xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนวันสังหาร พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม บนสมรภูมิคอกวัว 10 เมษา 53 (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ภายหลังผ่านพ้นไปถึง 4 ปี ในเหตุการณ์กลุ่มคนเสื้อแดง ปะทะกับทหาร ที่บริเวณ ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ล่าสุด ตำรวจภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่นำโดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็สามารถจับกุมผู้ต้องหาที่ก่อเหตุใช้อาวุธสงครามยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือที่รู้จักกันในนามชายชุดดำ จนเป็นเหตุให้มีนายทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก ซึ่งจับได้ทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย นายกิตติศักดิ์ หรือ อ้วน สุ่มศรี ชาวกรุงเทพฯ, นายปรีชา หรือ ไก่เตี้ย อยู่เย็น ชาวเชียงใหม่, นายรณฤทธิ์ หรือ นะ สุริชา ชาวอุบลราชธานี, นายชำนาญ หรือ เล็ก ภาคีฉาย ชาวกรุงเทพฯ และ นางปุณิกา หรือ อร ชาวกรุงเทพฯ ส่วนที่อยู่ระหว่างหลบหนี 2 คน คือ นายธนเดช เอกอภิวัชร์ หรือ ไก่รถตู้ ชาวกรุงเทพฯ และ นายวัฒนะโชค หรือ โบ้ จีนปุ้ย ชาวเพชรบูรณ์



ทีมข่าวจึงได้ขอย้อนรอยถึงเหตุการณ์ดังกล่าวให้ได้หวนรำลึกถึงอีกครั้ง โดยอ้างอิงจากรายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยกลุ่มคนเสื้อแดงได้เริ่มชุมนุมในวันที่ 12 มีนาคม 2553 ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตพระนคร มีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภา ซึ่งในช่วงเวลานั้นรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ทำการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แล้ว และต่อมาแกนนำบางส่วนได้นำผู้ชุมนุมไปปิดล้อมและสร้างสถานการณ์ อาทิ เทเลือดที่พรรคประชาธิปัตย์ และทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มี.ค. ขับไล่เจ้าหน้าที่ทหารในวัดตรีทศเทพวรวิหาร วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร วัดแคนางเลิ้ง วัดโสมนัสราชวรวิหาร สนามม้านางเลิ้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร สวนสัตว์ดุสิต เมื่อวันที่ 17 มี.ค.

ต่อมาในวันที่ 3 เม.ย. นปช. เริ่มขยายพื้นที่การชุมนุมไปตั้งเวทีบริเวณสี่แยก ราชประสงค์ โดยปิดการจราจรบริเวณสี่แยกราชประสงค์ สี่แยกประตูน้ำ สี่แยกชิดลม สี่แยกเฉลิมเผ่า และสี่แยกราชดำริ วันที่ 5 เม.ย. แกนนำบางส่วนนำผู้ชุมนุมปิดล้อมอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อทวงถามคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง และได้ขยายพื้นที่การชุมนุมมากขึ้น วันที่ 7 เม.ย. ได้ไปสถานีดาวเทียมไทยคม และปิดล้อมพร้อมบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา มีการยึดอาวุธและทำร้ายสารวัตรทหารจนได้รับบาดเจ็บ พร้อมประกาศจับตัวนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และให้การ์ด นปช. เข้าไปค้นในรัฐสภา หลังจากก่อนที่จะล่าถอยออกไป เมื่อทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย เข้าไปเจรจา ขณะที่รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล ได้หลบออกจากอาคารรัฐสภา ทางด้านพระที่นั่งพิมานเมฆ และต่อมา นายอภิสิทธิ์ ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.

ขณะที่สถานการณ์วันที่ 10 เม.ย. นั้น เวลาประมาณ 12.00 น. แกนนำ นปช. ได้ปราศรัยที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เตือนผู้ชุมนุมว่า ทหารจะสลายการชุมนุม ขณะที่ทางทหารก็ได้รับคำสั่งให้เปิดเส้นทางการจราจร (ขอคืนพื้นที่) จากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่จะมุ่งหน้าสู่สะพานพระราม 8 และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยมีกองทัพภาคที่ 1 ,กองพลที่ 1 รักษาพระองค์, มณฑลทหารบกที่ 11, กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์, หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก, กองพล ทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์, หน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพบก และหน่วยบินเฉพาะกิจ ศอฉ. ปฏิบัติภารกิจ

ต่อมาเวลา 13.10 น. ผู้ชุมนุมประมาณ 500 คน นำโดย นายขวัญชัย ไพรพนา ได้เดินทางไปที่กองทัพภาคที่ 1 เพื่อเรียกร้องไม่ให้เจ้าหน้าที่ทหารนำกำลังออกมาสลายการชุมนุม พร้อมพยายามปีนกำแพงและขว้างปาสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่ทหาร และอาคารสถานที่ของกองทัพภาค ที่ 1 ทางทหารได้แจ้งเตือนด้วยเครื่องขยายเสียงให้ยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่กลุ่ม นปช. ไม่ยุติการกระทำ และยังคงปีนกำแพงและขว้างปาสิ่งของใส่ทหาร และอาคารสถานที่ของกองทัพภาค ที่ 1 อย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่ทหาร จึงได้ฉีดน้ำ  ยิงแก๊สน้ำตา และกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม จนกระทั่งทหารสามารถเคลื่อนกำลังไปตามถนนราชดำเนินนอก และเกิดการปะทะกับผู้ชุมนุม จนกลุ่มผู้ชุมนุมถอยไปจนถึงบริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ และเกิดการปะทะกับ ทหารอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รุนแรง

ต่อมาเวลา 14.00 - 16.00 น. ได้เกิดการปะทะกันระหว่างทหาร กับกลุ่ม นปช. บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์และสะพานชมัยมรุเชฐ ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับบาดเจ็บ ประมาณ 100 คน จนกระทั่งเวลา 18.00 น. กลุ่ม นปช. ได้ผลักดันทหารให้ถอยร่นจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไปถึงแยกมิสกวัน ส่วนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่ม นปช. จำนวนมาก พยายามผลักดันทหารให้ถอยไปยังสะพานเฉลิมวันชาติ โดยใช้เด็ก สตรี พระสงฆ์ และผู้ร่วมชุมนุมทั่วไปอยู่ในแถวแรก แต่เมื่อมีการผลักดันกันประมาณ 10 นาที จึงให้กลุ่มชายฉกรรจ์ขยับขึ้นมาด้านหน้าพร้อมด้วยอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธ เช่น ไม้ปลายแหลม ระเบิดเพลิง ประทัดยักษ์ ก้อนอิฐ หนังสติ๊กที่ใช้นอตเป็นกระสุน เป็นต้น รวมทั้งใช้กำลังทำร้ายทหารจนได้รับบาดเจ็บ ต่อมา มีเสียงระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง พร้อมทั้งมีการปาระเบิดควัน รวมทั้ง นปช. ก็ได้แย่งอาวุธปืนไปจากทหารด้วย

จนกระทั่งเวลาประมาณ 18.00 น. สถานการณ์มีความรุนแรงและตึงเครียด ทหารได้ทิ้งแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ใส่ผู้ชุมนุมเป็นระยะ และมีการปะทะหลายจุด เช่น บริเวณสี่แยกคอกวัว หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่อมาเวลาประมาณ 19.00 น. สถานการณ์บริเวณสี่แยกคอกวัวรุนแรงขึ้น ทหารเจรจาขอพื้นที่คืนแต่ไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมด่าทอทหาร และขว้างปาสิ่งของใส่ พร้อมปรากฏชายชุดดำติดอาวุธปะปนอยู่กับกลุ่ม นปช. และมีชายชุดดำซุ่มอยู่บนอาคารบริเวณนั้นด้วย โดยไม่สามารถยืนยันว่าเป็นฝ่ายใด มีการกลิ้งถังแก๊สปิกนิกใส่ทหาร หลังจากนั้น ทหารได้รับคำสั่งให้เปิดเส้นทางการจราจร โดยโยนแก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมบางรายได้โยนแก๊สน้ำตากลับไปใส่ทหาร จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะของทั้งสองฝ่าย

เวลาประมาณ 19.30 น. ทหารที่ประจำอยู่บริเวณถนนตะนาว สี่แยกคอกวัว ถูกยิงด้วยลูกระเบิดเอ็ม 79 จำนวนหลายลูกจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากและถอนกำลังออกจากพื้นที่ ซึ่งขณะนั้น ผู้บังคับบัญชาได้เรียกผู้บังคับหน่วยเข้าร่วมประชุมบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ระหว่างการประชุมปรากฏว่า มีแสงเลเซอร์ชี้เป้ามายังจุดที่ผู้บังคับบัญชากำลังประชุมกัน หลังจากนั้น มีระเบิด จำนวน 1 ลูก ตกลงบริเวณที่ประชุมนายทหาร ทำให้ทหารเสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ พันเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และ สิบโท ภูริวัฒน์ ประพันธ์ นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก จำนวนมาก ได้แก่ พลตรี วลิต โรจนภักดี (ผบ.พล.ร.2 รอ.) พันโท เกียรติศักดิ์ นันทโพธิ์เดช พันเอก ประวิตร ฉายะบุตร พันเอก สิงห์ทอง หมีทอง พันเอก สันติพงษ์ ธรรมปิยะ พันเอกดนัย บุญตัน และพันเอก ธรรมนูญ วิถี

จากนั้น กลุ่มชายฉกรรจ์หลายร้อยคนได้ใช้อาวุธทำร้ายทหารที่อยู่แถวหน้า ทหารได้ถอนกำลัง และก็ถูกชายฉกรรจ์รุกไล่ติดตาม ทหารบางรายถูกรุมทำร้าย และ ถูกควบคุมตัวไปพร้อมยึดอาวุธ ส่วนทหารที่อยู่ในรถสายพานลำเลียงพลถูกยิงได้รับบาดเจ็บและถูกทำร้าย ผู้ชุมนุมได้ยึดทำลายอาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ บนรถสายพานลำเลียงพล ต่อมาทหารได้เจรจากับผู้ชุมนุม เพื่อขอนำผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะและนำรถสายพานลำเลียงพลออกจากจุดที่เกิดเหตุ ระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเพื่อนำตัวส่งโรงพยาบาล ปรากฏว่า มีกลุ่มชายฉกรรจ์เข้าขัดขวางและนำตัวทหารที่ได้รับบาดเจ็บไปทำร้าย แต่มีกลุ่ม นปช. ด้วยกันเข้าไปห้ามและสามารถนำตัวทหารที่ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลได้ ต่อมาทหารได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับที่ตั้ง ในขณะเดียวกันนั้น มีศพของผู้เสียชีวิต จำนวน 4 ราย ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นฝ่ายใด และผู้ใดเป็นผู้กระทำ  ถูกกลุ่ม นปช. นำไปรวม ที่เวทีปราศรัยสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งเหตุการณ์สงบลงเวลาประมาณ 21.00 น.

ทั้งนี้ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ได้รวบรวมข้อมูลจากเหตุการณ์นี้มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 863 คน เป็นพลเรือน 519 คน ทหารและตำรวจ 344 คน และผู้เสียชีวิต จำนวน 27 คน เป็นพลเรือน 22 คน ทหารและตำรวจ 5 คน รวมผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งหมด 890 คน

ทั้งนี้ พล.อ.ร่มเกล้า เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 นักเรียนนายร้อย จปร. รุ่น 36 ก่อนมาดำรงตำแหน่งที่ พล.ร.2 รอ. เป็น ผบ.ฉก.35 ดำเนินการด้านยุทธศาสตร์ในพื้นที่ อ.สุคิริน และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เป็นเวลากว่า 6 เดือน โดยปฏิบัติการเดินเท้า เข้าทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังเข้าดำรงตำแหน่งรอง เสธ.พล.ร.2 รอ. ได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญ คือ การเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อเดือน เม.ย. 2552 โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ แต่ภายหลังถูกฝ่ายตรงข้ามปลุกปั่นว่า ทหารฆ่าประชาชน จน พล.อ.ร่มเกล้า ต้องเดินสายชี้แจงอธิบายการทำงานของทหารตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนได้รับฉายาจากฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะนายจักรภพ เพ็ญแข เป็น “เสธ.พาวเวอร์พอยต์”

พล.อ.ร่มเกล้า เคยเป็นผู้แทนของกองทัพบกให้ข้อมูลเรื่องการสลายการชุมนุม ต่อคณะอนุกรรมการรวบรวมเหตุการณ์บริเวณแยกดินแดง ในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุสลายการชุมนุมของรัฐสภา โดยยืนยันว่า ไม่มีพวกแดงเทียม และกลุ่มมือที่สามในการปฏิบัติการ พร้อมแสดงพยานหลักฐาน จนทำให้อนุกรรมการเชื่อว่าการปฏิบัติหน้าที่ได้ทำอย่างถูกต้องตามหลักสากล ซึ่งก็ทำให้ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ และ นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในขณะนั้น ถึงกับแสดงอาการไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ พ.อ.พีระพล ปกป้อง ผอ.กองอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้เปิดเผยผลการชันสูตรว่า พล.อ.ร่มเกล้า มีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณศีรษะและลำตัวลักษณะถูกยิงหลายนัด อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มายังศาลา 3 สุวรรณวนิชกิจ วัดเทพศิรินทราวาส ในการวางพวงมาลา และพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พล.อ.ร่มเกล้า ด้วย โดย นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาได้เปิดเผยว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีรับสั่งแสดงความเสียใจต่อครอบครัว ถือเป็นการสูญเสียนายทหารที่ดี และมีความตั้งใจทำหน้าที่ปกป้องบ้านเมืองตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการด้วยความจงรักภักดี

ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว นางนิชา ได้พยายามเข้าทำการร้องทุกข์เพื่อให้หน่วยงานด้านยุติธรรมติดตามทวงถามคดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าแต่อย่างใด





กำลังโหลดความคิดเห็น