xs
xsm
sm
md
lg

ราชบุรี MOU ร่วมกับเจ้าของฟาร์มสุกรนำร่องเมืองเกษตรสีเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ราชบุรี - จังหวัดราชบุรี ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี และเจ้าของฟาร์มสุกร จำนวน 14 ราย ในราชบุรี ร่วมทำบันทึกข้อตกลงการใช้เงินอุดหนุน “โครงการเมืองเกษตรสีเขียวด้านปศุสัตว์” สนองนโยบาย ก.เกษตรฯ ให้ราชบุรีเป็นจังหวัดนำร่องในการจัดทำโครงการเมืองเกษตรสีเขียวด้านปศุสัตว์ เพราะมีความโดดเด่นในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญ

เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (25 มิ.ย.) นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ร่วมกับนางวิมลรัตน์ สุภาคม ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี และเจ้าของฟาร์มสุกร จำนวน 14 ราย ร่วมทำบันทึกข้อตกลงการใช้เงินอุดหนุน “โครงการเมืองเกษตรสีเขียวด้านปศุสัตว์” ที่บริษัท เอส.พี.เอ็ม.อาหารสัตว์ จำกัด ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดนำร่องในการจัดทำโครงการเมืองเกษตรสีเขียวด้านปศุสัตว์ เพราะมีความโดดเด่นในการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญ มีพื้นที่การเลี้ยงปศุสัตว์บางส่วน ที่ยังก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้านน้ำเสีย กลิ่น ตลอดจนมีข้อพิพาทกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องจากน้ำเสียจากฟาร์มสุกรไหลลงสู่นาข้าว ทำให้ข้าวมีอาการเฝือใบ และไม่ออกรวง

ทั้งนี้ จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงสุกรมากที่สุดในประเทศถึงประมาณ 1,800,000 ตัว บางพื้นที่การเลี้ยงหนาแน่น และก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่น มูลสุกร ตลอดจนน้ำเสียจากการล้างสุกร และโรงเรือนไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง

ที่ผ่านมา ฟาร์มสุกรเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ต่างพยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ กัน เช่น การสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียภายในฟาร์ม การเก็บมูลสัตว์สด หรือตากแห้งแล้วรีบจำหน่ายออกจากฟาร์ม หรือการนำมูลสุกรสัตว์เข้าระบบบำบัดแบบไร้อากาศ ทำให้เกิดการผลิตก๊าซชีวภาพ และนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม นอกจากจะเป็นการนำของเสียไปใช้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นการลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสภาวะโลกร้อน และการบำบัดดังกล่าวยังลดการเกิดกลิ่นเหม็น และแมลงวัน การนำปุ๋ยจากมูลสุกรไปใช้ในการเกษตร ลดการใช้ปุ๋ยสารเคมี และยังปรับปรุงดินให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการฟาร์มสุกรที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 14 ราย แบ่งเป็นฟาร์มขนาดเล็ก 2 ฟาร์ม ขนาดกลาง 3 ฟาร์ม และขนาดใหญ่ 9 ฟาร์ม ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติแบบแปลน และลงนามทำบันทึกข้อตกลงการใช้เงินอุดหนุนเพื่อก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจะเป็นต้นแบบการนำของเสียจากฟาร์มสุกรไปใช้ประโยชน์ในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น