รายงานการเมือง
ในส่วนของตำแหน่ง “ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ” (สปช.) ที่จะโหวตเลือกกันในวันอังคารที่ 21 ต.ค.นี้ เต็งหนึ่ง สปช.หลายคนบอกพร้อมเทเสียงหนุน “ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์” สปช.ด้านอื่นๆ และอดีตอธิการบดีจุฬาฯ แน่นอน
ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ ดร.เทียนฉายจะได้นั่งเป็นประธาน สปช.หากไม่มีอะไรพลิกผันในช่วงโค้งสุดท้าย
แต่เท่าที่ตรวจสอบกระแสข่าวหลายทาง สปช.หลายกลุ่ม ทั้งสายข้าราชการประจำ-อดีตข้าราชการประจำ-สปช.สายจังหวัด-สายนักวิชาการ ต่างบอก ดร.เทียนฉาย คือตัวเลือกที่สุดในเวลานี้
ส่วนรองประธาน สปช.คนที่ 1 และที่ 2 ชื่อของ “ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ยังแรงอยู่ในตำแหน่งรองประธานคนที่ 1 แม้จะเริ่มมีกระแสข่าวว่าอาจมี สปช.คนอื่นขอเบียดสู้ จึงอาจทำให้ในการโหวตเลือกรองฯ 1 อาจมีการโหวตนับคะแนนให้ได้ลุ้นกันหลังมีกระแสข่าวในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สปช.สายเอ็นจีโอ-อดีตนักวิชาการ-สปช.ด้านประชาสังคมหลายคนไปคุยกันนอกรอบแล้วเห็นว่า
จะสนับสนุน สปช.ที่เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าบวรศักดิ์
นั่นก็คือ “นพ.พลเดช ปิ่นประทีป” สปช.ด้านบริหารราชการแผ่นดิน-อดีต รมช.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จับเรื่องปฏิรูปมาหลายปี และนำเสนอแนวคิดเรื่องการปฏิรูปอย่างเป็นระบบมาตลอด
เหตุที่ สปช.สายเอ็นจีโอจะสนับสนุน นพ.พลเดช เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หนึ่งในทีมลูกศิษย์ของหมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส มาเป็นรองประธาน สปช. คาดว่าน่าจะเป็นเพราะสาเหตุที่มองกันไปว่าหมอพลเดชมีประสบการณ์ทำงานในเรื่องปฏิรูปมายาวนานกว่าบวรศักดิ์ จึงควรผลักดันให้ไปเป็นรองประธาน สปช.แล้วให้ทำงานเรื่องปฏิรูปควบคู่ไปด้วยกันก็ไม่เสียหลาย
เพราะขนาดกลุ่มที่หนุนบวรศักดิ์เป็นรองฯ อันดับ 1 ยังบอกว่า หากบวรศักดิ์เป็นรองประธานควบไปกับประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรก็ทำได้ไม่เสียหาย งานไม่โหลด แล้วทำไมจะดันหมอพลเดชให้ทำงานเรื่องปฏิรูปควบคู่ไปกับการเป็นรองประธาน สปช.ไม่ได้
จึงทำให้มีข่าวในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาว่า สปช.บางส่วนจะหนุนหมอพลเดช และมีข่าวว่าได้แจ้ง นพ.พลเดชไปแล้วด้วย ซึ่งเจ้าตัวก็แบ่งรับแบ่งสู้ คือใจจริงไม่คิดต้องการเป็นรองประธาน สปช.มาก่อน เพราะอยากขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปในฐานะ สปช.ธรรมดาก็พอแล้ว แต่เมื่อมีเพื่อน สปช.สายภาคประชาสังคมบอกจะสนับสนุน แต่จะได้ไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่เสียงส่วนใหญ่ และถึงไม่ได้ก็ไม่เสียหายอะไร
ทำให้ล่าสุดมีข่าวว่าหมอพลเดชก็ตอบรับเสียงหนุนไปแล้วในเบื้องต้น และรอดูว่าเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม สปช.จะเอาอย่างไร แต่ก็ต้องยอมรับกันว่าแม้ชื่อชั้นเรื่อง ปฏิรูปของหมอพลเดชน่าจะดีกว่าบวรศักดิ์
ว่ากันตามจริง หากให้ประเมินเสียงหนุนใน สปช.ทั้งหมด ยังต้องให้ บวรศักดิ์ มีแต้มต่อเหนือหมอพลเดชอยู่หลายช่วงตัวมาก
ขณะที่รองประธาน สปช.คนที่ 2 ไม่น่าพลิกไปจาก “ทัศนา บุญทอง” อดีตรองประธานวุฒิสภา ช่วงประสพสุข บุญเดช เป็นประธานวุฒิสภา เพราะดูแล้วอย่างไรเสีย รองประธาน สปช.ครั้งนี้ต้องมี สปช.หญิงหนึ่งคนแน่นอน เพียงแต่จะเป็นคนไหนเท่านั้น หากจะดัน “รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน” หลายคนก็บอกว่าเหมาะสม แต่เกรงว่ารสนาหากไปเป็นรองประธาน สปช.แล้วก็จะทำให้การติดตามและขับเคลื่อนเรื่อง ปฏิรูปพลังงาน-ทวงคืน ปตท.สมบัติชาติ ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะติดขัดความเป็นผู้นำ สปช. หลายเสียงเลยบอกว่า รสนามีคุณสมบัติพร้อม แต่เรื่องปฏิรูปพลังงานเป็นเรื่องใหญ่ของชาติต้องทำกันอย่างเต็มที่ ทุ่มเทกันเต็มเหนี่ยว หาก รสนาไปนั่งเป็นรองประธาน สปช.คงไม่เหมาะ จะเสียของกันเปล่าๆ
ส่วน ดร.ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาส อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ดูจะอาวุโสเกินไป ทำให้คนมองกันว่าตัวเลือกที่หลายคนบอกว่าเหมาะสมเลยเป็น “ทัศนา บุญทอง” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เรื่องการแข่งขันชิงตำแหน่งประธาน-รองประธาน สปช. ว่ากันตามจริงแล้วจากที่ได้ยินมา สปช.หลายคนแม้แต่สายที่หนุน “เทียนฉาย-บวรศักดิ์-ทัศนา” ต่างบอกเหมือนกันว่า อยากให้มีการเสนอชื่อแข่งขันมีการโหวตเลือกกัน ไม่ต้องการให้มีการเสนอชื่อแล้วรับรองโหวตเห็นชอบแล้วก็จบ
หากออกมาแบบนั้นย่อมไม่เป็นผลดีกับ เทียนฉาย-บวรศักดิ์-ทัศนา เพราะภาพที่ออกมาก็จะไม่ต่างอะไรกับการเลือกประธาน-รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่ง สนช.โหวตเลือก พรเพชร วิชิตชลชัย-สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย-พีระศักดิ์ พอจิต เป็นประธาน-รองประธาน สนช.แบบกดปุ่มกันมาเลย คือเสนอชื่อไปก็ไม่มีใครเสนอชื่ออื่นมาประกบเพื่อโหวตเลือก แต่เป็นแค่การโหวตเห็นชอบ
ดังนั้น สปช.ส่วนใหญ่จึงอยากให้มีการเสนอชื่ออื่น เข้ามาเป็นตัวเลือกให้ที่ประชุมได้ “โหวตเลือก” ด้วยไม่ใช่ “โหวตเห็นชอบ” แบบที่ สนช.ทำเพราะ สนช.นั่นที่มาที่ไปชัดเจนว่าทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และมีหน้าที่หลักคือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติให้กับ คสช. แต่ สปช.มีที่มาหลากหลายกว่า แม้จะมาจากการเลือกของ คสช.ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่มาในลักษณะสภาแต่งตั้งเหมือน สนช.
เพราะอย่างนี้หากการเลือกประธาน สปช.-รองประธาน สปช.ไม่มีการแข่งขันไม่มีการเสนอชื่ออื่นมาให้เป็นตัวเลือกในแต่ละตำแหน่งมากกว่าหนึ่งรายชื่อ ภาพที่ออกไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อ สปช.แน่นอน สปช.หลายคนจึงไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรหากจะมีการเสนอชื่อมากกว่าหนึ่งชื่อเพื่อมาชิงตำแหน่งประธาน สปช.-รองประธาน สปช.เพราะมองว่าไม่ได้ทำให้เกิดความแตกแยกหรือความไม่เป็นเอกภาพในสภาปฏิรูปฯ แต่จะเป็นผลดีกับ สปช.มากกว่าว่าไม่มีการล็อกเก้าอี้ประธาน-รองประธาน สปช.ให้กับใครไว้แบบไม่มีการแข่งขัน
มันก็เลยทำให้ความเคลื่อนไหวในการที่จะมี สปช.บางส่วนมีแนวคิด จะเสนอชื่ออื่นมาชิงประธาน-รองประธาน สปช.ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันที่ 21 ต.ค.เพื่อไม่ให้มีแต่ชื่อของเทียนฉาย-บวรศักดิ์-ทัศนา จึงไม่ใช่การเคลื่อนไหวในลักษณะการแย่งชิงเก้าอี้แต่อย่างใดแต่ออกมาในแนวถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่มีการแข่งขันอะไรมาก ไม่มีการล็อบบี้อะไรให้เห็นเหตุเพราะคนจะไปล็อบบี้ก็คงกลัวจะโดนด่ากลับมาเพราะสปช.หลายคนโดยเฉพาะที่มาจากการสรรหาล้วนเป็นผู้ใหญ่เกือบทั้งสิ้น การล็อบบี้ทำโผล่วงหน้าเลยไม่ค่อยมีข่าวออกมา
หลังจากที่ประชุมใหญ่ สปช.เลือกประธาน-รองประธาน สปช.เสร็จสิ้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป เท่ากับ สปช.เริ่มนับหนึ่งกันแล้วตั้งแต่ 21 ต.ค.นี้