xs
xsm
sm
md
lg

คัดแล้ว 250 สปช.เตรียมทูลเกล้าฯ ถวาย - “บิ๊กตู่” ขอปิดเป็นความลับ-ยังไม่เลิกอัยการศึกเวลานี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ ประชุม คสช.ชุดใหญ่ที่บ้านพักเกษะโกมล ก๊วนเกือบครบพิจารณาคัดเลือก สปช.250 คนแล้ว เจ้าตัวเผยไม่จำเป็นต้องเข้า ครม. ให้ “อำพน” สอบคุณสมบัติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ยันสัดส่วนเหมาะสมไม่มีการล็อก ขอปิดรายชื่อเป็นความลับ เผยประชุมร่วม ครม.-คสช. 7 ต.ค. ปัดหารือยกเลิกกฎอัยการศึกเวลานี้


วันนี้ (26 ก.ย.) ที่บ้านพักรับรองเกษะโกมล ถนนอำนวยสงคราม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานการประชุม คสช.ชุดใหญ่ครั้งแรก ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งแต่งตั้งปรับโครงสร้างคณะทำงานใหม่ โดยมีวาระเพื่อการพิจารณาคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 250 คน ก่อนที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ทันกำหนดในวันที่ 2 ต.ค.นี้

ทั้งนี้ มีรองหัวหน้า คสช.ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม, พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ และผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม และผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมทั้งสมาชิก คสช.ได้แก่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก, พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และ รมว.ยุติธรรม, พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง เสนาธิการทหารอากาศ, พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รวมถึง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. ส่วน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ นั้นไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย เนื่องจากติดภารกิจ ท่ามกลางมาตรการระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร โดยจัดพื้นที่ให้สื่อมวลชนสามารถบันทึกภาพได้บริเวณฝั่งตรงข้ามบ้านพักรับรองเกษะโกมลเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่ก็ปิดประตูทางเข้าออกด้านหน้าทันที

จากนั้นเวลา 15.00 น. ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า ที่ประชุม คสช. ได้เห็นชอบรายชื่อ สปช.จำนวน 250 คน หลังจากที่ตนได้พิจารณามาแล้วเบื้องต้น โดยไม่จำเป็นต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจาก คสช.ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ และจากนี้จะส่งรายชื่อทั้งหมดให้นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม. ตรวจสอบคุณสมบัติและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไปให้ทันวันที่ 2 ต.ค. โดยการประชุม คสช.วันนี้เป็นการหามติรับรองรายชื่อ สปช.ที่ได้รับการคัดสรรหาในรอบที่ 1 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งตนได้รับรายงานมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งจำนวน 550 คน จากจำนวน 7,000 กว่าคนที่มาจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทางคณะกรรมการคัดสรรที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน ทั้งหมด 11 ด้าน ซึ่งได้มีการประชุมคัดกรองกันมาเป็นอย่างดีทุกชั้นประมาณ 3-4 ครั้ง

ทั้งนี้ ในจำนวน 550 คน เพื่อให้เกิดความครอบคลุม มีบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทั้ง 11 เรื่อง จึงได้มีการคัดสรรในระดับที่เรียงลำดับให้ง่ายต่อการที่ คสช.จะพิจารณา เช่น ฝ่ายบริหารราชการแผ่นดินต้องมีทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นโดยภาคประชาชนมีส่วนร่วม เป็นการเกลี่ยเบื้องต้นมาก่อนแล้ว ไม่ใช่เป็นการล็อกใครเข้ามา เป็นการดูสัดส่วนให้เหมาะสม ซึ่ง 550 คนเป็นเรียงลำดับตามความสำคัญมาให้ตนดู ส่วนกลุ่มที่ 2 อีก 385 คนมีขั้นตอนการคัดสรรเป็นอย่างดีจากที่ได้ฟังเจ้าหน้าที่รายงาน โดยมีการคัดสรร 2-3 รอบ ส่วนมีประเด็นเรื่องฮั้ว ตนยังไม่ทราบตอนนี้ เท่าที่ฟังจากที่ประชุมวันนี้และจากคณะกรรมการคัดสรรรับทราบว่ามีการปรับตลอดเวลาเมื่อมีกระแสข่าวในแต่ละเรื่อง ทุกอย่างต้องระมัดระวังมากขึ้น มีการแก้ไขปรับปรุงให้มีความรัดกุมจะได้ไม่เกิดปัญหาในอนาคต

“วันเสาร์ และวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมไม่ได้เข้าไปทำงานเพราะต้องดูรายชื่อทั้งหมดจนตาจะแฉะอยู่แล้ว ต้องดูด้วยตัวเองและหารือกับ คสช. เพราะฉะนั้นขั้นตอนจากวันเสาร์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้เป็นเรื่องของ คสช. โดยผมกับ คสช.ได้ทำการบ้านมาเรียบร้อยแล้ว ผมนำรายชื่อมาดูและเรียงลำดับของผมมา วันนี้เป็นการนำรายชื่อมาให้ คสช.ดูเพื่อถามว่ามีมติเห็นชอบร่วมกันหรือไม่ วันนี้ถือว่าโอเคและอนุมัติในหลักการว่าทั้งหมดคือจำนวน 250 คน และกังวลว่าที่หลุดจาก 250 คนจะทำอย่างไร เรากำลังหาช่องทางให้คนเหล่านั้นมาร่วมกระบวนการปฏิรูปได้อย่างไร จึงได้มอบให้สำนักงานเตรียมการปฏิรูปของ คสช.ที่กระทรวงกลาโหมดำเนินต่อไป เพราะมีสำนักงานที่ปรึกษาของสภาปฏิรูปอยู่ ก็ไปจัดกลุ่มว่าที่เหลือจะเข้ามาช่วยงานได้อย่างไร รายชื่อ 250 คน วันนี้ขอเป็นความลับ เพราะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า หลังจากวันนี้จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนำมีการโปรดเกล้าฯ แล้วก็จะมี สปช.เกิดขึ้น จากนั้นก็จะมีการเรียกประชุมเพื่อกำหนดประธานและรองประธานต่อไป รวมถึงจะดำเนินการจัดกลุ่มใหม่ 11 กลุ่มอีกครั้ง เพราะบางคณะอาจมีคนมาก และบางคณะอาจมีคนน้อย แต่ละฝ่ายอาจจะไม่เท่ากัน เช่น การศึกษา 700-800 คน แต่ด้านสื่อมี 100 กว่าคน เพราะฉะนั้น 250 คนจะตีรายชื่อยาว และนำมาปรับใหม่ ไม่จำเป็นที่ต้องไปอยู่ด้านศึกษาทั้งหมด เพราะคณะอื่นก็จะไม่มี แต่จะเป็น 11 กลุ่มเหมือนเดิม แต่คนที่สมัครด้านศึกษาอาจจะไปอยู่ด้านพลังงานหรือบริหารราชการแผ่นดินก็ได้ อย่าไปห่วงว่าไม่ตรงที่สมัครมาแล้วจะทำไม่ได้ คงไม่ใช่ เพราะการจะทำหรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่กลุ่ม แต่ละกลุ่มเมื่อได้ข้อสรุปก็จะเสนอทางสภาใหญ่เพื่อเห็นชอบรับรอง ถ้าไม่เห็นด้วยก็ค้านในที่ประชุมใหญ่เหมือนกับ สนช. ทั้งนี้ ยืนยันว่าที่ผ่านมา คสช.ให้อิสระในการทำงานด้านการปฏิรูป การตั้งสำนักงานเตรียมการปฏิรูปของ คสช.ที่กระทรวงกลาโหมนั้นเป็นการเตรียมข้อมูลให้ สปช.เพื่อสามารถทำงานได้ทันที โดยรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วน ผ่านศูนย์ดำรงธรรม และ กอ.รมน.จังหวัด ในแต่ละเรื่องโดยสำนักงานเตรียมการปฏิรูปฯ จะส่งให้ สปช.หาข้อสรุปกันเอง ซึ่งอย่าไปเปิดเวทีข้างนอก เพราะจะยุ่งกันใหญ่ ถ้าเปิดเวทีนอกสาย เรารับไม่ได้ ทั้งนี้ทางกระทรวงกลาโหมจะนำไปดำเนินการต่อเพื่อกำหนดความชัดเจน

เมื่อถามว่า 250 รายชื่อที่ออกมาคุ้นหูของสาธารณชนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีหมดทั้งตัวแทนนักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งนี้ขอให้มองในแง่ดี เพราะเข้ามาอยากให้บ้านเมืองไปได้ เมื่อถามต่อว่า 250 คนเป็นคนที่เคยช่วยงาน คสช.มาก่อนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ทราบเพราะไม่ได้รู้จักหมดทุกคน บางคนก็เป็นทหารเก่า ข้าราชการเก่า ผู้แทนกลุ่มต่างๆ นักวิชาการมากเหมาย ตนไม่รู้จักหมด เพราะรู้จักแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้รู้จักส่วนตัว เพราะไม่ได้ห้ามใคร ถ้าเขาไม่ผ่าน 550 หรือ 385 คน จะมาว่า คสช.ไม่ได้ เพราะไม่ได้ผ่านคณะกรรมการคัดสรร หรือคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมา

พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกับ คสช.ว่า การประชุมร่วมดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 7 ต.ค.ซึ่งจะเป็นการทำความเข้าใจการทำงานระหว่าง ครม. และ คสช. โดยมาหารือว่าการทำงาน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาติดขัดตรงไหนอย่างไร และจะสานต่อนโยบาย คสช.กับการทำงานของ ครม.มีอะไรที่ยังขัดแย้งหรือมีปัญหาอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการติดต่อประสานงาน ไม่ใช่เรื่องการทะเลาะกัน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะยังไม่มีการนำประเด็นการประกาศยกเลิกใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาหารือในวันดังกล่าว แต่ทั้งนี้หากจะมีการยกเลิกจะต้องหารือร่วมกันอย่างแน่นอน และต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ซึ่งตอนนี้เรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึกกำลังหารืออยู่ในสมองตนเองไปเรื่อยๆ

“ตอนนี้กำลังพิจารณาอยู่ในสมองของผม การประชุมร่วม ครม.และ คสช.ได้กำหนดไว้เดือนละ 1 ครั้ง ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือวาระสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนด้วยกัน อย่างที่บอกแล้วว่าผมต้องการให้รัฐบาลทำงานด้วยความอิสระ คสช. มีทำหน้าที่แค่ติดตาม แต่ คสช.ต้องรู้ข้อมูลด้วย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยกำลังทหารยังอยู่ในพื้นที่ทั้งหมด ไม่ได้ไปกดดันใคร แต่ไปเพื่อสืบทราบปัญหานำข้อมูลมารายงานกับรัฐบาลด้วย ขอให้ทุกคนมองด้วยเจตนาที่ดีต่อกัน ผมไม่จำเป็นต้องไปล็อกใครเข้ามา” นายกรัฐมนตรีกล่าว













กำลังโหลดความคิดเห็น