xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ชี้ทำประชามติต้องให้เวลา 1 ปี น้อยกว่านั้นสูญเงินเปล่า เหน็บ “โอ๊ค-ปึ้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สมชัย” ถอดประสบการณ์ดูงานประชามติสกอตแลนด์ ชี้ไทยเทียบไม่ได้ แนะหากร่าง รธน.เสร็จจะทำประชามติต้องให้เวลา 1 ปี เพื่อ ปชช.จะได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน ระบุถ้ามีเวลาแค่ 2 เดือนอย่าทำ สูญงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ซ้ำยิ่งทำคนในชาติแตกแยกเพราะไม่รู้จริง ขณะเดียวกัน ถามหา “โอ๊ค-ปึ้ง” คู่กรณีทางเฟสมาฟังบรรยายหรือไม่ พร้อมโวเป็นนักรัฐศาสตร์ ได้ไปดูบิ๊กอีเวนต์ของโลกในการทำประชามติที่สกอตแลนด์ ตายก็คุ้ม

ที่สถาบันพระปกเกล้า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “ประสบการณ์ประชาธิปไตยกับกระบวนการเลือกตั้งและลงประชามติ” ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยระดับสูง รุ่นที่ 18 ของสถาบันพระปกเกล้าว่า จากการไปศึกษาดูงานการลงประชามติสกอตแลนด์ขอแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา เห็นว่ามีจุดเด่น คือ มีการให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนก่อนการตัดสินใจนานถึง 2 ปี และประชาชนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลอย่างรอบด้าน ทุกมิติ โดย กกต.จะเป็นผู้กำหนดงบประมาณ และรูปแบบในการรณรงค์ของกลุ่มทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการแยกตัว มีการใช้สื่อหลายรูปแบบออกมาเพื่อให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด

นอกจากนี้ยังพบว่าคนสกอตแลนด์มีการยอมรับความแตกต่างทางความคิดของแต่ละฝ่าย และเมื่อที่สุดผลการลงประชามติออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายก็ยอมรับ จากการดูงานดังกล่าวหลายอย่างสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ เช่น การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการลงคะแนนเสียงได้หลายช่องทาง การขยายเวลาเลือกตั้ง การรณรงค์ให้ความรู้ต่างๆ รวมทั้งยังเห็นวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีการยอมรับความแตกต่างทางความคิด และสุดท้ายคือการยอมรับผลการลงประชามติ และการไปดูงานครั้งนี้หลายอย่างสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้

“ที่ผมไปดูงานที่สกอตแลนด์ถือเป็นบิ๊กอีเวนต์ของโลก เพราะมีผลต่อประเทศอังกฤษที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจระดับโลกที่มีคนทั้งโลกติดตาม โอกาสที่จะมีคนได้ไปดูน้อยมาก ต้องอีก 100 ปีถึงจะจัดลงประชามติอีกครั้ง ถือเป็นโชคดีมหาศาล ผมสอนรัฐศาสตร์ สอนเรื่องการเมืองการปกครอง ครั้งหนึ่งในชีวิตได้ไปดูการลงประชามติอย่างแท้จริง ขณะที่นักรัฐศาสตร์อีกหลายคนไม่ได้ไปดู ผมถือว่าตายก็คุ้มแล้ว ส่วนที่มีการโจมตีว่าไปเที่ยว ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเมื่อไปต่างประเทศก็ต้องไปดูศิลปวัฒนธรรมนของประเทศนั้นๆ อย่างมีคณะจากต่างประเทศมาที่ประเทศไทยก็ต้องไปดูวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่ผ่านมาผมโดนเยอะ เมื่อเช้าก็มีการโพสต์รูปบรรยายว่า กกต.ไปดูงานต่างประเทศ สตง.ว่ายังไง” นายสมชัยโชว์ภาพที่ถูกโพสต์ในเฟซบุ๊ก และระบุว่ามีการเอาภาพตนที่ไปซานฟรานซิสโกเมื่อ 2 ปีก่อนก่อนที่จะมาเป็น กกต.มาโพสต์และกล่าวหาว่าตนไปเที่ยวสกอตแลนด์ใช้ภาษีประชาชน โดยนายสมชัยตอบโต้กลับไปว่า “เจอพวกกินหญ้าอีกแล้ว”

ทั้งนี้ ในการบรรยายดังกล่าวนายสมชัยได้มีการฉายเพาเวอร์พอยต์ประกอบการบรรยายกว่า 20 ชิ้น รวมถึงนำเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับของการแยกตัวเป็นเอกราชที่ กกต.สกอตแลนด์ทำขึ้น และแจกจ่ายให้ผู้มีสิทธิออกเสียงได้ศึกษามาแสดงให้นักศึกษา ปปร.ด้วย รวมทั้งเมื่อเริ่มบรรยายได้ระยะหนึ่งนายสมชัยก็ได้ถามหา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ และนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่เป็นผู้ตั้งประเด็นทำนองท้าทายนายสมชัยในโซเชียลมีเดียว่าการเดินทางไปดูงานครั้งนี้เป็นการสิ้นเปลืองเงินภาษีประชาชนหรือไม่ และเมื่อนายสมชัยกลับมาควรมาบรรยายว่าได้อะไรจากสิ่งที่ไปดูงานมา

โดยนายสมชัยกล่าวติดตลกว่า “ขอเช็กชื่อนักศึกษาก่อน” คุณพานทองแท้มามั้ยครับวันนี้ คุณสุรพงษ์ เป็นสองท่านที่สนใจ ไม่ได้มาหรือครับ” เรียกเสียงหัวเราะจากนักศึกษา ปปร.พอสมควร และหลังการบรรยายนายสมชัยก็ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีการซักถาม ส่วนใหญ่ก็จะมีการซักถามในเรื่องความแตกต่างของการทำประชามติของไทย และสกอตแลนด์ และความเป็นไปได้ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายสมชัยกล่าวว่า การลงประชามติของไทยที่ผ่านมาแตกต่างจากที่สกอตแลนด์ โดยเฉพาะการลงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมาพบว่า มีคนไทยอ่านรัฐธรรมนูญจริงๆ น้อยกว่า ต่างจากที่สกอตแลนด์ซึ่งมีการศึกษาปัญหาที่จะลงประชามติเพื่อแยกประเทศครั้งนี้มาเนิ่นนาน เห็นได้จากการมีนายกฯท้องถิ่นของสกอตแลนด์ และประกาศนโยบายแยกประเทศเป็นเอกราชเมื่อปี 2555 จนนำไปสู่การเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ และยอมให้มีการจัดลงประชามติในเดือน ต.ค. 2557 รวมเวลาให้ประชาชนได้วิเคราะห์ถกเถียงข้อดีข้อเสียถึง 2 ปี ถามว่าประเทศไทยจะมีการทำประชามติสักเรื่อง อย่างน้อยที่สุดต้องให้เวลา 6 เดือนขึ้นไปถึง 1 ปี ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ 1-2 เดือนก็มาถามเลยว่าลงประชามติหรือไม่ อย่างนี้อย่าทำ เพราะงบประมาณ 3 พันล้านบาทจะสูญเปล่า คนจะแตกแยกกันมากขึ้นเพราะไม่รู้เรื่องจริง มันต้องเปิดให้ฝ่ายเห็นด้วยเห็นต่างมานำเสนอความเห็นทางทีวี จัดเวทีสัมมนาให้คนในสังคมได้มีโอกาสรับรู้อย่างเต็มที่ อย่าใช้ประชามติเป็นเพียงเครื่องมือทางพิธีกรรมในการสร้างความชอบธรรมทางอำนาจให้แก่ฝ่ายปกครอง ประเทศไทยเราใช้ประชามติในการปิดปากประชาชน ประชามติต้องมาจากจิตสำนึก การรับรู้ รู้จริงและคิดด้วยตนเอง

“เวลานี้โจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่คนไทยและ คสช.อยากจะแก้ ก็คือทำอย่างไรให้คนเห็นแตกต่างไม่แตกแยก คิดว่าจะแก้ต้องแก้ที่ฝ่ายการเมือง ไม่ใช่ประชาชน ถ้าฝ่ายการเมืองมีจิตใจที่ยอมรับผลแพ้ชะน มีความคิดที่เคารพกติกา มีเหตุผล ไม่อาศัยประชาชนเป็นเครื่องมือปลุกปั่น บ้านเมืองก็จะสงบ แต่ทุกวันนี้อะไรที่ทำให้เกิดความได้เปรียบก็จะทำ อะไรทำให้คนเกลียดอีกฝ่ายหนึ่งได้ก็จะทำ มันจึงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของนักการเมือง จริงอยู่เราอาจเปลี่ยนนักการเมืองยาก แต่ถ้าสังคมแสดงความชิงชังว่าไม่รับนักการเมืองที่มีพฤติกรรมแบบนี้ ก็จะเป็นคำตอบให้กับนักการเมืองคนนั้นว่าเขาต้องเปลี่ยนแปลง” นายสมชัยกล่าว และว่าหากต้องการให้ประเทศเดินหน้า แต่ละฝ่ายต้องไม่ยึดติดอดีตแต่ควรมองอนาคต แล้วร่วมกันสร้างกติกาใหม่ที่ทุกคนยอมรับ ไม่ใช่ปล่อยให้อีกฝ่ายทำและรอให้เกิดปัญหาแล้วมาโจมตีกัน

เมื่อถามว่า หากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่ไม่มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญจะมีความชอบธรรมหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า การทำประชามติเป็นเพียงกลไกที่ถูกสร้างขึ้นที่เราจะเลือกใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ สมัยก่อนรัฐธรรมนูญหลายฉบับก็ไม่มีการประชามติ แต่ก็บังคับใช้ได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่า หากรัฐธรรมนูญใหม่มีส่วนร่วมโดยประชาชนก็จะมีการยอมรับ

อย่างไรก็ตาม หลังการบรรยายเสร็จสิ้น นายสมชัยยังได้กล่าวเหน็บในตอนท้ายว่า หวังว่าการบรรยายครั้งนี้จะเป็นมาตรฐานของการไปดูงานต่างประเทศของราชการและหน่วยงานต่างๆ ว่าไปแล้วจะได้กลับมาบรรยายสรุปถึงประโยชน์ของการดูงานต่อสาธารณะแบบนี้





กำลังโหลดความคิดเห็น