xs
xsm
sm
md
lg

ประเมิน 5 เดือน “ประยุทธ์-ประวิตร” ส่งความสุขหรือทุกข์ถาวรกันแน่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

หากนับจนถึงวันนี้ ก็ถือว่าตั้งแต่การเข้ามาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาล นับเวลาได้ 5 เดือนกำลังก้าวเข้าสู่เดือนที่ 6 ทุกอย่างย่อมมีแนวโน้มที่เห็นกันได้ชัดเจนกันแล้ว ว่าจะไปทิศทางไหน จะอยู่กับที่ เดินหน้า หรือถอยหลังลงนรกกว่าเดิม

เวลานี้แบบนี้ถือว่าหมดเวลาที่จะบอกว่า “ให้รอดูไปก่อน” เพราะระยะเวลาแบบนี้ต้องเห็นหน้าเห็นหลังกันแล้ว แม้ขนาดการสมัครเข้าทำงานในบริษัทเอกชน หรือแม้แต่ราชการก็ต้องถึงเวลาที่จะประเมินผลงานกันว่าจะบรรจุรับเข้าทำงานอย่างเป็นเรื่องเป็นราวหรือเปล่า ยิ่งรัฐบาลที่มีชาวบ้านตาดำๆ เป็นเดิมพันก็ยิ่งต้องประเมินและพิจารณากันอย่างจริงจังเสียที

อย่างไรก็ดี เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ในตอนแรกเข้าใจว่า บุคคลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นทั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำกำลังทหารก่อการรัฐประหารเข้าควบคุมอำนาจ และต่อเนื่องมาถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลายเป็นว่าอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะทำไปทำมาคนที่ถูกมองว่า “อยู่เบื้องหลัง” หรือคนที่มีอำนาจแท้จริงอาจจะไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เดิมเริ่มแรกเคยเป็นประธานที่ปรึกษา คสช. ก่อนที่มาเป็น สมาชิก คสช.อย่างเต็มตัว เป็นรองนายกฯ อันดับ 1 ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคุมดูแลงานด้านความมั่นคงทั้งหมดในเวลานี้

เพราะถ้าพิจารณาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจเบ็ดเสร็จ สำหรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ย่อมมีอำนาจเบ็ดเสร็จเช่นเดียวกัน เพราะนิยามความหมาย “ด้านความมั่นคง” ในยุคนี้ถือว่า กว้างขวาง “ครอบจักรวาล” เลยทีเดียว เพราะมีส่วนร่วมในการพิจารณาในเรื่องเศรษฐกิจ การคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือก่อนหน้านี้ก็ต้องมีบทบาทในการคัดเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย รวมไปถึงด้านพลังงาน โดย พล.อ.ประวิตร เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยในการประชุม กพช. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา เขาก็เข้าร่วมประชุม กพช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานอนุมัติตามข้อเสนอของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานอนุญาตให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ทั้งพื้นที่บนบกและในทะเล รวม 27 แปลง รวมระยะเวลาเบ็ดเสร็จทั้งเวลาที่เหลือจากสัมปทานเก่าและใหม่ประมาณ 36 ปี

เป็นการหักดิบข้อเสนอของภาคประชาชนที่ฝ่ายรัฐอ้างว่าเป็นข้อเสนอ “บางส่วน” ที่ต้องการให้เปลี่ยนวิธีการใหม่มาเป็นแบ่งปันผลผลิต เพื่อความเป็นธรรมเหมือนกับที่หลายประเทศทั่วโลกได้เปลี่ยนวิธีการมาแล้ว อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี อ้างว่าวิธีการให้สัมปทานฝ่ายรัฐได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องเห็นชอบถึงได้อนุมัติตามข้อเสนอ


อย่างไรก็ดี คำถามที่ยังคาใจชาวบ้านที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ก็คือ ทำไมถึงได้เร่งรีบอนุมัติให้สัมปทานรอบใหม่ ทำไมไม่รอการพิจารณาการปฏิรูปด้านพลังงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เกิดขึ้นมาแล้วเป็นการระดมความคิดให้ตกผลึกเสียก่อน และเชื่อว่าใช้เวลาไม่นานนัก เมื่อเทียบกับระยะเวลา 36 ปีเราต้องผูกมัดกับบริษัทพลังงานที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ

นี่คือตัวอย่างหลักเท่าที่เห็นได้ชัดเจนว่าสวนทางกับความรู้สึก และคำพูดของตัวเองที่กล่าวว่าให้ไปถกกันในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยังไม่นับเรื่องปรับโครงสร้างด้านราคาพลังงาน การมอบหมายให้บริษัท ปตท.เป็นธงนำในการสำรวจและจัดหาพลังงานทั้งในและประเทศเพื่อนบ้าน โดยก่อนหน้านี้ก็เข้าไปเจรจากับพม่ามาแล้วระหว่างไปเยือนเมื่อช่วงต้นเดือน และในปลายเดือนตุลาคม คือ วันที่ 30 - 31 ตุลาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนำคณะไปเยือนกัมพูชา โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี เปิดเผยว่าจะมีการเจรจากันเรื่องพลังงานด้วย ความหมายก็คือจะมีการเจรจากันถึงเรื่องเขตที่อ้างว่าเป็นเขตทับซ้อนในอ่าวไทยด้วยใช่หรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาเพิ่งทราบมาว่ามีการตั้งคณะกรรมการร่วมสองประเทศในการปักปันเขตแดนกันไปแล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ย้ำว่าจะต้องให้ “เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลนี้”

ยังไม่นับเรื่องที่ต้องเดินหน้าในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งที่ กระบี่ และสงขลา ในเร็วๆ นี้ อ้างว่าเพื่อเป็นหลักประกันด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้และของประเทศอนาคต ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า ต้องก่อสร้างในเร็วๆ นี้ โดยจะทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่คัดค้าน ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยกล่าวในรายการ “คืนความสุขฯ” ว่าถึงอย่างไรก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่มีทางเลี่ยงเป็นอย่างอื่น

แน่นอนว่าการดำเนินการทุกอย่างในช่วงนี้ดำเนินไประหว่างมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของฝ่ายคัดค้านอย่างเข้มงวด ซึ่งคำถามก็คือเป็นการฉวยโอกาสปิดปากหรือไม่

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาผลงานโดยรวมของคณะรัฐประหารชุดนี้ ได้สร้างความสุขให้คนในชาติหรือใครกันแน่

แม้ว่าในระยะแรกการเข้ามาของ คสช. เหมือนกับว่าเป็นการยุติปัญหาขัดแย้ง อ้างว่าป้องกันแนวโน้มการเกิดสงครามกลางเมือง เริ่มจ่ายเงินให้กับชาวนาที่รัฐบาลชุดที่แล้วค้างจ่ายในโครงการรับจำนำข้าว เป็นการสร้างความสุขให้กับคนไทย รู้สึกเหมือนกับว่าพระมาโปรด แต่ที่ไหนได้ล่าสุดรัฐบาล คสช.ได้เตรียมที่จะกู้เงินโดยอาจออกเป็นพันธบัตรจำนวนประมาณ 8 แสนล้านบาท มาใช้หนี้โครงการดังกล่าวที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปู้ยี่ปู้ยำและทุจริตกันอย่างมโหฬาร กลายเป็นภาระของคนไทย ขณะที่การติดตามดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่เห็นอยู่ตำตากลับเชื่องช้าไม่ถึงไหนและมีแนวโน้มจะลอยนวล นี่คือความเจ็บปวดของคนไทย

นอกจากนี้ หากพิจารณาในเรื่องราคาผลิตทางการเกษตร ไม่ว่ารายการหลักหรทอรายการรอง ทั้งข้าวยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ทุกตัวราคาตกต่ำหมด และยังไม่มีทีท่าจะฟื้นขึ้นในในระยะอันใกล้ ขณะที่ค่าครองชีพ ราคาสินค้ากลับพุ่งสูงขึ้นทุกวัน ที่เห็นอยู่ตรงหน้าก็คือ ข้ออ้างของผู้ประกอบการที่อ้างต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะที่กำลังจะทยอยปรับขึ้นราคา

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากเรื่องราวทั้งหมดมองเผินๆ เหมือนกับได้รับความสุข อาจจะใช่หากมองเพียงแค่ไม่มีม็อบรายวัน ไม่มีการใช้อาวุธสงครามลอบทำร้ายชาวบ้าน แต่ถ้าหยุดคิดพิจารณาถึงสิ่งที่ประสบอยู่ทุกวันทั้งวันนี้ และแนวโน้มในวันหน้าดูแล้วมันไม่สุข น่าจะทุกข์หนักกว่าเดิม!

กำลังโหลดความคิดเห็น