“พล.อ.ไพบูลย์” เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2557
คลิกเพื่อรับชมคลิป...
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่สำนักงาน ป.ป.ส. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ร่วมเป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2557 พร้อม พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส.
พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปีเป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหายาเสพติดรวมทั้ง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิดในการต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว สำหรับประเทศไทย หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดนับตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา
สำหรับปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทูลเกล้าฯ ถวายโล่เกียรติยศเพื่อเทิดพระเกียรติทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี องค์ประธานโครงการ To Be Number One ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเด็ก เยาวชน และพสกนิกรชาวไทยในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศ
นอกจากพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงาน ป.ป.ส. แล้ว ในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดยังได้จัดกิจกรรมต้านยาเสพติดให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน ภายใต้กรอบแนวคิด “สังคมปลอดภัย ชุมชน อุ่นใจ ได้ลูกหลานกลับคืน ร่วมปกป้องลูกหลานให้ห่างไกลยาเสพติด 26 มิถุนายน วันต่อต้านยาเสพติดโลก” ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณฯ ในครั้งนี้ มีบุคคลและองค์กรที่เข้ารับรางวัล รวมทั้งสิ้น 153 ราย แบ่งเป็นระดับยอดเยี่ยมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณฯ และได้รับเงินรางวัลจากกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดรายละ 100,000 บาท รวม 5 ราย ได้แก่ 1) นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก 2) พ.อ.วัชรพงศ์ แก้วแจ้ง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 31 3) พ.ต.อ.เจริญ ศรีศศลักษณ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 4) พ.ท.อดุลย์ จำปาทอง นายทหารสารบรรณกองทัพน้อยที่ 3 5) พ.ต.ท.ประวิทย์ โทหา พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าชุดปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด
ในระดับดีเด่นแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการสกัดกั้นยาเสพติด 2) ด้านการปราบปรามยาเสพติด 3) ด้านการยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด 4) ด้านการพัฒนานโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด 5) ด้านการป้องกันยาเสพติด 6) ด้านการบำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาผู้ติดยาเสพติด 7) ด้านการส่งเสริม สนับสนุน และบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหายาเสพติด มีบุคคลและองค์กรที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณฯ รวม 132 ราย และประเภทเยาวชนและองค์กรเยาวชนดีเด่น ที่ร่วมทำกิจกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง รวม 16 ราย
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ โดยได้มอบหมายให้ตนเข้ามารับผิดชอบกำกับดูแลในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่มีความสลับซับซ้อน ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อบุคคลและสังคมส่วนรวม บ่อนทำลายความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน เร่งรัดการปราบปรามและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้ครบวงจรอย่างมีเอกภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด เพื่อขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากแผ่นดินไทย เป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติที่ต้องรวมพลัง ร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้กับปัญหายาเสพติดอย่างเต็มความสามารถ เพื่อคืนความสุขให้กับสังคมได้ในเวลาอันรวดเร็ว
“ผมรู้สึกยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2557 นี้ และขอชื่นชมบุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลในวันนี้ นับเป็นความโชคดีของประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือ สนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนทั่วไป เชื่อว่าทุกท่านที่ได้รับรางวัลในวันนี้ เป็นผู้ที่มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ขอขอบคุณในความเสียสละของท่าน การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณในวันนี้ จึงเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานต่อไป”
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า ขณะนี้เรามี 3 ขั้นตอนในการดำเนินกานเกี่ยวกับยาเสพติด 1. สกัดกั้น ปราบปราม 2. บำบัด ฟื้นฟู 3. ป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกัน ได้มีการพูดคุยกับกระทรวงมหาดไทยไว้แล้วในเรื่องของการจัดการ ทั้งหมดนั้นต้องเริ่มจากการป้องกันดูแลภายในครอบครัว และภายในท้องถิ่น เพราะการเริ่มต้นมาจากจุดนั้นต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งการประเมินผลในช่วงระยะเวลา 30 วันนั้น ตอนนี้เห็นได้ชัดว่าการทะลักเข้ามาในประเทศของยาเสพติดน้อยลง ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทำงานกันปกติเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ อาจเป็นเพราะว่าทางคณะ คสช.มีความเข้มงวดในเรื่องยาเสพติดมาก อีกเรื่องที่สามารถพิสูจน์เห็นได้ชัดว่ายาเสพติดมาการแพร่ระบาดน้อยลง คือ การที่ยามีราคาสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน แปลว่าจำนวนยาที่ระบาดมีน้อยลง ส่วนในเรื่องของเครือข่ายยาเสพติดในเรือนจำนั้นเจ้าหน้าที่ในเรือนจำก็มีการเข้มงวดมากขึ้น ตนเชื่อว่าทุกคนห่วงใยในเรื่องของยาเสพติดอยู่แล้วทุกรัฐบาล ไม่เพียงแต่ช่วงที่อยู่ภายใต้การดูแลของคณะ คสช.เท่านั้น
พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่าสถิติการยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับยาเสพติดช่วงที่ผ่านมามีมูลค่ามากขึ้น จากเดิมยึดได้ 1,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท และขณะนี้เจ้าหน้าที่มีการรวบรวมบัญชีเฝ้าระวังเพื่อเตรียมที่จะอายัดทั้งหมด 2,000 บัญชี จากผู้ที่มีความเชื่อมโยงกับกระบวนการค้ายาเสพติดกว่า 400 ราย