ป.ป.ช. แถลงผลงานครบรอบ 8 ปี ยันยึดหลักกฎหมาย และพยานทุกเรื่อง เผยมี 3.4 หมื่นคดี เสียหาย 3.5 แสนล้าน เคลียร์แล้ว 2.5 หมื่น เฉลี่ยปีละ 3 พันเรื่อง คงเหลือ 9.5 พันเรื่อง ส่วนใหญ่กำลังแสวงหาข้อเท็จจริง แบ่งให้ ป.ป.จ. ดูแล พบ อปท. ถูกร้องเรียนมากสุด เผยกำลังปฏิรูปตัวเอง ยันไม่งอมืองอเท้า อสส. ส่งฟ้องเองได้ “สุภา” ย้ำใครมีอำนาจต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ชี้พ้นตำแหน่งตุกติกแสดงว่าไม่อยากทำงาน
วันนี้ (21 ต.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี มีการแถลงข่าวผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครบรอบ 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 2549 - 6 ต.ค. 2557 โดยมี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ และกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งหมดร่วมกันแถลง โดย นายปานเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมา มีการกล่าวหาว่า ป.ป.ช. สองมาตรฐานและเลือกปฏิบัติ อยากชี้แจงว่า ป.ป.ช. ทำงานโดยยึดหลักกฎหมาย ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานทุกเรื่อง บางคดีไม่ยุ่งยากสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว แต่บางคดีหลักฐานไม่ชัดเจน หาพยานหลักฐานลำบากเพราะถูกน้ำท่วม หรือผู้เกี่ยวข้องมีจำนวนมากทำให้ขั้นตอนยุ่งยาก
นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่า ณ วันที่ 6 ต.ค. 2557 มีคดีความที่ค้างอยู่ใน ป.ป.ช. 11,578 เรื่อง เหตุที่ค้างมหาศาลเพราะ ป.ป.ช. ชุดที่แล้วต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ถึง 2 ปี ซึ่งโทษกันไม่ได้ ซึ่งนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมามีคดีที่ ป.ป.ช. รับมาใหม่ 22,590 เรื่อง ดังนั้น ในช่วงระยะ 8 ปีที่ผ่านมา มีคดีทั้งสิ้น 34,528 เรื่อง ดำเนินการเสร็จแล้ว 25,012 เรื่อง สรุปแล้วสามารถทำได้เฉลี่ยปีละ 3,000 เรื่อง คงเหลือกว่า 9,516 เรื่อง แบ่งเป็นอยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง 7,665 เรื่อง และอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง 1,851 เรื่อง บรรดาคดีเหล่านี้จำเป็นต้องเผด็จศึก โดยเฉพาะที่อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง ได้แบ่งให้ ป.ป.จ. ไปตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าที่ไต่สวนมาทั้งหมดประเมินมูลค่าความเสียหายได้ 357,809 ล้านบาท แยกเป็นความเสียหายในส่วนราชการ 332,979 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจ 24,776 ล้านบาท และส่วนท้องถิ่น 38,257 ล้านบาท
“คิดดูว่าการทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงเพียงใด จะเห็นว่า ป.ป.ช. ไม่ได้นั่งเฉยๆ ทำหน้าที่เอาทรัพย์สินของแผ่นดินคืนมา บางเรื่องเหนือวิสัย เพราะการทุจริตสมัยนี้เงินมันไหลออกนอกประเทศ แต่เรามีความร่วมมือกับต่างประเทศอยู่” นายวิชา กล่าว
นายวิชา กล่าวว่า หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ 1. องค์กรปกครองท้องถิ่น ถูกกล่าวหามากที่สุดถึงร้อยละ 50 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 2. กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมที่ดิน 3. ส่วนราชการระดับกรม ไม่สังกัดนายกรัฐมนตรี อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 4. กระทรวงศึกษาธิการ และ 5. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิชา กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. กำลังทำโครงการปฏิรูปตัวเอง อาทิ เรื่องการนำคดีขึ้นสู่ศาล จะเห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้นำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 รวมทั้งสิ้น 63 คดี แบ่งเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ 7 คดี การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน 54 คดี และให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 2 คดี โดยเป็นคดีที่ ป.ป.ช. ฟ้องเองทั้งสิ้น 15 คดี แสดงว่าคดีส่วนใหญ่อัยการสูงสุด (อสส.) ยังเป็นผู้ฟ้อง แต่ ป.ป.ช. มีความชำนาญมากขึ้น ฟ้องคดีเองได้ถึง 15 คดี ฉะนั้นเป็นการพัฒนาการทำงานของ ป.ป.ช. ให้เห็นชัดเจนว่าเราไม่ได้งอมืองอเท้า ถ้าไม่มี อสส. ฟ้องให้เรา เราสามารถทำงานได้
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. รับผิดชอบงานด้านตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน กล่าวว่า กฎหมายเขียนไว้ชัดว่า ใครก็ตามมาทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่มีอำนาจในการอนุญาตและอนุมัติจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตั้งแต่ครั้งเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง โดยเฉพาะตอนพ้นจากตำแหน่งจะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ เพื่อที่ ป.ป.ช. จะได้เปรียบเทียบทรัพย์สินตอนเข้าและตอนออกว่าร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ หากใครไม่ยื่นแสดงว่าจงใจไม่อยากทำงานในตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว