xs
xsm
sm
md
lg

เผยคลิปคณะทูตสหรัฐฯ เยือน “แท่นเชฟรอน” ในอ่าวไทย หลังกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมต่ออายุสัมปทานอีกรอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - “คริสตี้” นำคณะทูตสหรัฐฯ เยือนแท่นผลิตก๊าซแหล่งปลาทองในอ่าวไทยของเชฟรอน หลัง “ณรงค์ชัย” ออกมายืนยันเตรียมพิจารณาเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และจะทำให้เสร็จในรัฐบาลชุดนี้ สถานทูตมะกันโอ่อีก เชฟรอนจ้างคนไทยกว่า 2 แสนคน จ่ายค่าภาคหลวง-ภาษีรวมแล้วกว่า 3 แสนล้านในรอบ 32 ปี แถมยังบริจาคทุนการศึกษาให้เด็กไทยอีกหลายสิบล้านบาท

วานนี้ (20 ต.ค.) สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอการไปเยือนแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของบริษัทเชฟรอน ณ ฐานผลิตปลาทอง ห่างจากชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 200 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยคณะดังกล่าวนำโดยนางคริตตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ, ปลาทอง และแหล่งสตูล ทั้งยังถือผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับต้นๆ ในประเทศไทย



นอกจากนี้เฟซบุ๊ก U.S. Embassy Bangkok ของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพมหานคร ยังได้เผยแพร่ภาพและข้อความประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเยือนแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซดังกล่าวด้วยโดยระบุข้อความว่า เชฟรอนช่วยสนับสนุนการจ้างงานในประเทศไทยกว่า 2 แสนตำแหน่ง และก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐบาลไทยรวมแล้วกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 300,000 ล้านบาท) ในช่วง 32 ปีที่ผ่านมา หรือ ตกปีละไม่ถึงหนึ่งหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังระบุว่า เชฟรอนช่วยบริจาคเงินทุนการศึกษาให้เด็กไทยอีกด้วยหลายสิบล้านบาท

“เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตเคนนี่ย์และเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯเยี่ยมชมเชฟรอนซึ่งเป็นบริษัทผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของไทย ณ ฐานผลิตปลาทองซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 200 กม. เชฟรอนมีส่วนช่วยสนับสนุนการจ้างพนักงาน ในประเทศชาวไทยกว่า 200,000 คน และก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐบาลไทยทั้งในส่วนของภาษีและค่าภาคหลวงกว่าเก้าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524-2556 และได้บริจาคเงินประมาณ 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่มูลนิธิพระดาบสเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนไทย 360 คน”

รายงานข่าวระบุด้วยว่า การตรวจเยี่ยมดังกล่าวของคณะทูตสหรัฐฯ เกิดขึ้นภายหลังมีข่าวว่า นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ภายในเดือน ต.ค.นี้กระทรวงพลังงานจะออกประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อที่จะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายในประเทศรองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต

“สำหรับการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุประมาณปี 2565-66 จะพยายามสรุปให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ ส่วนการเจรจาพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการดำเนินการร่วมกันอยู่แต่เกิดปัญหาทางการเมืองส่งผลให้ไม่สามารถตกลงเรื่องเส้นเขตแดนได้ ถ้าหากปัญหานี้ยุติลงก็สามารถที่จะตกลงร่วมกันได้ง่ายขึ้น โดยจะพยายามสรุปข้อตกลงให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้” นายณรงค์ชัยระบุเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กรณีที่แปลงสัมปทาน แหล่งปลาทอง ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะหมดอายุสัญญาสัมปทานภายในปี 2565 หลังจากขอต่ออายุสัมปทานมาครั้งหนึ่งแล้วเป็นระยะเวลา 10 ปี หากจะต่ออายุอีกครั้ง กฎหมายปิโตรเลียมระบุว่าไม่สามารถดำเนินการได้โดยรายงานระบุว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเห็นว่า แม้ภายในปี 2565 แหล่งปลาทองของเชฟรอนจะหมดอายุสัมปทานแล้ว แต่คาดว่าจะยังมีปริมาณสำรองประมาณ 4-6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตก๊าซอยู่ที่ 1.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“พิจารณาว่าผู้รับสัมปทานเดิมสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ เพราะทั้ง 2 แหล่ง มีกำลังการผลิตก๊าซคิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณการผลิตก๊าซทั้งประเทศที่ 3.8 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน”

มีรายงานอีกว่า กรณีที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติต้องเร่งศึกษาข้อกฎหมายใหม่นี้ ทั้งที่อายุของสัมปทานทั้ง 2 แหล่งยังเหลืออีก 9 ปี เนื่องจากการศึกษากฎหมายใหม่ต้องใช้ระยะเวลานาน ขณะเดียวกันหากไม่เจรจากับผู้รับสัมปทานเดิมแต่เนิ่นๆ จะทำให้ผู้รับสัมปทานเดิมจะไม่ลงทุนในช่วง 5 ปีสุดท้ายของอายุสัมปทาน จะส่งผลให้ปริมาณก๊าซขาดแคลน และกระทบต่อภาคการผลิตไฟฟ้าได้

มีรายงานด้วยว่า ในส่วนของการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้นทางกระทรวงการต่างประเทศ จะเร่งดำเนินการภายหลัง นายกรัฐมนตรีไทยได้หารือทวิภาคีกับนายกฯกัมพูชา ระหว่างการประชุมอาเซม ที่อิตาลี เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ภาพจาก http://offshore-gasoil.blogspot.com/2009/11/blog-post.html


กำลังโหลดความคิดเห็น