่างไร ดังนั้นแนวคิดที่จะให้ทำประชามติบางหลักการ ก็อาจจะเป็นแนวคิดที่ดีก็ได้" นายวิษณุ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น