อดีต รมว.คลัง ค้าน ปตท.ถือหุ้นท่อก๊าซในทะเล 100% เตือนคนอนุมัติเสี่ยงผิดอาญา ชี้ ปตท.วางท่อตามนโยบายรัฐในขณะนั้น ถือว่าทำในฐานะตัวแทน ปชช. จะแปรรูปต้องโอนไปเป็นทรัพย์สินของรัฐ หรือให้ ก.คลังถือหุ้น 100% แทนเสียก่อน และอนาคตหากบริษัทอื่นใดมาร่วมอาศัยใช้ระบบท่อเดิม ต้องจ่ายค่าเช่าให้ รบ. ไม่ใช่ ปตท.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.พ.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “วันนี้ผมได้ฟังเจ้าหน้าที่ ปตท.แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับท่อก๊าซในทะเล ในทีวีอมรินทร์ เขาแจ้งว่า เนื่องจากการวางท่อในทะเล เป็นการวางบนพื้นใต้ทะเล ไม่ได้ขุดฝังลงใต้ผิวดิน ไม่ได้มีการเวนคืน หรือใช้สิทธิพิเศษเหมือนบนฝั่งจึงไม่ถือเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เขาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องโอนให้รัฐ
เรื่องนี้ผมเห็นต่าง การวางท่อในทะเล เป็นการดำเนินการในช่วงเวลาที่ ปตท.เป็นของรัฐ 100% ปตท.จึงดำเนินการในฐานะเป็นตัวแทนของประเทศไทย
ปตท.ไม่ต้องแข่งขันกับใครเลยครับ ผูกขาดอยู่รายเดียว โดยประชาชนเห็นด้วย และให้กำลังใจเต็มที่
ท่อดังกล่าวก็มิได้เดินไปที่โรงแยกก๊าซ หรือโรงไฟฟ้าเอกชนอื่นใดเสียด้วย แต่เป็นการเดินท่อไปยังเฉพาะโรงของ ปตท. การเดินท่อทั้งบนบกและในทะเลจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาพลังงานของประเทศ ซึ่ง ปตท.ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของประชาชนในการทำงานดังกล่าว
และเมื่อ ปตท.ไม่ได้เปิดให้บุคคลอื่นใดเข้ามาวางท่อต่อเชื่อมเข้ามาที่โรงแยกก๊าซ และโรงไฟฟ้าของ ปตท. ระบบท่อทั้งบนบกและในทะเลดังกล่าวจึงมีสภาพผูกขาดโดยปริยาย
ดังนั้น เมื่อมีการแปรรูป จึงควรจะแยกโอนระบบท่อทั้งบนบก และในทะเล ออกมาจาก ปตท.เสียก่อน
เพราะในอนาคต เมื่อมีการขุดเจาะเพิ่มโดยบริษัทอื่นใด ไม่ว่าในพื้นที่ของไทย หรือพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา กรณีจะขายให้ประเทศไทย ก็จะต้องเดินท่อสาขากิ่งก้าน มาเขื่อมกับระบบท่อเดิมในทะเล
บริษัทอื่นใดที่มาร่วมอาศัยใช้ระบบท่อเดิม ก็จะต้องจ่ายค่าเช่า
ผู้ที่ควรจะได้รับค่าเช่านั้น จึงจะต้องเป็นรัฐบาลไทย ไม่ใช่ ปตท.
ดังนั้น การที่มีข่าวว่ากระทรวงพลังงานกำหนดเป็นนโยบายให้โอนท่อในทะเลออกจาก ปตท ไปอยู่ในบริษัทตั้งใหม่แต่ให้ ปตท.ถือหุ้น 100% โดยกระทรวงการคลังอาจจะเข้าไปถือ 25% ภายหลัง
ผมเห็นว่าไม่ถูกต้อง
เพราะถึงแม้ไม่ได้ใช้อำนาจทางกฎหมายใดเป็นการเฉพาะ แต่การวางระบบท่อในทะเล เป็นสิ่งที่ ปตท.ดำเนินการในฐานะเป็นตัวแทนประชาชนชาวไทย เป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลขณะนั้น ซึ่ง ปตท.เป็นมือเป็นไม้ของรัฐบาลเต็มที่
ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าการกำหนดให้ ปตท.ถือหุ้น 100% จึงน่าจะเข้าข่ายทำให้รัฐเสียหาย ผู้ที่อนุมัติน่าจะมีความผิดอาญาแผ่นดินควรกำหนดเป็นนโยบาย ให้โอนท่อในทะเล ออกไปเป็นทรัพย์สินของรัฐ หรือให้กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% แทน
พร้อมทั้งรัฐควรจะชดเชยเงินที่ ปตท.ใช้ไปเต็มจำนวน บวกค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่เกิดขึ้นจริงแต่ก็ต้องให้ ปตท.จ่ายค่าเข่าแก่รัฐย้อนหลังด้วย ท่อก๊าซในทะเล เป็นของประชาชนชาวไทยทุกคน ทั้งในปัจจุบัน และลูกหลานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เจ้าหน้าที่ ปตท.อาจจะไม่เข้าใจว่าสิ่งใดเป็นการดำเนินการแทนคนไทยทั้งชาติ
แต่ข้าราชการกระทรวงพลังงาน จะอ้างว่าไม่เข้าใจไม่ได้”