"บิ๊กป๊อก" แจง สนช.เหตุแก้พ.ร.บ.อาสารักษาดินแดน กำหนดให้ทายายรับบำเหน็จ 30 เท่า หลังเสียชีวิต เพื่อขวัญกำลังใจ ก่อนพิจารณาผ่าน 3 วาระรวด พร้อมมีมติรับร่างพ.ร.บ.ราชบัณฑิตย์สภา วางภารกิจอนุรักษ์ภาษาไทย
วันนี้ (17ต.ค.) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 เพื่อกำหนดให้ทายาทของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ซึ่งเสียชีวิตภายหลังจากที่ได้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุพิการทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดเป็นจำนวน 30 เท่า ของบำนาญพิเศษรายเดือน เพื่อสร้างความขวัญกำลังใจ และความเป็นธรรมให้กับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงภายในพื้นที่ชายแดน และพื้นที่เสี่ยงภัยหรือในการปกป้องอธิปไตยของประเทศร่วมกับข้าราชการ ทหาร หรือตำรวจ
โดย ที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา เพื่อพิจารณาสามวาระรวด และได้ลงมติในวาระ 3 ด้วยคะแนน 192 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเอกฉันท์ 192 เสียง รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างพ.ร.บ.ราชบัณฑิตย์สภา พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คนเพื่อพิจารณาในรายละเอียด โดยมีสาระสำคัญ คือเปลี่ยนชื่อ "ราชบัณฑิตยสถาน"มาเป็น "ราชบัณฑิตย์สภา" เนื่องจากชื่อราชบัณฑิตย์สภาเป็นชื่อเดิมที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 19 เม.ย.พ.ศ.2469 เพื่อถวายเป็นพระเกียรติยศในโอกาส 120 ปีพระบรมราชสมภพ ขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้ยังได้ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของราชบัณฑิตย์สภาและการบริหารงานวิชาการของราชบัณฑิตย์สภาให้แพร่หลายแก่วงวิชาการของประเทศและประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ จัดให้การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการสมาชิกราชบัณฑิตย์สภาเพื่อเป็นประโยชน์แก่สมาชิกราชบัณฑิตย์สภา
โดยสำนักงานราชบัณฑิตย์สภา มีอำนาจหน้าที่ค้นคว้าวิจัย และบำรุงสรรพวิชาแล้วนำผลงานที่ได้สร้างสรรค์ออกเผยแพร่ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน ติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสานงานทางวิชาการกับสถาบันทางวิชาการอื่นๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ความเห็น คำแนะนำและคำปรึกษาทางวิชาการแก่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี และกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย การอนุรักษ์ภาษาไทยมิให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม และส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น