กก.สิทธิฯ ร่อนหนังสือ “ประยุทธ์-ดาว์พงษ์” ทบทวนอัยการศึก หลังชาวบ้านร้องถูกไล่ที่ทำกิน เหตุคำสั่ง ฉ.64 ทำเดือดร้อนไปทั่ว 2 เดือนมี 19 คำร้อง 11 จังหวัด รับเจตนาดีเอาผิดนายทุนรุกป่า แต่คนตัวเล็กรับกรรมแทน ปชช.ชุมชนคลองไทรพัฒนา ร้องถูกทหารบีบออกนอกพื้นที่ใน 7 วันหลัง รอง ผอ.กอ.รมน.-รองผู้ว่าฯ ร่วมหัวนายทุนไล่ เผยมี 4 ชุมชนถูกขึ้นบัญชีดำขับไล่
วันนี้ (26 ก.ย.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากที่มีการออกคำสั่งฉบับที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่งฉบับที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน พบว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจำนวนมากจากการขับไล่ออกนอกพื้นที่ กรรมการสิทธิฯจึงมีการตรวจสอบเรื่องนี้และได้เชิญตัวแทนจาก คสช., กอ.รมน., กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ มาชี้แจงเมื่อวันที่ 10 กันยายน และแจ้งให้ทราบว่าหลังมีคำสั่งที่ 64 และคำสั่งที่ 66 มีปัญหามากเพราะชาวบ้านร้องเรียนว่ามีการขับไล่ประชาชนออกจากป่ามี 19 คำร้องในพื้นที่ 11 จังหวัดทั่วประเทศ
จากการประชุมร่วมกันสรุปข้อเท็จจริงว่า คำสั่งฉบับที่ 64 มีเจตนาที่จะขับไล่นายทุน นักการเมืองที่บุกรุกป่า แต่คำสั่งที่ 66 ให้พิจารณาสิทธิผู้ยากไร้และด้อยโอกาส แต่เมื่อไปบังคับใช้พบว่าชาวบ้านจำนวนมากได้รับผลกระทบ ทั้งที่ใช้สิทธิชุมชนต่อสู้มานานหลายพื้นที่อยู่ในโครงการโฉนดชุมชน อยู่ในพื้นที่ก่อนประกาศเขตป่า ซึ่งแผนแม่บทกำหนดชัดเจนว่าการจะไล่ประชาชนต้องดำเนินการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องภาพถ่ายทางอากาศ และหลักฐานพยานบุคคลก่อน แต่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่กลับดำเนินการขับไล่เลยโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดคำสั่งที่ 66 และรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วย
“เราได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศให้รับทราบว่าการดำเนินการต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และคำสั่ง คสช. ไม่เช่นนั้นจะเกิดความรุนแรง แม้เราไม่มีอำนาจทางการปกครองแต่ข้อเสนอของเราเป็นข้อเสนอในแง่การบังคับใช้กฎหมายที่ยึดหลักความเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นแทนที่จะคืนความสุขกลายเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับประชาชนซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น ตอนนี้มีการใช้กฎอัยการศึกมาอ้างเพื่อความเด็ดขาดในการใช้อำนาจโดยไม่ยึดหลักความเป็นธรรม แต่ถ้าใช้กฎอัยการศึกแบบนี้ความรุนแรงจะขยายตัวมากขึ้น เพราะคนที่เป็นตัวการตัดไม้ทำลายป่าไม่ได้ถูกดำเนินการ แต่คนตัวเล็กตัวน้อยถูกจัดการเรียบหมด ทางกรรมการสิทธิฯ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ไปแล้วว่ามีปัญหาการทำตามคำสั่ง คสช.ที่ 64 ไปจัดการกับประชาชนแทนที่จะจัดการกับนายทุนที่ทำผิด ภายในไม่กี่เดือนมีการร้องเรียนเรื่องเดียวกันถึง 19 เรื่องมากที่สุดตั้งแต่ผมเข้ามาเป็นกรรมการสิทธิฯ จึงเป็นเรื่องด่วนที่อยากให้คสช.แก้ไขเพราะตอนนี้เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เหตุการณ์ที่ชุมชนคลองไทรเป็นคำร้องที่ 19” นพ.นิรันดร์กล่าว
ด้านตัวแทนชุมชนคลองไทรพัฒนา ได้เข้าร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้คุ้มครองชุมชนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุกคามต่อชีวิตและสิทธิในที่ดินทำกิน กรณีชุมชนคลองไทรพัฒนา หลังจากที่พันเอกสมบัติ ประสานเกษม รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร 50 นายพร้อมกับกลุ่มผู้มีผลประโยชน์จากการขายที่ดินที่ผิดกฎหมายซึ่งยังเป็นกรณีพิพาทกับ ส.ป.ก. คือ นายสุนทร ช่วยบำรุง และนายวิสิษฐ์ ปานพรหมมินทร์ เข้าพื้นที่ขับไล่ชาวบ้านออกจากชุมชน โดยทหารได้เข้าตรวจค้นบ้านเรือนของสมาชิกชุมชน พร้อมกับใช้อาวุธสงครามกวาดต้อนชาวบ้านไปที่ศาลาและทำลายหลักฐานภาพถ่ายของชาวบ้าน โดยไม่รับฟังคำชี้แจงว่าชาวบ้านได้รับอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ตามมติครม.สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปี 2553 ให้เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการลงนามในข้อตกลงร่วมกันระหว่างตัวแทนขบวนการเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กับตัวแทนของรัฐบาลคือนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง แต่เจ้าหน้าที่ทหารก็ไม่รับฟัง
แม้จะมีการเจรจาอีกครั้งในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยพันเอกสมบัติ ไม่สนใจเอกสารของชาวบ้านที่ยืนยันถึงความชอบธรรมในการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามมติ ครม. แต่ขอให้ชุมชนออกนอกพื้นที่ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 มีชายอ้างตัวว่าเป็นทหารจากค่ายวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าตรวจสอบพื้นที่และตำรวจเขาพนม 2 นาย พร้อมด้วยจ่าสิบเอกสมศักดิ์ กล่อมเอี่ยม ทหารฝ่ายข่าวเดินทางมายังพื้นที่และแจ้งต่อชาวบ้านว่าจะนำป้ายมาติดประกาศให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน โดยนำคำสั่งทุเลาการบังคับคดีที่มีผลเพียงแค่คุ้มครองผลอาสินให้บริษัทที่มีข้อพิพาทกับ ส.ป.ก.มาอ้างเป็นคำสั่งขับไล่ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ ทั้งๆ ที่บริษัทดังกล่าวแพ้คดีเนื่องจากทำประโยชน์ในพื้นที่โดยผิดกฎหมาย โดยทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องการให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ไปก่อนเพื่อรอจัดสรรที่ดินทำกินของศูนย์ประสานงานแก้ไขความยากจนและพัฒนาชนบทตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)
“ก่อนหน้าที่จะมีการยื่นคำขาดให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ภายใน 7 วัน นายวงศ์ศิริ พรหมชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินทางมาเจรจาให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่แต่ไม่สำเร็จ จึงมีการต่อรองขอให้แบ่งพื้นที่ 300 ไร่ให้กับผู้มีผลประโยชน์เดิมแต่ชาวบ้านไม่ตกลง กระทั่งต่อมาวันที่ 24 กันยายน ก็มีการขู่ว่าจะติดประกาศขับไล่ออกนอกพื้นที่ภายใน 7 วัน ทำให้ชาวบ้านอยู่ในอาการหวาดกลัวจึงขอให้กรรมการสิทธิช่วยคุ้มครองและระงับการไล่ชาวบ้าน พร้อมกับขอความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินการเรื่องนี้ เนื่องจากที่ผ่านมามีแต่การดำเนินการด้วยวาจาเท่านั้น” ตัวแทนชุมชนคลองไทรพัฒนากล่าว
สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในข่ายที่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าดำเนินการให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่มีมติ ครม.ให้ออกโฉนดชุมชน มี 5 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนคลองไทรมีพื้นที่จำนวน 1,051 ไร่ ชุมชนน้ำแดงพัฒนา ชุมชนสหพันธ์ก้าวใหม่ ชุมชนเพิ่มทรัพย์ และชุมชนสันติพัฒนา โดยมีการดำเนินการแล้วสองชุมชน คือ ชุมชนคลองไทรและชุมชนน้ำแดงพัฒนา โดยในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ที่นายทุนบุกรุกเข้าทำประโยชน์ปลูกสวนปาล์มและถูก ส.ป.ก.ฟ้องขับไล่ชนะคดีจนถึงศาลอุทธรณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทั้งนี้ที่ผ่านมากลุ่มผู้มีอิทธิพลได้พยายามข่มขู่ให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวเพื่อให้ย้ายออกนอกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย ประกอบด้วยนายสมพร พัฒนภูมิ ถูกลอบยิงเสียชีวิตในวันที่ 19 พ.ย. 53 แต่คดีไม่คืบหน้า และคดี นางปราณี บุญรักษ์ และนางมณฑา ชูแก้ว ถูกลอบยิงเสียชีวิตในวันที่ 19 พ.ย. 55 จับผู้ต้องหาได้ 2 คน