xs
xsm
sm
md
lg

“คมสัน” แนะชงศาลปกครองวินิจฉัยใหม่ ปมคืนท่อก๊าซไม่ครบ บี้ผู้ตรวจฯ ฟ้อง คสช.บ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(แฟ้มภาพ)
อาจารย์ มสธ.แนะ คสช.ตั้งหลักปมคืนท่อก๊าซไม่ครบ หลังผู้ตรวจฯ ฟันธงทำผิดมติ ครม. จี้เรียกหน่วยเกี่ยวข้องแจง แทนถามกฤษฎีกา เสนอผู้ตรวจฯ ส่งศาลปกครองวินิจฉัยใหม่ เหตุคำสั่งรับรองคืนทรัพย์สินเกษียณโดยตุลาการคนเดียว ขัดระเบียบศาลฯ ย้อน “ผาณิต” ไม่ฟ้อง คสช.เหตุไม่ดำเนินการภายใน 30 วันบ้าง โวย คนพูดความจริงถูกปิดปาก

วันนี้ (17 ก.ย.) นายคมสัน โพธิ์คง นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวถึงความเห็นผู้ตรวจการแผ่นดินเกี่ยวกับกรณีการคืนระบบท่อก๊าซไม่ครบโดยเสนอให้ทาง คสช.ทบทวนในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนกระทรวงการคลังให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในปี 2550 ว่า ตนรู้สึกแปลกใจที่ คสช.มีหนังสือไปถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อให้ส่งเรื่องไปถามความเห็นกฤษฎีกา เพราะเรื่องนี้กฤษฎีกาเคยระบุว่าไม่สามารถให้ความเห็นได้เนื่องจากมีการรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินโดยศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว ดังนั้น การส่งเรื่องไปถามกฤษฎีกาในประเด็นเดิมย่อมได้คำตอบที่ไม่แตกต่างจากเดิม จึงอยากให้ คสช.ตั้งหลักในเรื่องนี้ใหม่ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นพิสูจน์ว่า คสช.มีความตั้งใจที่จะปฏิรูปพลังงานเพื่อให้มีการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรมต่อคนทั้งชาติอย่างไร

“กรณีการคืนระบบท่อก๊าซไม่ครบนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ชัดเจนว่ามีปัญหาในขั้นตอนการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ไม่เป็นไปตามมติ ครม. 18 ธ.ค.50 เพราะ สตง.ไม่ได้รับรองและตรวจสอบความถูกต้อง แต่ ปตท.กลับนำเรื่องที่ไม่เป็นไปตามมติ ครม.ไปรายงานต่อศาลปกครองสูงสุดให้รับรองการแบ่งแยกทรัพย์สิน ถือเป็นการรายงานเท็จต่อศาลปกครอง ถ้ารัฐบาลและคสช.ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาต้องเรียกกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ ปตท.มาชี้แจงว่าทำไมจึงไม่ให้ สตง.ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ก่อนที่จะไปรายงานต่อศาลฯ ไม่ใช่แค่ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาทำความเห็นทางกฎหมายมาเท่านั้น” นายคมสันกล่าว

นายคมสันกล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรจะนำเรื่องการเกษียณหนังสือของตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพียงท่านเดียวที่รับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินมาพิจารณาว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการรื้อคดีใหม่ได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 54 บัญญัติไว้ว่า การพิจารณาคดีต้องทำเป็นองค์คณะ โดยศาลปกครองสูงสุดจะมีองค์คณะ 5 คน แต่การรับรองการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ ปตท.คืนให้กระทรวงการคลังนั้นกลับเป็นการเกษียณหนังสือของตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพียงแค่คนเดียว ซึ่งขัดต่อระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยองค์คณะ การจ่ายสำนวน การโอนคดี การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการในคดีปกครอง การคัดค้านตุลาการศาลปกครอง การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานคดีปกครอง และการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทน พ.ศ. 2544 ข้อ10 ที่บัญญัติว่า ให้ตุลาการศาลปกครองซึ่งได้รับมอบหมายจากองค์คณะมีอำนาจไต่สวนหรือมีคำสั่งในเรื่องที่มิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ ซึ่งในกรณีการรับรองการแบ่งแยกทรัพย์สินที่มีตุลาการศาลปกครองสูงสุดเกษียณหนังสือเพียงคนเดียวแต่เป็นการชี้ขาดคดีว่ามีการบังคับคดีครบถ้วนแล้วจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบในข้อนี้

“ผมไม่ตั้งความหวังว่า คสช.จะทำตามความเห็นผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเรื่องกองทุนน้ำมันที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอความเห็นไปว่าผิดกฎหมายก็ยังไม่ทำหน้าที่แก้ไขให้เกิดความถูกต้อง จึงเห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินควรจะประชุมเพื่อมีมติในการยื่นฟ้องเองซึ่งสามารถทำได้ตามอำนาจหน้าที่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 14 (2) เพราะถือว่าคำสั่งที่รับรองว่าการคืนระบบท่อก๊าซถูกต้องแล้วนั้นมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสามารถยื่นให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยได้” นายคมสันกล่าว

นายคมสันกล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการด้านพลังงานของ คสช.ยังไม่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน มีคำถามหลายเรื่องที่ไม่ได้รับคำตอบ จึงอยากให้ทำความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องท่อก๊าซในทะเลเพราะจะเป็นตัวบอกว่าประเทศไทยมีพลังงานมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากคนไทยไม่มีทางทราบปริมาณที่แท้จริง นอกจาก ปตท.ที่พูดทุกวันว่าก๊าซจะหมด การทำระบบท่อก๊าซให้ชัดเจนจะให้คำตอบได้ทั้งเรื่องก๊าซและน้ำมันที่เป็นทรัพยากรของประเทศด้วย ซึ่งตามกฎหมายการปิโตรเลียมฯระบุความหมายเรื่องท่อในทะเลว่าหมายถึงโรงแยกก๊าซด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับปริมาณก๊าซที่ขุดเจาะได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมระบบท่อก๊าซต้องเป็นของรัฐเพราะจะทำให้เรารู้ว่าก๊าซเหล่านี้เข้าโรงแยกหรือลงเรือไปขายต่างประเทศ หรือถูกส่งไปปิโตรเคมี ซึ่งเป็นการปล้นทรัพยากรประเทศโดยที่คนไทยไม่รู้ตัว ถ้า คสช.ต้องการให้เกิดความชัดเจนก็ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงพลังงานทั้งระบบโดยคนที่เป็นกลางไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามารับผิดชอบ

“ตอนนี้เรามีปัญหาว่าข้าราชการระดับสูงมีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะเป็นบอร์ด ปตท.ด้วย แม้แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีหลายคนที่รับตำแหน่งอยู่ในบอร์ดของ ปตท.ทำให้ความเห็นกฤษฎีกาไม่ได้รับความเชื่อถือ และขอถามไปยังนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาส ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยว่า กรณีกองทุนน้ำมันขัดกฎหมายนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติในที่ประชุมให้เสนอความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้ดำเนินการภายในสามสิบวัน แต่คสช.รับเรื่องแล้วไม่ดำเนินการจนล่วงเลยเวลาสามสิบวันที่กำหนดไปแล้ว เหตุใดผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่ส่งฟ้องในเรื่องนี้ ตอนนี้เรื่องเงียบก็ต้องถามว่าทำไมนางผาณิตยังเงียบอยู่” นายคมสันกล่าว

นายคมสันกล่าวด้วยว่า เรื่องพลังงานมีความสลับซับซ้อนการให้ความจริงที่ถูกต้องกับประชาชนเป็นสิ่งจำเป็น แต่คนที่ออกมาพูดความจริงก็จะถูก ปตท.และบุคคลที่เกี่ยวข้องฟ้องเพื่อปิดปาก โดยในส่วนของตนก็ถูกนางผาณิต ฟ้องหมิ่นประมาทและการนำความลับของผู้ตรวจการแผ่นดินมาเปิดเผย หลังจากที่ให้ข้อมูลกับสาธารณะว่า นางผาณิต นำเรื่องกองทุนน้ำมันผิดกฎหมายไปดองไว้นานถึง 7 เดือน ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์กว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในวันที่ 23 กันยายนนี้ จะไปที่สน.ชนะสงครามเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งตนพร้อมสู้คดีและยินดีที่มีการฟ้องเพราะจะได้เปิดเผยความจริงต่อศาลและสาธารณะได้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น