อุบลราชธานี - จังหวัดอุบลราชธานีประชุมด่วน! ถกปัญหาสมัชชาคนจนเตรียมเคลื่อนไหวยื่นหนังสือกดดันรัฐบาลต้นเดือน พ.ย.นี้ มุ่งทำความเข้าใจให้ส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือแทนเป็นกลุ่ม เหตุยังอยู่ในช่วงกฎอัยการศึก ด้านแกนนำสมัชชาคนจนยันส่งแค่ตัวแทนใน 3 อำเภอ ยันข้อเรียกร้องยังเหมือนเดิมคือ ตั้งกรรมการร่วมเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ และร้องค่าชดเชยการสูญเสียอาชีพทำประมง
วันนี้ (28 ต.ค.) ที่ห้องประชุมผู้บริหารชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประชุมหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงทหาร ตำรวจ ปกครอง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรณีกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลจะเคลื่อนไหวเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือต่อ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 3 พ.ย.
ทั้งนี้ เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล และเรียกร้องค่าชดเชยการสูญเสียอาชีพทำประมงตามลุ่มน้ำมูล หลังสร้างเขื่อนปากมูลเมื่อกว่า 25 ปีก่อน
โดยให้ฝ่ายความมั่นคงลงสืบหาข้อมูลการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ของกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนในวันที่ 2 พ.ย.นี้ และให้อำเภอชี้แจงชาวบ้านสมัชชาคนจนว่า การเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องสามารถทำได้ตามสิทธิ จังหวัดไม่ขัดขวาง แต่การเดินทางควรส่งเป็นตัวแทน ไม่ใช่นำคนไปจำนวนมาก เพราะขณะนี้ยังประกาศใช้กฎอัยการศึกบางพื้นที่อยู่
ส่วนข้อเรียกร้องที่ชาวบ้านต้องการให้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านเขื่อนปากมูล โดยให้คณะกรรมการกำหนดการเปิดหรือปิดประตูระบายน้ำ และเรียกร้องค่าชดเชยสูญเสียอาชีพประมง ครอบครัวละ 310,000 บาท จังหวัดเห็นด้วยที่จะดำเนินการดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องระดับนโยบายของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลสั่งการมาจังหวัดจะใช้เป็นแนวปฏิบัติต่อไป แต่เมื่อยังไม่มีคณะกรรมการเปิดหรือปิดประตูระบายน้ำ ให้ยึดถือแนวนโยบายตามมติ ครม.เมื่อปี 2545
นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงสาเหตุการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลปีนี้เพียง 2 เดือน เพราะปีนี้ฝนตกน้อย ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยกว่าปกติ มีผลกับปลายน้ำจะไม่มีน้ำทำการเกษตรกระทบต่อประชาชน จึงเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและมีมติต้องปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลไม่ให้น้ำไหลทิ้งลงสู่แม่น้ำโขง ปัจจุบันเขื่อนปากมูลมีระดับกักเก็บน้ำที่ 106.05 ม.รทก.
ส่วนข้อเรียกร้องของชาวบ้านสมัชชาคนจนที่ต้องการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหาแทนคณะกรรมการะดับจังหวัดตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยข้อเรียกร้องค่าชดเชยการสูญเสียอาชีพครอบครัวละ 3 แสนบาทเศษ หากประชาชนเดือดร้อนก็เห็นด้วยต้องได้รับความช่วยเหลือ แต่การไปเรียกร้องไม่ควรไปเดินขบวนลักษณะบีบบังคับรัฐบาลให้เปิดประตูหรือปิดประตูระบายน้ำถาวร เมื่อยังไม่มีคำสั่งใดจากรัฐบาลจังหวัดก็จะต้องถือปฏิบัติไปตามนี้ก่อน
ด้านนางสมปอง เวียงจันทร์ แกนนำชาวบ้านสมัชชาคนจน กล่าวถึงการเดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า วันที่ 3 พ.ย.จะส่งตัวแทนชาวบ้านจาก 55 หมู่บ้านใน 3 อำเภอ คือ อ.สิรินธร อ.โขงเจียม และ อ.พิบูลมังสาหาร ยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาการเปิดและปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำมูลที่ทรุดโทรมจากการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนมื่อ 25 ปีก่อน
ส่วนข้อที่สองคือ ให้พิจารณาชดเชยค่าสูญเสียอาชีพทำประมงริมแม่น้ำมูลตลอด 25 ปีที่ผ่านมา การเดินทางไปครั้งนี้ไม่ใช่ไปกดดัน แต่จะเดินทางลักษณะตัวแทนชุมชนที่จะไปสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนที่ผ่านมาให้รัฐบาลรับทราบ ยืนยันว่าไม่ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาอีกแล้ว เพราะได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาจนเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่สมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ควรดำเนินการไปในขั้นตอนแก้ปัญหาได้เลย