xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยสวัสดิ์” เชียร์ขึ้นภาษีดีเซล - เมียเชียร์เปิดสัมปทานน้ำมันรอบ 21

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความ ทำไมต่อต้านสัมปทานรอบ 21 ที่เขียนโดย นางอานิก อมระนันทน์
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ประธานบอร์ด ปตท. จ้อในงานของไออาร์พีซี หนุนขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล 4 บาทรวด อ้างที่ผ่านมาถูกประชานิยมบิดเบือน อุดหนุนราคาทำรายได้หายไปแสนล้าน ด้านภรรยาเขียนบทความแก้ต่างหนุนสัมปทานรอบที่ 21 อ้างต้องนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวผลิตไฟฟ้า ทำค่าไฟแพง โบ้ยระบบแบ่งปันผลผลิต นิการากัวรายได้ต่ำ เวียดนามพัฒนาแหล่งก๊าซไม่ได้ หยันประชาพิจารณ์ทำอะไรไม่ได้ ท้าพวกประท้วงรวมตัวประมูลให้ชนะขาดไปเลย

วันนี้ (29 ต.ค.) หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้ตีพิมพ์บทความของ นางอานิก อมระนันทน์ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในหัวข้อ “ทำไมต่อต้านสัมปทานรอบ 21” ระบุถึงการเปิดให้ยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 ทำให้เกิดปฏิกิริยาค่อนข้างรุนแรงจากคนบางกลุ่ม ทั้งที่มีแผนจะเปิดตั้งแต่กลางปี 2555 แต่เสียงคัดค้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยที่แล้วจึงไม่ได้ดำเนินการ แต่ก็ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง กระทั่งหลังรัฐประหาร ผู้มีอำนาจได้จัดรับฟังความคิดเห็นจาก 2 ฝ่าย เช่น ที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน 2 รอบ อีกทั้งมีเวทีทิศทางพลังงาน ที่กระทรวงพลังงานจัดใน 4 ภาค และเวทีของหลวงปู่พุทธะอิสระ 4 รอบ

ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า คสช. ก็เกรงเสียงคัดค้านแต่จำต้องเดินหน้า เพราะการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่สามารถสนองการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น ต้องนำเข้าแพง และผลกระทบสะสมของการเลื่อนรอบ 21 มีการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี (Liquefied natural gas หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว) มากขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้ค่าไฟเริ่มแพงขึ้น เพราะแอลเอ็นจีแพงกว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยราวเท่าตัว ในฐานะรัฐบาลที่มีความมั่นคงกว่าที่มาจากการเลือกตั้ง คสช. ต้องกล้าทำเพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงาน และปกป้องประชาชนจากค่าไฟฟ้าที่จะแพงยิ่งขึ้น เราพึ่งพาก๊าซในการผลิตไฟฟ้าสูงมากถึงเกือบ 70% ซึ่งหากคนไทยยอมรับเชื้อเพลิงอย่างถ่านหินสะอาดมากขึ้น นอกจากค่าไฟจะถูกลงแล้ว ความเร่งด่วนของรอบ 21 ก็จะลดน้อยลง

นางอานิก เห็นว่า การเปลี่ยนมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) แทนระบบสัมปทาน ไม่ได้แปลว่าจะเปิดให้สำรวจได้ทันที เพราะจะต้องมีกระบวนการทำกฎหมายใหม่และจัดตั้งองค์กรที่จะบริหารระบบใหม่ ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อยเป็นปี อีกทั้งไม่ได้ทำให้รัฐได้ส่วนแบ่งมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องของศักยภาพทางปิโตรเลียม โดยยกตัวอย่างประเทศนอร์เวย์มีศักยภาพสูง ทำให้รัฐได้ผลตอบแทน 80% ทั้งที่ใช้ระบบสัมปทาน แต่นิการากัวศักยภาพต่ำ รัฐจึงได้แค่ 40% ทั้งที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ประเทศไทยศักยภาพปานกลาง รัฐได้เฉลี่ย 58% ถ้าจะเก็บสูงเหมือนนอร์เวย์ก็คงไม่มีใครมาลงทุน และคงไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเสี่ยงลงทุนเอง

“ที่ถูกหยิบยกว่าระบบแบ่งปันผลผลิต ดีกว่าสัมปทานนั้นในทางปฏิบัติไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งสองปัจจัยเป็นความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นแล้ว ยังเสี่ยงที่จะสร้างความล่าช้าอีกด้วย ยกตัวอย่างกรณีพื้นที่ทับซ้อนไทยและเวียดนามที่แบ่งเขตกันปี 2540 ฝั่งไทยที่ใช้ระบบสัมปทานพัฒนาก๊าซ (แหล่งอาทิตย์) ขึ้นมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2551 เวียดนามใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต สำรวจพบก๊าซเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถพัฒนาได้จนบัดนี้ ระบบสัมปทานโปร่งใสกว่า เพราะมีการประมูลแข่งขันว่าใครจะลงทุนมากและจ่ายผลประโยชน์เพิ่มให้รัฐมากกว่า มีสัญญาเป็นมาตรฐานแบบยืดหยุ่นสูงตามระบบไทยแลนด์ทรี (Thailand III) ที่ใช้กำกับสัมปทานตั้งแต่ปี 2532 คือ ถ้าพบน้อยเก็บน้อย พบมากก็เก็บมากที่ผ่านมาสัดส่วนกำไรรัฐของไทยแลนด์ทรีรวมอยู่ที่ 72%” นางอานิก กล่าว

นางอานิก ยังกล่าวว่า เหตุที่ไม่มีประชาพิจารณ์ อาจจะยังไม่มีกิจกรรมที่ใช้ชื่อประชาพิจารณ์ แต่ได้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นมากมาย ซึ่งตามข้อเขียนของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา สาระของประชาพิจารณ์ คือ ให้ข้อมูล ชี้แจง แสดงเหตุผล และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำไปชั่งน้ำหนัก และหาทางเยียวยาหากมีความเดือดร้อน มิใช่จะแสวงหาความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อโครงการ จะเห็นว่ารอบ 21 หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่คาดว่าจะมีปัญหา เช่นพื้นที่ป่าสงวน-อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ใกล้ฝั่งและไม่มีการเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะเดียวกัน ข้อกังวลกลุ่มทุนต่างชาติจะเข้ามาผูกขาด นางอานิก กล่าวว่า ต้องชั่งน้ำหนักด้วยความเป็นจริงทางกายภาพและข้อกฎหมายต่างๆ อาทิ ผู้ผลิตต้องพยายามขายในประเทศก่อนส่งออก รัฐสั่งห้ามส่งออกน้ำมันดิบชั่วคราวได้ หรือสั่งการอื่นตามอำนาจ พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2516 รัฐสามารถควบคุมป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดด้วย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ซึ่งก็กำลังมีการปฏิรูป อีกทั้งปริมาณสำรองอยู่ใต้พิภพไทย ก๊าซที่ขุดได้ต้องส่งทางท่อขึ้นฝั่งไทย และบุคลากรที่ดำเนินการผลิตก็เป็นคนไทยแทบทั้งสิ้น

“หากบริษัทไทยประสงค์จะลงทุนย่อมมีสิทธิประมูลเต็มที่ทั้งนี้กลุ่มที่พร่ำบอกว่า ปิโตรเลียมไทยผลิตง่ายกำไรงาม ควรจะพิสูจน์ความจริงด้วยการรวมตัวกันเข้ามาประมูลสัมปทานรอบนี้ให้ชนะขาดไปเลย แม้แปลงสัมปทานรอบ 21 ทั้งหมดจะเป็นการเวียนเทียนพื้นที่ซึ่งเคยสำรวจมาบ้าง แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับแหล่งเอราวัณและบงกชภายใต้ไทยแลนด์วัน ที่จะหมดสัญญาในปี 2565 ซึ่งรัฐบาลจะต้องหาทางใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ทั้งในแง่รายได้รัฐและการกำกับให้เกิดการผลิตอย่างเต็มที่ เพราะปิโตรเลียมเมืองไทยไม่ใช่ว่าเปิดก๊อกแล้วจะไหลออกมาเองเรื่อยๆ ขนาดแอ่งปัตตานีที่ผลิตมาแล้วกว่า 30 ปี ก็ยังมีการสูญเปล่าจากหลุมดรายโฮล (Dry Hole) ที่เจาะแล้วผลิตไม่ได้” นางอานิก กล่าว

นางอานิก กล่าวทิ้งท้ายว่า ในขณะที่กระบวนการประมูลสัมปทานจะใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเสร็จสิ้น รัฐบาลสงวนสิทธิที่จะยกเลิกประกาศนี้ได้เช่น หากคาดการณ์ราคาน้ำมันเพิ่มสูงกว่าปัจจุบันมาก หรือหากมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบจริงๆ แต่ผู้บริหารประเทศต้องรับผิดชอบผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน และค่าไฟฟ้าที่จะแพงขึ้นเพราะการสำรวจล่าช้า รวมทั้งต้นทุนแฝงที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบแบ่งปันผลผลิต โดยไม่มีการเพิ่มกำไรให้รัฐ

อีกด้านหนึ่ง เมื่อวานนี้ (28 ต.ค.) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงาน IRPC Business Forum 2014 “เปิดโลกเศรษฐกิจ ปรับแนวคิดสู่ความยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ที่ห้องเพลนนารี่ ฮอลล์ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า การดำเนินนโยบายราคาพลังงานที่ผ่านมาเป็นช่วงที่บิดเบือนราคามากที่สุด เพราะมีการใช้นโยบายประชานิยมเพื่ออุดหนุนราคาพลังงานจนไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและได้ใช้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมด้านพลังงานในแต่ละด้านจนเสียหายปีละ 1.8 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ตลอด 3 ปีของรัฐบาลที่ผ่านมาใช้เงินไปกว่า 5.4 แสนล้านบาท เป็นการอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจี 2.92 หมื่นล้านบาท อุดหนุนราคาเอ็นจีวีปีละ 1.76 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระจ่ายค่านำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าปีละ 2 หมื่นล้านบาท ผ่านต้นทุนค่าไฟที่เพิ่มขึ้น 10 สตางค์ต่อหน่วย และการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลทำให้รายได้หายไป 1.14 แสนล้านบาท

“สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการจากนี้ไป คือ เร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยอาศัยจังหวะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาเป็นโอกาสในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจากปัจจุบัน 0.005 บาทต่อลิตร เป็น 4 บาทต่อลิตร โดยเป็นวิธีการโยกการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลที่ถูกเรียกเก็บเข้าไปสะสมในกองทุนน้ำมันฯ ในอัตรา 3.70 บาทต่อลิตรหรือเรียกเก็บเพิ่ม 30 สตางค์ต่อลิตร และต้องเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จัดทำแผนพลังงานทดแทนเพื่อลดการนำเข้าปีละ 1 ล้านล้านบาท” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว


นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามีของนางอานิก (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น