“อุเทน” ย้ำ ม.35 ตีกรอบ รธน.ถาวร ห่วง 10 ประเด็นสร้างความแตกแยกมากกว่า หวั่นพวกวิสัยทัศน์แคบคุมเขียน รธน.ใหม่ เตือนตั้งแง่นักการเมืองจนเกินไปอาจส่งผลร้าย ชี้เป็นสิทธิ สปช.ไม่เปิดคนนอกร่วม กมธ.ยกร่างฯ แต่ต้องรับฟังอย่างกว้างขวาง ซัด สปช.ไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง ดักคออย่าตั้งเวทีแค่ดอกไม้ประดับ ต้องนำไอเดียจากทุกภาคส่วนไปต่อยอดด้วย เล็งเปิดเวทีเองหากรัฐไม่จริงใจ แนะจับตาเกมซื้อเวลาเขียน รธน.ไม่รู้จบ
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเคยแสดงความเป็นห่วงถึงเนื้อหาของมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้ใหม่ๆ แล้ว โดยเห็นว่าการที่กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่าง ต้องจัดทําร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุม 10 ประเด็น อาทิ กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน หรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรมนั้น แม้จะเป็นความปรารถนาดีของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่อาจกลับกลายเป็นการประสงค์ร้าย เพราะ 10 ประเด็นที่วางไว้นั้นถูกมองเป็นกรอบการร่างรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนมีการตั้งธงไว้แล้ว บางข้อบางกลไกยังอาจสร้างความแตกแยกมากกว่าปรองดอง ความหวังดีอาจจะถูกแปลงเป็นร้ายได้ หากได้บุคคลที่ไม่เหมาะสมหรือไม่มีวิสัยทัศน์เข้ามาเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศมากกว่าผลดี
“10 หัวข้อที่กำหนดไว้มาตรา 35 นั้นเป็นแค่นามธรรม ยากต่อการแก้ปัญหา บางข้อบางกลไกอาจสร้างความแตกแยกมากกว่าปรองดองด้วยซ้ำ และหากผู้ที่เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญมีความคิดคับแคบแล้ว ความหวังดีของมาตรานี้จะถูกบิดไปเป็นร้ายได้โดยง่าย และอาจสร้างความขัดแย้งมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เสียอีก โดยเฉพาะกลไกที่ตั้งหรือจะมาตีกรอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมืองจะทำได้จริงหรือไม่ และหากทำแล้วจะเกิดปัญหาหรือไม่ รวมทั้งในเรื่องการสร้างความเป็นธรรมในแง่ต่างๆจะออกแบบมาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหรือไม่ด้วย”
ส่วนที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่ให้คนนอกเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ใน 20 ตำแหน่งที่เป็นสัดส่วนของ สปช.นั้น นายอุเทนกล่าวว่า สัดส่วนของ สปช.ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่มีสัดส่วนของ สปช.ถึง 20 คนจาก 36 คนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ การที่ สปช.ไม่เปิดโอกาสให้คนนอกเข้าร่วมถือเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ สปช.ก็ต้องคัดสรรกลั่นกรองบุคคลให้เหมาะสมกับงานด้วย มิเช่นนั้นอาจสร้างปมก่อปัญหาเช่นที่เกิดในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มาแล้ว โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและ สปช.ควรเปิดกว้างรับฟังแนวคิดเรื่องการปฏิรูปจากทุกภาคส่วนอย่างหลากหลาย ทั้งในส่วนขององค์กรแขนงต่างๆ รวมถึงบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญ หรือประสบการณ์ในด้านต่างๆด้วย ทั้งนี้หวังว่ากระบวนการต่างๆ จะเป็นไปตามโรดแมปที่ คสช.ได้วางเอาไว้
“คณะกรรมาธิการร่างฯ รวมทั้ง สปช.เองก็ไม่ได้เก่งหรือรู้ดีไปเสียทุกเรื่อง ควรรับฟังความคิดอ่านจากคนอื่นให้ครอบคลุมทุกด้านด้วย ที่สำคัญต้องกลั่นกรองนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่เปิดเวทีรับฟังเป็นพิธีให้ดูเหมือนเปิดกว้างรับฟัง แต่สุดท้ายก็ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือทำตามธงที่ตั้งเอาไว้เท่านั้น นอกจากนี้ในขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ มีการเปิดช่องไว้ว่าสามารถยกเลิกแล้วร่างใหม่ได้หาก สปช.ไม่เห็นชอบ ตรงนี้อาจเป็นเกมซื้อเวลา โดยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ออกไปเรื่อยๆจนไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเกมของใคร ก็อาจถูกมองว่า คสช.ยื้ออำนาจไว้ในมือ และไม่ส่งผลดีต่อประเทศอย่างแน่นอน”
นายอุเทนยังได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอด้านการปฏิรูปผ่านทาง www.khonthaireset.com (คนไทยรีเซต) และแฟนเพจเฟซบุ๊ก khonthaireset ว่าขณะนี้มีบุคคลและผู้แทนองค์กรนำเสนอแนวทางในการปฏิรูปประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเราจะรวบรวมไว้เป็นแนวทางเพื่อเกาะติดกรอบแนวคิด และวิธีปฏิบัติของ สปช.และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในทุกมิติ โดยจะพิจารณาว่าจะเสนอต่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ สปช.หรือ คสช.ในช่องทางใด เนื่องจากยังไม่เห็นรูปแบบของเวทีการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ที่มีกระแสข่าวว่าจะเปิดขึ้น ทั้งในส่วนของ สปช.หรือเวทีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ระบุว่าจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเร็วๆ นี้ แต่หากดูแนวโน้มแล้วไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ ทางกลุ่มก็พร้อมที่จะเปิดเวทีของทางกลุ่มเองเพื่อผลักดันแนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศต่อสาธารณะต่อไป