xs
xsm
sm
md
lg

สนช.รับหลักการให้ “ศาลเด็ก” ชี้ขาดสมรสเยาวชนที่กระทำชำเรา ข่มขืน-เหยียดหยามศพมีความผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
สนช. มีมติรับหลักการร่างกฎหมาย 2 ฉบัย แก้ไขความผิดเกี่ยวกับเพศ ให้ศาลเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาการสมรสคดีกระทำชำเราเยาวชนอายุเกินกว่า 13 แต่ไม่เกิน 15 “ครูหยุย” เห็นด้วยแต่อยากให้ขยายเป็นเด็กอายุเกิน 15 ห่วงคดีทางเพศสูงขึ้น “หมอเจตน์” หวั่นหากกำหนดโทษสูง เด็กจะสมรสหนีความผิด อีกด้านให้การข่มขืนศพ ทำศพเสียหาย และดูหมิ่นเหยียดหยามศพมีความผิด ปรับเพิ่ม 10 เท่าของโทษปรับเดิม

วันนี้ (7 พ.ย.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานในประชุม เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในวาระแรกจำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... โดยร่างฉบับแรกเป็นการแก้ไขความผิดเกี่ยวกับเพศ และร่างฉบับที่ 2 กำหนดนิยามคำว่า 'เจ้าพนักงาน' ใหม่ เพราะในปัจจุบันมีการโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายของเจ้าพนักงานเป็นอย่างมาก

โดยร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... 2 ฉบับ มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงหลักการของร่าง พ.ร.บ.ฉบับแรก โดยระบุว่า โดยที่กฎหมายกำหนดให้ผู้กระทำความผิดฐานกระทำชำเราอายุเกินกว่า 13 ปีแต่ไม่เกิน 15 ปี ไม่ต้องรับโทษ หากศาลอนุญาตให้ผู้กระทำความผิดสมรสกับผู้เสียหายที่เป็นเด็ก ทำให้เกิดปัญหาในกรณีที่เด็กถูกบังคับยินยอมให้สมรสผู้กระทำความผิด โดยศาลไม่อาจตรวจสอบได้ สมควรให้ศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับครอบครัวเป็นการเฉพาะ เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาอนุญาตการสมรสในกรณีดังกล่าว เพื่อให้มีการตรวจสอบความยินยอมของเด็กได้อย่างละเอียดรอบคอบขึ้น

และโดยที่บทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับเพศและความผิดต่อเสรีภาพที่กระทำต่อเด็กได้กำหนดอายุให้เด็กเป็นองค์ประกอบความผิด ทำให้ผู้ให้กระทำความผิดอ้างความสำคัญผิดหรือไม่รู้ในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด เพื่อไม่ต้องได้รับผิดหรือได้รับการยกเว้นโทษ จึงสมควรกำหนดให้ผู้กระทำผิดในลักษณะดังกล่าว ไม่อาจอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นความรับผิดทางอาญาได้ เพื่อให้เด็กได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมากขึ้น ดังนั้น จึงสมควรแก้ไขมาตรา 277 และเพิ่มมาตรา 285/1 และ 321/1 ของประมวลกฎหมายอาญา

ซึ่งร่าง พ.ร.บ.นี้มีผู้อภิปรายอย่างกว้างขวาง เช่น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ได้อภิปรายว่า ขณะนี้มีแนวโน้มว่า เด็กอายุ 18 ปี จะมีการกระทำความผิดทางเพศสูงขึ้นทุกปี ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่อย่างยิ่ง และข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขก็ระบุว่า บุคคลที่ถูกละเมิดทางเพศอายุน้อยที่สุด เพียง 1 ปี 9 เดือน ส่วนอายุสูงที่สุด 85 ปี ซึ่งตนเห็นชอบด้วยในหลักกฎหมายดังกล่าว แต่ตนอยากจะให้ขยายเวลาจากการอ้างการไม่รู้เพื่อให้พ้นผิดของผู้กระทำผิดจากอายุ 13 เป็น 15 ปี เพื่อให้มีการคุ้มครองมากมากขึ้น

ส่วน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ได้กล่าวว่า ตนเห็นว่า การแก้ไขโทษให้เพิ่มสูงขึ้นนั้น อาจจะทำให้มีการผลักดันให้มีการสมรสในเด็กมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความผิด เพราะปัญหาของประเทศที่สำคัญ คือ ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เพราะสภาพจิตใจและร่างกายของเด็กยังไม่พร้อม และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งของครอบครัวเดิมและครอบครัวใหม่ของเด็ก และกระแสของของมีการต่อต้านการแต่งงานในลักษณะนี้ ดังนั้น ตนขอให้มีมาตรการในการป้องกันในการแต่งงานในเด็กด้วย

ส่วน นางเสาวณี สุวรรณชีพ ได้ระบุว่า อยากให้มีการตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบการแต่งงานของเด็กที่เลือกแต่งงานเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด โดยอาจจะมีการประเมินผลในช่วง 3 - 6 เดือน และขอให้ทางกรรมาธิการฯ มีการแก้ไขมาตรา 221/1 และ 285/1 เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาอ้างความไม่รู้ว่าเด็กอายุยังไม่ถึง 13 ปี ใช้ในเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้พ้นความผิดได้

หลังจากนั้น ที่ประชุมได้มีการลงมติรับหลักการในร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีมติเห็นด้วย 182 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ คณะกรรมาธิการสามัญ สังคมกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส

เป็นผู้พิจารณา และได้มีการลงมติยกเว้นข้อบังคับการประชุม สนช. ข้อ 89 โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน และมีระยะเวลาการทำงาน 30 วันส่วนร่าง พ.ร.บ. อีกฉบับ นายวิษณุ ได้ชี้แจงว่า โดยการพิจารณาคดีในปัจจุบันมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายว่า 'เจ้าพนักงาน' สมควรกำหนดบทนิยามว่า 'เจ้าพนักงาน' ให้ชัดเจน ตามมาตรา 1 (16)

นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายอาญายังมิได้กำหนดความผิดเกี่ยวกับศพ ได้แก่ การกระทำชำเราและการทำอนาจารศพ การกระทำให้ศพเสียหาย และการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ และชื่อเสียง จึงสมควรให้มีบทบัญญัติความผิดดังกล่าว ประกอบกับมาตรา 397 ของประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเฉพาะการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งยังไม่ครอบคลุมการกระทำดังกล่าวในที่รโหฐาน การคุกคาม การกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ และการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ สมควรให้การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลในความเป็นอยู่ส่วนตัวด้วย อีกทั้งอัตราโทษปรับสำหรับความผิดลหุโทษยังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบัน จึงมีการปรับอัตราโทษปรับตั้งแต่มาตรา 367 - 396 และมาตรา 398 โดยเพิ่มเป็น 10 เท่าของอัตราโทษปรับเดิม

โดย พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ สมาชิก สนช. ได้อภิปรายว่า การเพิ่มโทษปรับในหมวดลหุโทษจาก 1,000 บาท เป็น 10,000 บาท นั้น แต่ตามมาตรา 30 ของประมวลกฎหมายอาญา ได้ระบุว่า หากโทษปรับทั่วไปที่ไม่เกิน 80,000 บาท จะได้มีการกักขังแทนค่าปรับให้ถืออัตรา 200 บาทต่อหนึ่งวัน ไม่ว่าในกรณี ความผิดกระทงเดียว หรือ หลายกระทง ห้าม กักขัง เกินกำหนด หนึ่งปี เว้นแต่ ในกรณีที่ ศาลพิพากษา ให้ปรับตั้งแต่ แปดหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้ กักขังแทนค่าปรับ เป็นระยะเวลา เกิน หนึ่งปี แต่ ไม่เกิน สองปี ก็ได้ ซึ่งตนเห็นว่า อาจจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่เป็นคนจนได้ ดังนั้น จึงขอให้มีการปรับอัตราการกักขังแทนค่าปรับให้เหมาะสมด้วย

หลังจากนั้น ที่ประชุมได้มีการลงมติรับหลักการในร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีมติเห็นด้วย 180 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ จำนวน 15 คน โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน และมีระยะเวลาการทำงาน 30 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น