xs
xsm
sm
md
lg

“ถาวร” จี้ สนช.จริงใจ อย่าถกลับถอดถอน 2 อดีต ปธ. ลั่นไม่จัดการมวลมหา ปชช.ลุยเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส.(แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ส.สงขลา ย้ำข้อเรียกร้อง กปปส.ถอดถอน “สมศักดิ์-นิคม-ยิ่งลักษณ์” หลัง สนช.เสียงแตก ติงอ้างไร้อำนาจความคิดแคบ เชียร์ลุยถอดถอน ยก รธน.ชั่วคราว แจงย้ำทำได้ ขอโชว์ความจริงใจอย่าประชุมลับ ลั่นไม่ถอดมวลมหา ปชช.ลุยเอง บี้ คสช.เตือนสติ กันรัฐประหารเสียของ ให้กำลังใจรับไม้ต่อปฏิรูป ชี้ อย่าหลงกล “ปู” ศรีธนญชัยไม่นั่งถก กขช. ต้องยึดอำนาจหัวหน้า รบ. อย่ากลัวถูกฟ้อง ยันไม่ผิดอาญา


วันนี้ (31 ต.ค.) นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แถลงว่า วันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปีการชุมนุมของมวลมหาประชาชนเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ ซึ่งข้อเรียกร้องหนึ่งคือ การถอนถอดนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเวลานี้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งเรื่องมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาถอดถอน แต่สมาชิก สนช.กลับมีแนวความคิดออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.เห็นว่าไม่มีอำนาจในการรับไว้พิจารณาถอดถอน เนื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ตนถือว่าเป็นความคิดที่คับแคบและไม่ตีความให้กว้าง และ 2. เห็นว่าสนช.มีอำนาจรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ตามอำนาจของรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 5 ที่ระบุว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบังคับใช้ให้วินิจฉัยการกระทำนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศ แต่ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า ให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว. และรัฐสภา

“ผมขอให้กำลังใจกับ สนช.ที่มีแนวคิดให้รับเรื่องถอดถอนบุคคลทั้งสองไว้พิจารณา และขอให้ สนช.ชุดที่เห็นว่าไม่มีอำนาจไว้พิจารณาให้ทบทวนใหม่ ขอตั้งข้อสังเกตว่าสนช.ในส่วนนี้ เข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชนทั้งที่ถูกอุปโลกน์โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่กลับเกรงกลัวกลุ่มการเมืองใดใช่หรือไม่ ดังนั้นขอให้กลุ่มที่มีแนวคิดว่าจะต้องรับไว้พิจารณาทำความเข้าใจกับกลุ่ม สนช.ที่มีแนวคิดเห็นต่าง และการพิจารณาของ สนช.ในวันที่ 6 พ.ย. หากมีความจริงใจและเปิดเผย ขอเรียกร้องให้ไม่มีการประชุมลับและถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 11 สถานีวิทยุรัฐสภา และสถานีโทรทัศน์รัฐสภา” นายถาวรกล่าว

นายถาวรกล่าวว่า ส่วนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ สนช.นัดพิจารณาในวันที่ 12 พ.ย. แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ออกมารับผิดชอบอะไร กลับไปเที่ยวเฮฮาซึ่งตรงกันข้ามกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในโครงการรับจำนำข้าวจนต้องผูกคอตาย ดังนั้นภารกิจหลักของ สนช.จึงต้องทำหน้าที่ถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ป.ป.ช.ส่งเรื่องมาให้พิจารณา และยืนยันว่า สนช.มีอำนาจหน้าที่ถอดถอนนักการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในสมัยรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ หาก สนช.ไม่รับการถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมไว้พิจารณา โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจ สนช.จะต้องเผชิญหน้ากับมวลมหาประชาชนแน่นอน โดยตนจะดำเนินการยื่นเรื่องถอดถอนตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวตามมาตรา 6 ดังนั้นขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตือนสติไปยัง สนช.ว่าต้องทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนประชาชนแม้จะถูกอุปโหลกก็ตาม ในการกำจัดทุจริต ถ้าไม่รีบทำวันนี้จะหมดโอกาส และรัฐประหารจะเสียของ แต่ก็ขอให้กำลังใจรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งรับไม้ต่อไปจากพวกตนหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูป ใน 11 ด้าน ที่ตรงกับข้อเสนอของ กปปส.ถึง 6 ด้าน และจากนี้ไปมวลมหาประชาชนจะติดตามการทำงานให้ข้อเสนอแนะเป็นระยะ ส่วนที่รัฐบาลจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศโดยให้ กอ.รมน.เป็นผู้ดำเนินการ ตนก็จะให้ความร่วมมือทุกเวที

เมื่อถามว่า มี สนช.บางคนเห็นว่าการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีส่อว่าทุจริตโครงการรับจำนำข้าวอาจจะล้มเหลว เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เคยนั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) แต่มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นประธานการประชุมแทน นายถาวรกล่าวว่า เป็นความคิดของคนที่ไม่ลงลึกถึงการตรวจสอบพยานหลักฐานในการไต่สวนของ ป.ป.ช. ขออย่าได้โปรดคิดเอาเอง ขอให้นึกภาพว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่นำเอานโยบายนี้มาใช้ การนั่งหัวโต๊ะการประชุมเป็นเรื่องกายภาพ แต่เราต้องยึดเรื่องอำนาจความเป็นหัวหน้ารัฐบาลเป็นหลัก ทั้งนี้ การคิดว่าเรื่องการนั่งหัวโต๊ะนั้นเป็นความคิดแบบศรีธนญชัย เพื่อที่จะไม่ต้องการรับผิดชอบทางกฎหมาย คือไม่กล้าลงมติถอดถอน หรือรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา

ส่วนที่ สนช.บางคนไม่ต้องการรับรองเรื่องไว้ถอดถอนเพราะเกรงจะถูกฟ้องร้องภายหลังนั้น นายถาวรกล่าวว่า ถ้าเขาบอกว่าเขากลัวติดคุก บอกไปได้เลยว่า การทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภา แนวการตีความ แนวคำพิพากษาศาลฎีกาไม่ผิดกฎหมายอาญา เพียงแต่ว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เป็นเรื่องแสดงความรับผิดชอบ ในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปเป็นสมาชิกรัฐสภา แต่มีโทษทางการเมือง สมมติการประชุมวันนั้นมีมติออกมาว่าไม่มีอำนาจถอดถอน ตนจะยื่นถอดถอนแน่


กำลังโหลดความคิดเห็น