รองนายกฯ กล่าวในพิธีมอบรางวัลคุณภาพบริหารราชการ เผยปฏิรูปราชการเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 12 ปีก่อน อยากให้ใช้คำว่าพัฒนาระบบราชการ เน้นลดขั้นตอน ลดเวลา อำนวยความสะดวก ใช้เทคโนโลยี และมีจิตสาธารณะ ยืนยันการเลือก สปช. หลากหลาย หนักใจมาคนละทิศทาง มาแปลกบอกไม่ขัดข้องถ้ากลุ่มอื่นตั้งเวทีคู่ขนาน แต่ต้องไม่ขัดอัยการศึก ยันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่ประชานิยม แค่ช่วยเหลือประชาชน ไม่ขัดพันธะระหว่างประเทศ
วันนี้ (3 ต.ค.) ที่ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อเวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการสรรหา สปช. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวถึงการปฏิรูประบบราชการ ในงานพิธีมอบรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมว่า 12 ปีที่ผ่านมา วันที่ 3 ต.ค. 2545 เกิดการปฏิรูประบบข้าราชการครั้งใหม่ ครั้งกระนั้นการปฏิรูประบบราชการยังไม่แล้วเสร็จ งานไม่สามารถจบลงหรือขีดเส้นวันสุดท้ายได้ เพราะต้องทำให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ อยากให้ใช้คำว่า “พัฒนาระบบราชการ” มากกว่าคำว่า “ปฏิรูประบบราชการ”
ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำขณะนี้คือปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน การปฏิรูประบบราชการเป็นหนึ่งในนั้น ย้อนกลับไปผู้ที่ทำให้การปฏิรูประบบราชการไทย คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดกระทรวง ทบวง กรม และใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้เกิดกลไกหารปฏิรูปองค์กร ปฏิรูปวิธีการทำงานระบบราชการ ปฏิรูปบุคลากร ขณะที่นโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการเห็นการปฏิรูป ทำให้ระะบบราชการมีประสิทธิภาพ 5 ประการคือ 1. ลดขั้นตอน 2. ลดเวลา 3. อำนวยความความสะดวกให้ประชาชน 4. นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อลบคำว่าสองมาตรฐาน และ 5. มีจิตสาธารณะให้บริการประชาชน ในฐานะข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้งหมดเป็นหัวใจปฏิรูประบบราชการ
จากนั้น นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหลายฝ่ายมองว่าโผรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ออกมาไม่มีความไม่หลากหลายว่า หลากหลายหรือไม่จะรู้จนกว่าเมื่อประกาศรายชื่อออกมาเป็นทางการ ขั้นตอนกว่าคัดเลือก สปช. ได้ 250 คน ต้องผ่านหลายด่าน คณะกรรมการสรรหาแต่ละคณะใช้วิธีการลงคะแนน คะแนนเต็ม 7 ผู้ได้รับคัดเลือกจะได้คะแนน 5-7 คะแนน ตามจำนวนกรรมการแต่ละด้าน เชื่อวิธีดังกล่าวสร้างความหลากหลายได้ และคาดว่ารายชื่อ สปช. จะได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงมาเร็ววันนี้ จากนั้นหลังรายงานตัวจะมีการนัดหมายเรียกประชุมครั้งแรก เพื่อเลือกประธาน สปช. ขั้นตอนนี้รัฐบาลหรือใครไม่สามารถแทรกแซงได้
ทั้งนี้ ตนหนักใจเพียงแค่ความที่ สปช. มาคนละทิศละทาง ไม่รู้จักคุ้นเคยกัน ก็ต้องกำหนดกระบวนการสรรหาประธานให้ชัดเจน ส่วนบทบาทประธาน สปช. มีไม่มาก ไม่สามารถชี้เป็นชี้ตายใครได้ ไม่อาจเปรียบเทียบกับประธาน สนช. ได้ มีหน้าที่แค่ควบคุมการประชุม กำกับบทบาทสมาชิกแต่ละด้านให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เลือกประธาน สปช. และรองประธานเสร็จสิ้น จากนั้นตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ภายใน 15 วัน นับแต่วันประชุม สปช. ครั้งแรก ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจะมีการตั้งเวทีเหมือนสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยตั้งเวทีเดินหน้าปฏิรูปประเทศ แล้วนำข้อเสนอแนะส่งรัฐบาล สนช. หรือ คสช. แต่หากบุคคลกลุ่มอื่นๆ ต้องการสร้างเวทีอะไรขึ้นมาเป็นคู่ขนานไม่ขัดข้อง แต่ให้ระวังกฎอัยการศึก
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลเป็นประชานิยมว่า จะประชานิยมหรือไม่ แต่ไม่ขัดต่อมาตรา 35 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ สิ่งที่รัฐบาลทำจะไม่เป็นประชานิยม และมาตรา 35 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ชัดเจน ว่ารัฐธรรมนูญฉบับถาวร ต้องไม่ให้มีเรื่องประชานิยมที่จะนำไปสู่การหาคะแนนเสียง โดยใช้งบประมาณรัฐ เพื่อหวังผลตอบแทนทางการเมือง สิ่งนี้ไม่พึงปรารถนา
ทั้งนี้ นโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้หารือในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้นเห็นว่า 1. มาตรการดังกล่าวไม่ข้ดกฎหมาย เพราะไม่ได้นำไปสู่ประชานิยม ไม่ได้นำไปสู่การได้คะแนนเสียง แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลมีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน ต้องใช้งบประมาณอยู่แล้ว ถือเป็นประชานิยมหมดคงไม่ใช่ เพราะประชานิยมที่ดีก็มี 2. มาตรการดังกล่าวไม่ขัดข้อกำหนดองค์การการค้าโลก หรือการให้เงินอุดหนุน หรือขัดต่อพันธะระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีอยู่ ตรงนี้ไม่ขัดก็เดินไปได้ เมื่อมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต้องเขียนให้ชัดเจน ต้องเขียนเกราะป้องกันไม่ให้มีการนำงบประมาณแผ่นดินไปใช้ในโครงการที่ผูกพัน ทำให้เกิดหนี้ยาวนานแลกกับคะแนนนิยม