xs
xsm
sm
md
lg

ส่องจัดทัพบิ๊ก ขรก. “บิ๊กตู่” เน้นปึ้กงานมั่นคง ฝุ่นตลบกระทรวงตาชั่ง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ถึงฤดูแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปี 2557 เพื่อทดแทนข้าราชการเกษียณ และปรับโยกเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการในเดือนกันยายน ดูเหมือนจะไม่ค่อยคึกคักเท่าใด

เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจของ “รัฎฐาธิปัตย์” ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปรับโยกข้าราชการขั้วตรงข้าม หรือบรรดาสายตรง “นายใหญ่-นายหญิง” โดนเก็บเข้ากรุไปล่วงหน้าแล้ว

แต่ที่สำคัญการโยกย้าย “บิ๊กข้าราชการ” ของ “บิ๊กตู่” แทบที่จะไม่ต้องหนักใจสักเท่าใด เพราะบรรดานักวิ่ง-ขาเต้น เดินสายกันเงียบๆไม่ให้วุ่นวายใจถึงท่านนายกฯ

ซึ่งผิดแปลกจากยุคของ “นักการเมือง” หากเมื่อถึงฤดูแต่งตั้งโยกย้ายเมื่อใด บรรดานักวิ่ง-ขาเต้น ต่างออกมาเคลื่อนไหวต่อรอง ยื่นซองแถมเงินกันหลักหลายสิบล้านบาท เพื่อให้ได้เข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ใฝ่ฝัน เมื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งที่ต้องการแล้ว จึงต้อง “ถอนทุน” เพื่อหาเงินมาทดแทนที่เสียไป

ปัญหาการโกงกินจึงติดรากฝังลึกอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน เพราะคงไม่มีระดับ “บิ๊กราชการ” คนไหนยอมเสียเงินเพื่อไปซื้อตำมาแหน่งมาฟรี โดยไม่ยอมถอนทุนคืน

เมื่อการจัดทัพ “บิ๊กข้าราชการ” เข้ารูปเข้ารอยมาก่อนหน้านี้แล้ว งานของ “บิ๊กตู่” จึงแค่จัดคนมาแทนที่ผู้ที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น

โดยเมื่อการประชุม ครม. 23 กันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติการแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูงหลายกระทรวงด้วยกัน อาทิ “อรรชกา สีบุญเรือง” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม “นคร ศิลปอาชา” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นปลัดกระทรวงแรงงาน “ประสิทธิ์ สืบชนะ” ผู้ตรวจราชการกระทรวงกระทรวงการคลัง เป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง “อัมพวัน พิชาลัย” ที่ปรึกษาการพาณิชย์ เป็นรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ “บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร” ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน “ธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์” ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ “มาลี โชคล้ำเลิศ” ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา

“ชาติชาย ทิพย์สุนาวี” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม “พงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์” ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม “วรเดช หาญประเสริฐ” อธิบดีกรมการบินพลเรือน เป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม “ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ” รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก “สมชาย พิพุธวัฒน์” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ เป็นอธิบดีกรมการบินพลเรือน “ชูศักดิ์ เกวี” รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมทางหลวง

ส่วนกระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง “คุรุจิต นาครทรรพ” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นรองปลัดกระทรวงพลังงาน

นอกจากนี้ยังอนุมัติการต่อระยะเวลาการดำรงตำแหน่อีกบางตำแหน่ง ทั้ง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ที่ได้ตั๋วนั่งเป็น เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อีก 1 ปี เช่นเดียวกับ “อำพน กิตติอำพน” ที่ต้องทำหน้าที่เลขาธิการ ครม. ไปอีก 1 ปี

ที่น่าสนใจคือ 2 หน่วยงานหลักที่ “บิ๊กตู่” จำเป็นต้องใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารราชการด้านความมั่นคง หนีไม่พ้น “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” (สมช.) กับ “สำนักข่าวกรองแห่งชาติ” (สขช.)

เริ่มที่ สมช.ซึ่ง “ถวิล เปลี่ยนศรี” เลขาธิการ สมช.มีคิวเกษียณอายุราชการในปีนี้ โดยต้องยอมรับว่า “ถวิล - บิ๊กตู่” ทำงานร่วมกันมานานมาก โดยเฉพาะภารกิจ “ปราบม็อบแดง” ในช่วง “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ที่ทั้ง คู่นั่งเป็นคณะกรรมการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในปี 2552 และ ปี 2553 ทำให้รู้มือกันดีว่าฝีไม้ลายมือการทำงานได้มาตรฐานมากน้อยเพียงใด

หนำซ้ำสายแรกๆที่กริ๊งกร๊างปลอบใจ “ถวิล” ภายหลังที่ทราบข่าวว่า “รัฐบาลปูแดง” เด้งดึ๋งไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการ คือสายจาก “บิ๊กตู่”

ดังนั้น “บิ๊กตู่” จึงไว้ใจคนที่ “ถวิล” เลือกให้มานั่งกุมบังเหียน สมช.แทนมากเป็นพิเศษ แม้จะมีบางกลุ่มที่ต้องการเข้ามานั่งเบอร์หนึ่ง สมช. โดยอาศัยคอนเนกชั่นเตรียมทหารรุ่น 14 กับ “พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และว่าที่ ผบ.ทบ. แต่ไม่เป็นผล

ทว่าการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ตามกำหนดการแล้ว “ถวิล” จะชงชื่อ “อนุสิษฐ คุณากร” รองเลขาธิการ สมช. ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แต่กลับมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อ “หน้าห้อง” ของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะกำกับดูแล สมช. ลืมส่งหนังสือที่ “ถวิล” ส่งมาให้ “บิ๊กป้อม” เซ็น

ชื่อของ “อนุสิษฐ” จึงค้างเติ้ง ร้องเพลงรอต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์ แต่งานนี้ฟันธงได้เลยว่าไม่มีพลิกโผ

มาต่อที่ “สำนักข่าวกรอง” ซึ่ง “สุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ” ที่ขึ้นชั้นไปกินตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ก่อนเกษียณ ก็ได้ชงชื่อ “ฉัตรพงษ์ ฉัตรราคม” ลูกน้องคนสนิท ในฐานะอาวุโสอันดับหนึ่งขึ้นเป็น “ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง” แบบนอนมา ชนิดไม่มีพลิกไม่มีลุ้นไม่มีคู่แข่ง

หลังจากนี้ต้องจับตาการทำงานของ “สำนักข่าวกรอง” อย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นกลไกที่ “บิ๊กตู่” ใช้ทำงานเชิงลึก โดยเฉพาะนโยบายการต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะแนวตะแขบชายแดนทุกทิศมีผลประโยชน์มหาศาล

งานนี้คงมีทั้งข่าวหลอก-ข่าวปล่อย-ข่าวจริง ให้ “ประเทศเพื่อนบ้าน” จับทางไทยไม่ติดออกมาเยอะแน่นอน

งานหลักอีกอย่างที่ “บิ๊กตู่” ต้องใช้ “สำนักข่าวกรอง” คือ การประเมินความเคลื่อนไหวของ “คนเสื้อแดง” ในขึ้นเมืองฐานเสียงของ “พรรคเพื่อไทย” โดยเฉพาะในภาคเหนือ-ภาคอีสาน เพราะหากเจอความเคลื่อนไหวตอนไหน คสช.ที่ยังคงอำนาจไว้อยู่สามารถเข้าไปดำเนินการไม่ให้ “คนเสื้อแดง” ขยายฐานออกไปได้อีก

และจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในช่วงใกล้การเลือกตั้ง เพราะ “สำนักข่าวกรอง” ถูกวางให้ร่วมมือกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในการสำรวจคะแนนเสียงล่วงหน้าของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

ซึ่งคาดการณ์ว่า “สำนักข่าวกรอง - กอ.รมน.” เป็นกลไกหลักที่จะส่งข้อมูลไปยัง “บิ๊กตู่” หากประเมินว่าสถานการณ์เข้าทางการเลือกตั้งอาจจะเร็วขึ้น ตรงกันข้ามหากประเมินว่าสถานการณ์เป็นรอง การเลือกตั้งอาจถูกทอดเวลาออกไปอีก

จึงต้องรอลุ้นกันว่า “หน่วยงานความมั่นคง” ทุกหน่วยงานที่ “บิ๊กตู่” เลือกตั้งใช้ จะดำเนินการนำ “บิ๊กตู่” ไปสู่เป้าหมายได้มากน้อยเพียงไร

ข้ามฝากมาที่การแต่งตั้งโยกย้ายใน “กระทรวงตราชั่ง” ของ “พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องจัดทัพอย่างหนัก เพราะไม่ถือว่าลงตัวเสียทีเดียว ยังคงมีหลายคน-หลายกลุ่มให้วางหมาก เพื่อเคลียร์ตำแหน่งรอคิวกันอยู่

โฟกัสไปที่ “เบอร์หนึ่งตราชั่ง” ชั่วโมงนี้คงต้องหลีกทางให้กับ “พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร” ที่ก่อนหน้านี้ข้ามห้วยจากรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) มากินตำแหน่ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็มีชื่อจ่อในตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงยุติธรรม” แบบเดี่ยวๆไม่มีคู่แข่งให้หนักใจ

เหตุเพราะ “ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ” รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงเต็มตัว แต่ด้วย “ชาญเชาวน์” เป็นข้าราชการฟาสต์แทร็กยังเหลืออายุราชการอีกหลายปี จึงต้องชะลอไว้ก่อน โดยแขวนไว้ที่ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรมตามเดิม

เมื่อ “ชัชวาลย์” ลุกไปเป็นปลัดกระทรวง ทำให้เก้าอี้ “เบอร์หนึ่งดีเอสไอ” ว่างลง โดยชื่อที่มาแรงแซงโค้งมามาแบบเซอร์ไพร์สเล็กก็เป็น “บิ๊กเอก - พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์” รอง ผบ.ตร. ที่เพิ่งพลาดหวังจากตำแหน่งเบอร์ 1 สตช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้แก่ “บิ๊กอ๊อด - พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ว่าที่ ผบ.ตร.

แรกเริ่มเดิมทีมีสำญญาใจกันว่า หลังจาก “บิ๊กอ๊อด” เกษียณอายุราชการในปีหน้า ก็จะเป็น “บิ๊กเอก” ที่จะได้สืบทอดตำแหน่งอีก 1 ปี เพราะมีคิวเกษียณอายุราชการในปี 2559 แต่เมื่อมีการเขย่าชื่อโยกย้ายบิ๊กข้าราชการในหลายกระทรวง จึงมีไอเดียทาบทาม “บิ๊กเอก” ให้ข้ามห้วยเข้ามาทำหน้าที่บิ๊กดีเอสไอ เนื่องจากเป็นนายตำรวจที่เชี่ยวชาญงานด้านสอบสวน แม่นยำในข้อกฎหมาย

เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า “บิ๊กเอก” ต้องมาทำหน้าที่อธิบดีดีเอสไอแบบฟูลไทม์ ไม่ให้ถ่างขาควบรอง ผบ.ตร.ไว้ จับทิศทางตามเงื่อนไขนี้ก็อ่านไม่ยาก เหตุผลหลักคงหนีไม่พ้นการเปิดทางให้ “พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา” ผู้ช่วย ผบ.ตร.ที่กำลังจะขยับขึ้นติดยศ พล.ต.อ.ในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.รอบนี้ มีโอกาสดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ในปีหน้าทันที

ต้องยอมรับว่าทางเลือกนี้ ค่อนข้างสร้างความอึดอัดใจให้ “บิ๊กเอก” เพราะความฝันสูงสุดย่อมหนีไม่พ้นการได้นั่งตำแหน่ง ผบ.ตร. หากการเจรจาเป็นผล ก็ไม่ต่างกับการผิดสัญญาหน้าฝน เพราะหากมีใครบางคนแอบหนุนคนใกล้ชิดขึ้นเป็น ผบ.ตร. ต่อหลัง “บิ๊กอ๊อด” ก็ต้องเขี่ย “บิ๊กเอก” ให้ออกนอกเส้นทางเสียก่อน ไม่เช่นนั้นเรื่องความอาวุโสคงมาเถียงกับ “บิ๊กเอก” ไม่ได้

ทั้งหมดคือการโยกย้าย “บิ๊กข้าราชการ” ที่ “บิ๊กตู่” วางหมากแบบเชื่อใจ “คนสนิท” ในหน่วยงานความมั่นคงที่ต้องใช้บริการ แต่กับ “กระทรวงตราชั่ง” ต้องติดตามดูว่า “บิ๊กตู่” จะวางเกมแบบไหน และยังมีหลายกระทรวงที่โผโยกย้ายยังไม่สะเด็ดน้ำด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น