xs
xsm
sm
md
lg

ยกเครื่องกฎหมายแรงงานรับเออีซี จี้ยึด มรท.สร้างความเชื่อมั่นคู่ค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสร. เร่งปรับปรุงกฎหมายแรงงาน รองรับประชาคมอาเซียน เชื่อการเข้าไปดูแลคุ้มครองต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบมาเช้าเย็นกลับ และตามฤดูกาลที่กำลังจะมีขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาค้ามนุษย์ได้ พร้อมชวนสถานประกอบการใช้ มรท. สร้างความเชื่อมั่นกับคู่ค้า

วันนี้ (20 ส.ค.) ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการปีะชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายพานิช จิตรแจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน บรรยายพิเศษหัวข้อมาตรฐานแรงงานไทยก้าวไกลสู่ประชาอาเซียน ในพิธีเปิดงานวันมาตรฐานแรงงานไทย ครั้งที่ 14 “พัฒนามาตรฐานแรงงานไทย มั่นใจระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี มีความพร้อมสู่ประชาคอาเซียน” โดย นายพานิช กล่าวว่า การมุ่งเน้นมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.) สู่ประชาคมอาเซียนนั้น จะเน้นมาตรฐานด้านต่างๆ ทั้ง ด้านกฎหมาย การคุ้มครองแรงงาน แรงงานสัมพันธ์ และความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น ให้เป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายที่จะต้องปรับปรุง คือ การรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ 98 เรื่องการรวมตัวและเจรจาต่อรอง รวมถึงกฎหมายแรงงานทางทะเลที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยที่ผ่านมามีการปรับปรุงมาตรฐานด้านกฎหมายทุกๆ 2 ปี ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยี

อธิบดี กสร. กล่าวต่อว่า ส่วนการผลักดันการใช้ มรท. นั้น ขณะนี้ได้มีการเชิญชวนสถานประกอบการเข้าร่วมทำ มรท. เพื่อลดผลกระทบจากการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับการค้ามนุษย์ในระดับ 3 เป็นเหตุให้คู่ค้าของสถานประกอบการอาจจะลดลง แต่ปัญหาคือ ทางสถานปีะกอบการมองว่า การทำ มรท. จะต้องใช้เวลานาน ขณะที่การรักษาความเชื่อมั่นต่อคู่ค้าเป็นเรื่องเร่งด่วน กสร. จึงได้วางแผนในการจัดการเรื่องนี้โดยใช้ 3 มาตรการคือ 1. ตั้งคณะกรรมการในแต่ละจังหวัดเพื่อทำการตรวจสอบการใช้แรงงานเด็ก เแรงงานบังคับ ว่าผ่านมาตรฐานหรือไม่ หากผ่านก็จะมีการออกหนังสือรับรองระยะสั้นก่อน 2. เพิ่มความเข้มข้นด้วยการจัด GLP เพื่อกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายบางส่วนที่จำเป็นในการประกอบกิจการ และจะมีการประกาศในแต่ละสาขาเพื่อนำไปกำหนดมาตรฐานนำไปสู่การกำหนดแนวปฏิบัติจากนั้นส่งมายัง กสร. เพื่อพิจารณาและอนุมัติเป็น มรท. และ 3 ประกาศใช้ มรท. 8001 ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นตัวที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือแก่คู่ค้าได้เป็นอย่างดี

นายพานิช ยังกล่าวถึงมติของคณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง ที่ให้ตั้งศูนย์คุ้มครองแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดนและแต่งตั้งให้อธิบดี กสร. เป็นอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานฯ เนื่องจากหลังจากมีการจ้างงานและเข้าสู่ระบบการดูแลด้านแรงงาน และสาธารณสุข จะต้องเรื่องของการคุ้มครองแรงงานและการร้องเรียนตามเข้ามา ว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบเช้ามาเย็นกลับและตามฤดูกาลทั้ง 5 จังหวัด คือ สระแก้ว ตราด ตาก มุกดาหาร และ สงขลา นั้น จะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการต่างๆ รวมทั้งที่พักสำหรับแรงงานตามฤดูกาลเช่นเดียวกับแรงงานไทย ซึ่งการจัดการแรงงานในลักษณะนี้เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยได้เนื่องจากการเดินทางเข้ามาทำงานทั้ง 2 ประเภทนั้น จะต้องมีการลงทะเบียนทำให้หน่วยงานต่างๆ รับทราบข้อมูลทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียน

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณให้กับสถานประกอบกิจการที่ปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานไทย 7 ปีขึ้นไป จำนวน 21 แห่ง 5 ปีขึ้นไป จำนวน 77 แห่ง และมอบใบรับรองเพิ่มเติมจำนวน 18 แห่ง รวมทั้งมีการมอบรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน ประจำปี 2557 จำนวน 715 แห่ง
 
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น