xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” สั่ง รมต.ดึง ปชช.เป็นพวก ขออย่าเพิ่งทำนาปรัง-ขรก.ติงเพิ่มเบี้ย ปธ.ประชุม ก.ร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผยที่ประชุม ครม.ถกนโยบายปรองดอง นายกฯ ขอ รมต.ดึง ปชช.เป็นพวกมากที่สุด เน้นรากหญ้า ผ่านการกระตุ้น ศก. ขอระวังคำพูดหวั่นถูกมองประชานิยม ย้ำอย่าเอาแค่พวกรัฐ อย่าโดดเดี่ยว สั่งเร่งแก้น้ำท่วมภัยแล้ง ให้ ก.เกษตรฯ คุยชาวนาอย่าเพิ่งทำนาปรัง-ปรับระเบียบเบี้ยประชุม ก.ร.ฉลุย เจอ ขรก.ติง ปธ.-รอง ปธ.รับอัตราสูงเกินไป

วันนี้ (1 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ช่วงท้ายการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงนโยบายสร้างความปรองดองและปฏิรูป ขอให้รัฐมนตรีทุกคนดึงประชาชนมาเป็นพวกให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะรากหญ้า เกษตรกร ชาวนาที่รายได้น้อย มีที่ดินทำนาไม่มาก และชาวสวนยางต้องได้รับการดูแล ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ระวังการใช้คำพูดเวลาไปพูดกับประชาชน เพราะเดี๋ยวจะมองว่าเป็นประชานิยม ด้านการท่องเที่ยว จากเหตุการณ์ฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย ลงไปดูความเรียบร้อย ความปลอดภัย ให้ท้องถิ่น ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา การเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าใครผิดหรือติดคดีก็ต้องพยายามนำมาดำเนินคดีในประเทศไทย โดยเฉพาะคนที่อยู่ประเทศกัมพูชา การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงไปดูแนวทางการทำงานให้สอดคล้องพระราชดำรัสในหลวง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ให้ ผบ.ทบ.คนใหม่ดูแลการทำงานในพื้นที่ และการทำงานไม่ใช่แค่เอากลุ่มเราแค่คนในรัฐบาลเท่านั้น แต่ควรมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นักธุรกิจมากินกาแฟพูดคุยกัน ไม่ต้องถึงขนาดดินเนอร์ทอล์ก อย่าอยู่โดดเดี่ยว หาเพื่อนหาคนช่วยคิดบ้าง

นายยงยุทธกล่าวต่อว่า ช่วงท้ายการประชุมครม.นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง โดยส่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กองทัพ เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่นายกฯแสดงความเป็นห่วง เนื่องจากรายงานกรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนที่เก็บกักได้ในช่วงหน้าฝนปีนี้ มีไม่เพียงพอสำหรับให้ชาวนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งที่จะถึงนี้หรือตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 56 - เม.ย. 58 โดยนายกฯ ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปทำความเข้าใจชาวนา เพื่อขอไม่ให้มีการทำนาปรังในช่วงเวลาดังกล่าว ให้คำแนะนำว่าพื้นที่ไหนควรทำอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบรัฐสภา ว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2557 ซึ่งลงนามโดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา เพื่อปรับปรุงระเบียบรายละเอียดในระเบียบว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการและเพิ่มเบี้ยประชุมให้กับกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) โดยมีสาระสำคัญ คือ ในข้อ 4 ได้เพิ่มบทบัญญัติที่ให้อำนาจ ก.ร. ในการแต่งตั้งคณะกรรมการ และกำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ไว้โดยระเบียบรัฐสภาหรือประกาศรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา จากเดิมที่ระเบียบรัฐสภา ว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2554 กำหนดให้เป็นอำนาจของประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภาเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการแต่งตั้งบุคคลในระหว่างที่ยังไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามกฎหมาย, ในข้อ 7 ได้กำหนดให้เลขานุการในคณะอนุกรรมการ ก.ร., เลขานุการในกรรมการ หรือเลขานุการในคณะอนุกรรมการ รับเบี้ยประชุมรายครั้งและมีสิทธิ์รับเบี้ยได้ไม่เกิน 1 คน ขณะที่ผู้ช่วยเลขานุการมีสิทธิ์รับเบี้ยประชุมไม่เกิน 2 คน จากเดิมที่ระเบียบเก่ากำหนดผู้ช่วยเลขานุการมีสิทธิ์รับเบี้ยไมเกิน 3 คน

นอกจากนั้น ได้กำหนดจำนวนครั้งที่จะรับเบี้ยประชุมใน 1 วัน ไม่เกิน 2 ครั้งหากมีการประชุมคณะอนุกรรมการเกิน 1 คณะในวันเดียว จากเดิมที่ระเบียบเก่ากำหนดให้รับเบี้ยประชุมเพียง 1 ครั้งใน 1 วัน ทั้งนี้ในระเบียบได้กำหนดให้รับเบี้ยประชุมเฉพาะในเดือนที่มีการประชุมเท่านั้น

ส่วนบัญชีอัตราเบี้ยประชุมของกรรมการ ก.ร. ตามระเบียบใหม่ที่มีผลบังคับใช้ มีรายละเอียดดังนี้ ตำแหน่งประธานกรรมการ ได้เบี้ยประชุมรายเดือน จำนวน 20,000 บาทต่อเดือน ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นจากระเบียบเก่าที่กำหนดให้ได้เบี้ยประชุม จำนวน 10,000 บาทต่อเดือน, ตำแหน่งรองประธานกรรมการ ได้เบี้ยประชุมรายเดือน จำนวน 18,000 บาทต่อเดือน ถือว่าปรับเพิ่มจากระเบียบเก่าที่กำหนดให้ได้เบี้ย 9,000 บาทต่อเดือน, ตำแหน่งประธานอนุกรรมการ ก.ร. ได้เบี้ยประชุมรายเดือน จำนวน 7,500 บาทจากเดิมที่ได้ 5,000 บาทต่อเดือน และได้เบี้ยประชุมเป็นรายครั้งๆ ละ 2,000 บาท จากเดิมที่ได้รับ 2,500 บาท, ตำแหน่งอนุกรรมการ ก.ร. ได้เบี้ยประชุมรายเดือนๆ ละ 6,000 บาท จากเดิมที่ได้รับ 4,000 บาท และได้เบี้ยประชุมเป็นรายครั้งๆ ละ 1,600 บาท จากเดิมที่ได้รับครั้งละ 2,000 บาท

ขณะที่ตำแหน่งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะอนุกรรมการ ก.ร. ได้เบี้ยประชุมเป็นรายครั้งๆ ละ 1,600 บาทจากเดิมที่ได้ 1,200 บาทต่อครั้ง, ตำแหน่งประธานกรรมการที่ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการหรือประธานอนุกรรมการ ช่วงไม่สามารถร่วมประชุมได้ จะได้รับอัตราเบี้ยประชุมจำนวน 2,000 บาทต่อครั้ง, ตำแหน่งรองประธานกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมอัตรา 1,800บาทอต่อครั้ง, ตำแหน่งกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,600 บาท, ตำแหน่งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,600 บาท จากเดิมที่ได้รับครั้งละ 1,200 บาท, ตำแหน่งประธานอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 2,000 บาทจากเดิมที่ได้รับ 1,500 บาท, ตำแหน่งรองประธานอนุกรรมการไดรับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,000บาทจากเดิมที่ได้ 1,200 บาท, และตำแหน่งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมเท่าเดิม คือครั้งละ 1,000 บาท

รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า สำหรับกรรมการ ก.ร.ชุดปัจจุบัน มีนายพรเพชรเป็นประธาน และมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.และนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองประธาน ก.ร. ขณะที่การประชุม ก.ร. นั้น จะกำหนดให้ประชุมเดือนละครั้ง ส่วนประชุมคณะอนุกรรมการนั้นแล้วแต่ประธานอนุกรรมการเป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มเบี้ยประชุม ก.ร. รอบนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากข้าราชการรัฐสภาถึงความเหมาะสม และมองว่าการปรับเพิ่มเบี้ยประชุมในตำแหน่งประธานและรองประธาน ก.ร.นั้น ถือเป็นอัตราที่สูงเกินไป แม้ในระเบียบจะกำหนดให้สิทธิ์รับเบี้ยประชุมในเดือนที่เข้าประชุมเท่านั้นก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น